วัดนครอินทร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดนครอินทร์
แผนที่
ชื่อสามัญวัดนครอินทร์, วัดบางขุนเทียน, วัดใหม่นครอินทร์, วัดใหม่
ที่ตั้งเลขที่ 269 หมู่ที่ 6 ซอยพิบูลสงคราม 13 ถนนพิบูลสงคราม ตำบลสวนใหญ่ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี 11000
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระประธานหลวงพ่อดำ
เจ้าอาวาสพระครูวินัยธรเจริญ ทนฺตจิตฺโต, ดร.
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดนครอินทร์ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลสวนใหญ่ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ 8 ไร่ 3 งาน 76 ตารางวา อาณาเขตด้านทิศเหนือติดต่อกับซอยพิบูลสงคราม 13 ทิศตะวันออกติดต่อกับที่ดินเอกชน ทิศใต้ติดต่อกับคลองบางขุนเทียน และทิศตะวันตกติดต่อกับโรงเรียนนครนนท์วิทยา 3 วัดนครอินทร์

ประวัติ[แก้]

แหล่งข้อมูลบางแหล่งกล่าวว่า นายอินทร์และนางนครเป็นผู้ถวายที่ดินและดำเนินการสร้างวัดนครอินทร์ เดิมวัดนี้มีชื่อว่า วัดบางขุนเทียน เนื่องจากตั้งอยู่ริมคลองบางขุนเทียน ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น วัดใหม่นครอินทร์ (และต่อมาเรียกว่า "วัดนครอินทร์") เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้บริจาคที่ดินให้สร้างวัด[1] ในขณะที่แหล่งข้อมูลบางแหล่งระบุว่า ผู้สร้างวัดนครอินทร์เป็นชาวมอญชื่อมะโดดหรือมะซอนซึ่งเข้ามารับราชการในช่วงต้นสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นนายกองรามัญ กรมอาษาทะมาตย์ กล่าวขานกันว่าเป็นทหารคู่พระทัยอีกคนหนึ่งของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น นายมะโดดได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระยานครอินทร์ แล้วเลื่อนเป็นเจ้าพระยารามจตุรงค์หรือบางแห่งก็เรียกว่าพระยารามัญวงษ์[2]

อย่างไรก็ตาม จากหลักฐานทางโบราณวัตถุ สันนิษฐานกันว่าวัดนครอินทร์น่าจะสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย แรกเริ่มเดิมทีคงเป็นเพียงที่พักสงฆ์ที่ตั้งอยู่ทางฝั่งเหนือของคลองบางขุนเทียน มีหลักฐานที่ยังปรากฏอยู่คือกุฏิสงฆ์และศาลาท่าน้ำริมคลองบางขุนเทียนซึ่งผุพังเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา ยังพบพระพุทธรูปศิลาแลงปางนาคปรกและพระพุทธรูปหินแกะสลักตามแบบสุโขทัยและอยุธยา โดยพระพุทธรูปศิลาแลงปางนาคปรกนั้นในปัจจุบันประดิษฐานอยู่ภายในวิหารด้านข้างอุโบสถ วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2360 เขตวิสุงคามสีมากว้าง 27 เมตร ยาว 41 เมตร และได้ผูกพัทธสีมาเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2370

อาคารเสนาสนะ[แก้]

อุโบสถสร้างเมื่อ พ.ศ. 2376 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ภายในมีพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 80 นิ้ว สูง 130 นิ้ว สร้างเมื่อ พ.ศ. 2376 เล่ากันว่าได้สร้างขึ้นจากองค์เดิมที่เป็นพระพุทธรูปศิลาแลงที่ได้อัญเชิญมาจากกรุงศรีอยุธยาพร้อมกับชาวมอญที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเขตชุมชนตลาดขวัญและตลาดแก้วในสมัยสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ ชาวบ้านเรียกว่า หลวงพ่อดำ ด้วยเหตุที่ครั้งหนึ่งชาวบ้านเผาสวนแล้วไฟเกิดลามมาไหม้ ถึงกระนั้นองค์พระก็ยังคงสมบูรณ์เหมือนเดิมทุกประการ มีเพียงรอยดำอยู่บ้างเท่านั้น

ศาลาการเปรียญสร้างเมื่อ พ.ศ. 2370 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กทรงไทย 2 ชั้น หอสวดมนต์สร้างเมื่อ พ.ศ. 2475 เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ 2 ชั้น กุฏิสงฆ์เป็นอาคารไม้และและอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก วิหารสร้างเมื่อ พ.ศ. 2376 ศาลาบำเพ็ญกุศลสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก[3]

รายนามเจ้าอาวาส[แก้]

  • พระอธิการทับ (พระอุปัชฌาย์)
  • พระอธิการสิงห์
  • พระอธิการสุด
  • พระอธิการแจ้ง
  • พระอธิการสอน
  • อธิการพันธุ์ พ.ศ. 2455–2462
  • พระครูเล็ก ติสฺโส พ.ศ. 2462–2508 (พระอุปัชฌาย์)
  • พระครูนนทไพโรจน์ พ.ศ. 2509–2526 (พระอุปัชฌาย์)
  • พระมหาสุวัฒน์ ทีปสาโร พ.ศ. 2527–2554 (พระอุปัชฌาย์)
  • พระปลัดเจริญ ทนฺตจิตฺโต, ดร. พ.ศ. 2554–ปัจจุบัน

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดนครอินทร์ (พระยานครอินทร์) ต.สวนใหญ่ อ.เมือง นนทบุรี". ทัวร์วัดไทย.
  2. "ตายไปพร้อมกับพระเจ้าตากสิน!! เปิดประวัติ ผู้สร้าง "วัดนครอินทร์" วัดของทหารคู่พระทัย "สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช" (ชมคลิป) !!". tnews.co.th.
  3. "วัดนครอินทร์". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.