คริสตจักรแองลิกันในประเทศไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

คริสตจักรแองลิกันในประเทศไทย คือ คริสตจักรของนิกายแองกลิคันในประเทศไทย ปัจจุบันสังกัดสหกิจคริสเตียนแห่งประเทศไทย

ประวัติ[แก้]

เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 1864 โดยตั้งขึ้นเป็นสถานนมัสการภาคภาษาอังกฤษก่อน โดยใช้ชื่อว่า “Protestant Union Chapel” หรือรู้จักกันในชื่อว่า “โบสถ์อังกฤษ” ซึ่งสถานนมัสการแห่งนี้อยู่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา และที่ดินแห่งนนี้ได้รับการพระราชทานจาก “พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” ปัจจุบันที่ดินแห่งนี้อยู่ในบริเวณของท่าเรือกรุงเทพมหานครใกล้กับสุสานโปรเตสแตนต์ พระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ในการพระราชทานที่ดินผืนนี้ให้คริสต์ศาสนิกชนนิกายโปรเตสแตนต์ ก็เนื่องด้วยพระองค์อยากจะประสานสัมพันธไมตรีอันดีกับราชวงค์อังกฤษ จึงทำให้คริสต์ศาสนิกชนนิกายโปรเตสแตนต์ที่พำนักอยู่ในประเทศไทยได้มีสถานนมัสการ

ที่ผ่านมาในสมัยเริ่มแรกของคริสตจักร มิชชันนารีชาวอเมริกันได้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมานำการนมัสการพระเจ้า ซึ่งบางครั้งมาจากคณะแองกลิคันบ้าง และมาจากคณะเพรสไบทีเรียนบ้าง จนกระทั่งในปี 1892 องค์กรมิชชันนารีได้ส่งอนุสาสกคนแรกมาประจำที่โบสถ์เป็นคนแรก

เดือนกุมภาพันธ์ 1896 ศาสนาจารย์ Labuan Kuching บิชอปแห่งสิงคโปร์ ได้มาเยียมเยียนคริสตจักรที่กรุงเทพฯ และประกอบพิธีศีลกำลัง หลังจากนั้นคริสตจักรก็ได้อยู่ในการดูแลของบิชอปแห่งสิงคโปร์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

สมาชิกที่นมัสการในคริสตจักรเป็นผู้ที่มาจากในหลายประเทศ ดังนั้นใรภูมิหลังด้านความเชื่อจึงมีความเชื่อจากหลายนิกาย

ในวันที่ 7 เมษายน 1904 เนื่องจากในขณะนั้นมีผู้ที่มาร่วมนมัสการมากจนสถานที่ของโบสถ์ไม่สามารถรองรับได้ จึงมีการประชุมคณะกรรมการคริสตจักรและได้ถวายฎีกาแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระองค์ทรงได้พระราชทานพระบรมราชานุญาต รวมถึงได้พระราชทานที่ดินแห่งใหม่ ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 11 ถนนคอนแวนต์ ในปัจจุบัน เพื่อสร้างโบสถ์แห่งใหม่มีชื่อว่า “คริสตจักรไคร้สตเชิช กรุงเทพฯ

การถวายอาคารแห่งใหม่ได้จัดขึ้นในวันที่ 30 เมษายน 1905 และเป็นการเริ่มการนมัสการเป็นครั้งแรกในสถานนมัสการแห่งใหม่นี้ ในการเริ่มแรกของคริสตจักรไคร้สตเชิช เป็นคริสตจักรสำหรับคนต่างชาติที่พูดภาษาอังกฤษ และสำหรับคนต่างชาติทั่วไปที่มีโอกาสมาเยี่ยมประเทศไทย เช่น สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร เจ้าชายชาลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ เจ้าหญิงไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ และนางมาร์กาเรต แทตเชอร์ อดีตนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร

การดำเนินงานในคริสตจักรไคร้สตเชิช ได้ดำเนินงานโดยชาวต่างชาติ และนมัสการโดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นเวลานาน และเนื่องจากวัตถุประสงค์หนึ่งที่ต้องการประกาศข่าวประเสริฐกับคนท้องถิ่น รวมถึงต้องการให้มีการนมัสการในภาษาท้องถิ่น จึงได้เริ่มการนมัสการพระเจ้าเป็นภาษาไทย ในระหว่างปี 1934-1940 โดยใช้หนังสือภาวนา (Prayer Book) ที่แปลโดยศาสนาจารย์นอร์วู้ด (Reverend Norwood) ร่วมกับผู้ช่วยคนไทย แต่ก็มีบางช่วงที่แทบจะไม่มีผู้เชื่อคนไทย อยู่ในที่ประชุมของคริสตจักรไคร้สตเชิชเลย

จากนั้นคณะกรรมการของคริสตจักรได้พยายามที่จะสรรหาผู้รับใช้พระเจ้าที่พูดภาษาไทยได้เพื่อเข้าร่วมในทีมงานพันธกิจคริสตจักร แต่ก็ไม่สามารถที่จะสรรหาผู้รับใช้พระเจ้าที่พูดภาษาไทยได้ จึงส่งผลให้การริเริ่มนมัสการภาคภาษาไทยไม่สำเร็จ

จนกระทั่งปี 1991 เมื่อศาสนาจารย์เจอร์รี่ คู ได้รับการแต่งตั้งจากมุขมณฑลสิงคโปร์ ให้เป็นผู้ช่วยศิษยาภิบาล (Assistant Priest) การประชุมนมัสการภาคภาษาไทยก็ได้เริ่มขึ้นอีกครั้งในเดือนตุลาคม 1991 โดยเริ่มการประชุมครั้งนั้นจาก 7 คน ในห้องประชุมเล็กในคริสตจักรไคร้สตเชิช และได้ขยายออกไปอย่างกว้างขวางจนถึงปัจจุบัน

เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 1994 คริสตจักรไคร้สตเชิช ได้จดทะเบียนสังกัดกับคริสตจักรแองลิกันในประเทศไทย โดยสังกัดกับสหกิจคริสเตียนแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรใหญ่ทางศาสนาคณะโปรเตสแตนท์ และหลังจากนั้นคริสตจักรแองลิกันในประเทศไทยก็ได้ขยายพัธกิจไปยังจังหวัดต่างๆ ของประเทศไทย เช่น อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร และอีกหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นที่ อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

คริสตจักรแองลิกันในประเทศไทยสังกัดอยู่ในสำนักงานมุขมณฑลสิงคโปร์ (Diocese of Singapore) ซึ่งขึ้นกับคริสตจักรภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Province of South East Asia) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแองลิกันสากล

อ้างอิง[แก้]

  • สมาชิกคริสตจักรไคร้สตเชิช กรุงเทพฯ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน “100 ปี ร้อยดวงใจเป็นหนึ่งเดียว” คริสตจักรไคร้สตเชิช กรุงเทพฯ 2005

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]