การแปลสิ่งเร้าผิดเชิงบวก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

การแปลสิ่งเร้าผิดเชิงบวก[1] (อังกฤษ: Positive illusions) เป็นทัศนคติเชิงบวกไม่สมจริง ที่มีต่อตนเองหรือต่อบุคคลที่ใกล้ชิด เป็นการแปลสิ่งเร้าผิดในรูปแบบของการหลอกลวงตนเอง (self-deception) หรือการยกย่องตนเอง (self-enhancement) ที่ทำให้รู้สึกดี ดำรงรักษาความเคารพตน (self-esteem) หรือช่วยกำจัดความไม่สบายใจอย่างน้อยก็ในช่วงเวลาสั้น ๆ มีรูปแบบใหญ่ ๆ 3 อย่างคือ ความเหนือกว่าเทียม (illusory superiority) ความเอนเอียงโดยการมองในแง่ดี (optimism bias) และการแปลสิ่งเร้าผิดว่าควบคุมได้ (illusion of control)[2] ส่วนคำภาษาอังกฤษว่า "positive illusions" เกิดใช้เป็นครั้งแรกในงานปี 1988 ของเทย์เลอร์และบราวน์[2] โดยมีการกล่าวถึงภายหลังว่า "แบบจำลองสุขภาพจิตปี 1988 ของเทย์เลอร์และบราวน์ยืนยันว่า การแปลสิ่งเร้าผิดเชิงบวกบางอย่างแพร่หลายเป็นอย่างสูงในความคิดปกติ และเป็นตัวพยากรณ์ค่าเกณฑ์ที่ปกติสัมพันธ์กับสุขภาพจิตที่ดี"[3]

มีข้อถกเถียงที่ยังไม่ยุติว่า บุคคลแสดงปรากฏการณ์นี้อย่างสม่ำเสมอในขอบเขตแค่ไหน และปรากฏการณ์นี้มีประโยชน์อะไรกับบุคคลเหล่านั้น[2][4][5][6]

ประเภท[แก้]

ในเรื่องความเหนือกว่าเทียม (illusory superiority) บุคคลจะมองตนเองในเชิงบวกมากกว่ามองคนอื่น และมองตนในเชิงลบน้อยกว่าคนอื่นมองตน นอกจากนั้นแล้ว คุณลักษณะที่ดี ๆ ก็จะประเมินว่าเป็นคำกล่าวหมายถึงตน มากกว่าคนโดยเฉลี่ย (คนกลาง ๆ) เทียบกับคุณลักษณะเชิงลบ ที่ประเมินว่าเป็นคำกล่าวถึงตน น้อยกว่าคนโดยเฉลี่ย[7] ต่อต้านความจริงว่า เป็นไปไม่ได้ทางสถิติที่คนทุกคนหรือโดยมาก จะดีกว่าคนโดยเฉลี่ย คือแทนที่จะตระหนักถึงข้อดีและข้อเสียของตนเท่า ๆ กัน คนตระหนักถึงข้อดีของตนเอง แต่ไม่ได้ตระหนักถึงข้อเสีย กล่าวสั้น ๆ ก็คือ คนมักจะเชื่อว่าตนเก่งกว่าที่เป็นจริง ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่พบเกี่ยวกับคุณลักษณะ[8] และความสามารถต่าง ๆ อย่างมากมายกว้างขวาง[9] รวมทั้งความสามารถในการขับรถ[10] ความสามารถในการเลี้ยงลูก[11] ความเป็นผู้นำ ความสามารถในการสอน ค่าทางจริยธรรม และสุขภาพ รวมทั้งในเรื่องความจำ คือคนโดยมากมักจะรู้สึกว่าตนมีความจำดีกว่าเป็นจริง[12]

การแปลสิ่งเร้าผิดว่าควบคุมได้ (illusion of control) เป็นการประเมินเกินจริงเกี่ยวกับความสามารถของตนในการควบคุมสถานการณ์สิ่งแวดล้อม เช่น การทอดลูกเต๋า หรือการโยนเหรียญ[13]

ส่วนความเอนเอียงโดยการมองในแง่ดี (optimism bias) เป็นความโน้มเอียงที่จะประเมินโอกาสประสบเหตุการณ์ดี ๆ เช่น การชอบงานแรกที่ทำ หรือมีลูกที่มีพรสวรรค์ เกินความจริง และประเมินโอกาสประสบเหตุการณ์ร้าย ๆ เช่น การหย่า หรือเกิดโรคเรื้อรัง ต่ำกว่าความจริง และเกิดแม้ในการประเมินเวลาที่ต้องใช้ทำงานต่าง ๆ โดยประเมินต่ำกว่าความจริง

แหล่งเกิด[แก้]

เหมือนกับการรับรู้อื่น ๆ ของมนุษย์ การรับรู้เกี่ยวกับตนเองมักจะมีการแปลสิ่งเร้าผิด แต่การแปลสิ่งเร้าผิดแบบบวก เป็นเรื่องที่เข้าใจว่าเป็นผลปรากฏของการยกย่องตนเอง (self-enhancement) ซึ่งเป็นความต้องการที่จะมองตนเองในเชิงบวกมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้[14] และเป็นหน้าที่หนึ่งของการเพิ่มความเคารพตน (self-esteem) และอาจมีเหตุจากความต้องการที่จะมองตนเองในเชิงบวกดีกว่าคนรอบตัว[15] แต่ว่าความเอนเอียงรับใช้ตนเองเช่นนี้ ดูจะมีแต่ในคนที่มองตัวเองในเชิงบวกเท่านั้น คือ จริง ๆ แล้ว คนที่มองตัวเองในเชิงลบแสดงปรากฏการณ์นัยตรงกันข้าม[16] งานวิจัยบอกเป็นนัยว่า กรรมพันธุ์อาจจะมีส่วนให้เกิดการแปลสิ่งเร้าผิดเชิงบวก[17] สิ่งแวดล้อมในเบื้องต้นของชีวิตก็มีบทบาทสำคัญด้วย คนมักจะพัฒนาความเชื่อเชิงบวกเหล่านี้ได้ดีกว่า ในครอบครัวสิ่งแวดล้อมที่ให้ความอบอุ่น[ต้องการอ้างอิง]

มีคำอธิบายอื่นเกี่ยวกับปรากฏการณ์เช่นนี้ (นอกจากที่ว่า เป็นการแปลสิ่งเร้าผิดเชิงบวก) เช่น ความยากง่าย หรือความสามัญของงานที่ให้เพื่อการทดสอบ นอกจากนั้นแล้ว งานที่เปลี่ยนความใส่ใจจากตนเองไปยังเป้าหมายเปรียบเทียบอื่น จะหยุดคนไม่ให้คิดในเชิงบวกมากเกินความจริง[18]

วัฒนธรรมก็มีบทบาทสำคัญต่อการแปลสิ่งเร้าผิดเชิงบวก แม้ว่าจะง่ายที่จะแสดงปรากฏการณ์นี้กับวัฒนธรรมชาวตะวันตกที่เน้นความเป็นตัวของตัวเอง คนในเอเชียตะวันออกที่เน้นการอยู่ร่วมในสังคมมีโอกาสน้อยกว่าที่จะยกย่องตัวเอง และจริง ๆ แล้วมักจะถ่อมตัวเอง[19] มีงานศึกษาที่แสดงหลักฐานว่า บุคคลต่าง ๆ มีระดับการแปลสิ่งเร้าผิดเชิงบวกที่แตกต่างกันอย่างสำคัญ ดังนั้น จะมีคนที่มีความเห็นเชิงบวกอย่างสุด ๆ บางคนก็จะมีแบบอ่อน ๆ บางคนก็แทบจะไม่มี และถ้าตรวจสอบคนทั่วประชากร ปรากฏการณ์นี้ค่อนข้างจะอ่อนโดยทั่ว ๆ ไป[20]

ประโยชน์และโทษ[แก้]

การแปลสิ่งเร้าผิดเชิงบวกอาจจะมีทั้งประโยชน์และโทษต่อบุคคล และยังเป็นเรื่องถกเถียงที่ยังไม่ยุติว่า ปรากฏการณ์นี้เป็นการปรับตัวทางวิวัฒนาการหรือไม่[4] คือปรากฏการณ์นี้อาจจะมีผลดีต่อสุขภาพเพราะช่วยบุคคลให้จัดการความเครียดได้ หรือสนับสนุนให้ทำงานให้สำเร็จ[4] แต่ในด้านตรงกันข้าม การคาดหวังเชิงบวกเกินความจริง อาจขัดขวางไม่ให้ทำการป้องกันที่เหมาะสมกับเรื่องเสี่ยงต่อสุขภาพ[21] งานวิจัยไม่นานนี้จริง ๆ ให้หลักฐานว่า คนที่แปลสิ่งเร้าผิดเชิงบวก อาจจะได้ทั้งประโยชน์ในระยะสั้นและโทษในระยะยาว โดยเฉพาะก็คือ การยกย่องตนเองไม่มีสหสัมพันธ์กับความสำเร็จทางการศึกษา หรืออัตราการจบปริญญาในมหาวิทยาลัย[20]

สุขภาพจิต[แก้]

แบบจำลองจิตวิทยาสังคมของเทย์เลอร์และบราวน์สันนิษฐานว่า ความเชื่อเชิงบวกจะมีผลต่อความเป็นสุขทางจิต คือการประเมินตัวเองในทางบวก แม้กระทั่งไม่สมจริง ก็จะช่วยให้สุขภาพจิตดี ส่วนความเป็นสุขในที่นี้หมายถึงการรู้สึกดีเกี่ยวกับตน การมีความคิดสร้างสรรค์ทำงานได้คล่อง การสร้างความสัมพันธ์ที่น่าพอใจกับผู้อื่น และการจัดการความเครียดได้อย่างมีประสิทธิภาพเมื่อจำเป็น[22] ปรากฏการณ์นี้ มีประโยชน์ช่วยให้บุคคลผ่านเหตุการณ์เครียดหรือเหตุการณ์ที่ก่อความบาดเจ็บทางกายหรือใจ เช่น ความเจ็บป่วยที่เสี่ยงต่อชีวิต หรืออุบัติเหตุรุนแรง คนที่พัฒนาและรักษาความเชื่อเชิงบวกเมื่อเผชิญกับปัญหาสำคัญเหล่านี้ มักจะดำเนินการไปได้ดีกว่า และเครียดน้อยกว่าคนที่ไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น งานวิจัยทางจิตวิทยาแสดงว่า ผู้ที่รอดชีวิตจากโรคมะเร็งแจ้งว่า มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าคนที่ไม่เคยมี[23] กระบวนการเช่นนี้อาจช่วยป้องกันสุขภาพจิต เพราะว่า สามารถที่จะใช้ประสบการณ์แย่ ๆ ปลุกความรู้สึกเกี่ยวกับความหมายและเป้าหมายแห่งชีวิต[24] ซึ่งสัมพันธ์กับแนวคิดเรื่อง psychological resilience (ความยืดหยุ่นทางจิต/การฟื้นคืนตนได้ทางจิต) หรือความสามารถของบุคคลที่จะแก้ไขจัดการสู้กับปัญหาและความเครียด เช่น การยกย่องตน (self-enhancement) สัมพันธ์กับการฟื้นคืนตนได้ในบุคคลที่อยู่ในตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์หรือใกล้ตึกในเหตุการณ์วินาศกรรม 11 กันยายน พ.ศ. 2544[25]

ความเชื่อเชิงบวกบ่อยครั้งช่วยให้ทำงานได้มากกว่าและทนกว่า ซึ่งถ้าไม่เชื่อก็อาจจะเลิกไปกลางคัน[26] คือเมื่อเชื่อว่าตนสามารถทำเป้าหมายที่ยากให้สำเร็จ ความคาดหวังนี้บ่อยครั้งจะช่วยให้เกิดกำลังใจและความกระตือรือร้น มีผลเป็นความก้าวหน้าที่ถ้าไม่เชื่อก็จะเป็นไปไม่ได้ ปรากฏการณ์นี้ อาจจะอ้างได้ว่าเป็นการปรับตัว เพราะช่วยให้คนมีความหวังเมื่อเผชิญกับความเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้[27]

นอกจากนั้นแล้ว การแปลสิ่งเร้าผิดยังเหมือนจะมีความสัมพันธ์กับอารมณ์ที่ดี คือ งานวิจัยแสดงทิศทางว่า การแปลสิ่งเร้าผิดเชิงบวกเป็นเหตุของอารมณ์ที่ดี[28]

แต่งานวิจัยหลังจากนั้นกลับพบว่า การแปลสิ่งเร้าผิดทุกอย่าง จะเชิงบวกหรือเชิงลบก็ดี สัมพันธ์กับอาการซึมเศร้าs[29] และก็มีงานศึกษาอื่น ๆ อีกด้วยที่ปฏิเสธความสัมพันธ์ระหว่างการแปลสิ่งเร้าผิดเชิงบวกกับสุขภาพจิต ความเป็นสุข หรือความพอใจในชีวิต โดยยืนยันว่า การรับรู้ความจริงที่ถูกต้อง เข้ากับความสุขในชีวิต[6][30]

ในงานปี 1992 ที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความเคารพในตน (self-esteem) กับการแปลสิ่งเร้าผิดเชิงบวก นักวิจัยพบกลุ่มคนที่เคารพในตนสูงโดยที่ไม่แปลสิ่งเร้าผิดเชิงบวก และคนเหล่านี้ก็ไม่ได้เศร้าซึม ไม่ได้เป็นโรคประสาท ไม่ได้ปรับตัวเข้ากับชีวิตได้ไม่ดี ไม่ได้ผิดปกติทางบุคลิกภาพ และดังนั้น จึงสรุปว่า การแปลสิ่งเร้าผิดเชิงบวกไม่จำเป็นต่อความเคารพในตน และเมื่อเทียบกับกลุ่มที่มีทั้งการแปลสิ่งเร้าผิดเชิงบวกและความเคารพในตนสูง กลุ่มที่ไม่แปลสิ่งเร้าผิดที่เคารพในตนสูง สามารถวิเคราะห์วิจารณ์ตนเองได้ดีกว่า มีบุคลิกภาพที่เข้ากันดีกว่า และมีระดับ psychoticism ที่ต่ำกว่า[31]

งานวิเคราะห์อภิมานที่วิเคราะห์งานศึกษา 118 งานที่มีผู้ร่วมการทดลอง 7,013 คนพบว่า มีงานศึกษาที่สนับสนุนแนวคิดของสัจนิยมเหตุซึมเศร้า (depressive realism) มากกว่าไม่สนับสนุน แต่งานเหล่านี้มีคุณภาพแย่กว่า ใช้ตัวอย่างที่ไม่ได้เป็นคนไข้ (non-clinical) ทำการอนุมานโดยอุปนัยง่าย ๆ กว่า ให้ผู้ร่วมการทดลองแจ้งผลวัดเองแทนที่จะใช้การสัมภาษณ์ และใช้วิธีการทางความเอนเอียงโดยการใส่ใจ (attentional bias) หรือการประเมินโอกาสที่จะเกิดขึ้น (judgment of contingency) เป็นวิธีวัดค่าสัจนิยมเหตุซึมเศร้า เพราะว่าวิธีการเช่นการระลึกถึงคำวิจารณ์และการประเมินผลงาน ซึ่งเป็นวิธีการที่สามารถใช้วัดได้เหมือนกัน มักจะแสดงผลที่คัดค้านสัจนิยมเหตุซึมเศร้า[32]

สุขภาพกาย[แก้]

นอกจากช่วยให้ปรับตัวทางจิตได้ในสถานการณ์ต่าง ๆ[33] ความสามารถสร้างและรักษาความเชื่อเมื่อเผชิญเหตุร้าย ก็จะมีประโยชน์ต่อสุขภาพด้วย งานวิจัยแสดงว่า ชายที่ติดเชื้อเอชไอวี หรือได้วินิจฉัยว่าเกิดโรคเอดส์แล้ว และประเมินความสามารถควบคุมสภาวะสุขภาพของตนอย่างไม่สมจริงเชิงบวก ใช้เวลานานกว่าที่จะปรากฏอาการต่าง ๆ มีการดำเนินของโรคที่ช้ากว่า และมีผลดีทางใจอื่น ๆ เช่นการยอมรับความจริง[34]

โทษที่เป็นไปได้[แก้]

มีความเสี่ยงที่เป็นไปได้หลายอย่างถ้ามีการแปลสิ่งเร้าผิดเชิงบวกเกี่ยวกับคุณสมบัติของตนและสิ่งที่อาจจะเกิดในอนาคต แรกสุดก็คือ อาจจะตั้งตนให้มีเรื่องแปลกใจแบบไม่น่ายินดีในอนาคตที่ไม่สามารถรับได้ เมื่อความเชื่อเชิงบวกที่ไม่สมจริงไม่ตรงกับความจริง และอาจจะต้องจัดการปัญหาที่ตามมา แต่ว่า งานวิจัยเสนอว่า โดยมากแล้ว ผลลบเช่นนี้ไม่เกิดขึ้น คือ ความเชื่อของคนจะตรงกับความจริงมากกว่าในช่วงต่าง ๆ ที่การยอมรับความจริงจะช่วยตนได้ดี เช่น เมื่อวางแผนในเบื้องต้น หรือเมื่อจะต้องรับผิดชอบหรือได้รับการตอบสนองที่ไม่ดีจากสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้นแล้ว ถึงจะเกิดเหตุการณ์ร้ายหรือความล้มเหลว ก็ไม่ใช่ว่าจะเสียโอกาสทุกอย่างไป เพราะว่าความเชื่อเชิงบวกเกินจริงก็จะช่วยให้ทำการต่อ ๆ ไปได้[35]

ความเสี่ยงที่สองก็คือ คนที่แปลสิ่งเร้าผิดเชิงบวกจะตั้งเป้าหมายหรือดำเนินการที่มีโอกาสจะล้มเหลวมากกว่าสำเร็จ แต่ความเป็นห่วงนี้ดูจะไม่มีหลักฐาน คืองานวิจัยแสดงว่า เมื่อคนกำลังคิดถึงแผนการในอนาคตสำหรับตน เช่น จะรับงานหรือศึกษาต่อในขั้นบัณฑิตศึกษา ความคิดมักจะใกล้กับความจริง แต่ว่า การดำเนินการตามแผนนั้นอาจจะทำด้วยความรู้สึกเชิงบวกมากเกินไป คือ แม้ว่าจะไม่มีอะไรประกันได้ว่า การพยากรณ์ที่สมจริงจะกลายเป็นเรื่องจริงหรือไม่[35] แต่ว่า การเปลี่ยนความคิดแบบสมจริงสมจังเมื่อวางแผน ไปเป็นการมองโลกในแง่ดีเมื่อดำเนินการ อาจจะเป็นพลังช่วยให้ทำงานที่ยากจากต้นจนจบได้สำเร็จ[36]

ปัญหาที่ 3 ก็คือปรากฏการณ์นี้อาจจะมีโทษทางสังคม หลักฐานมาจากงานศึกษาปี 1989 ที่ตรวจดูการประเมินความสามารถที่ยกย่องตนเอง เกี่ยวกับนิยามโดยเฉพาะ ๆ ของคุณลักษณะและความสามารถ[37] ผู้วิจัยเสนอว่า โทษทางสังคมเกิดขึ้นเมื่อบุคคลเห็นความสามารถที่ตนนิยามเท่านั้น ว่าเป็นปัจจัยสำคัญให้ทำงานได้สำเร็จ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อคนไม่รู้ว่า มีนิยามของความสามารถอย่างอื่น ๆ อีกที่เป็นปัจจัยให้ถึงความสำเร็จได้ การประเมินความเป็นสุขของตนในอนาคตจึงจะเกินความจริง

โทษอย่างที่ 4 อาจเกิดขึ้นเมื่อรู้ว่าความเก่งจริงของตนไม่ตรงกับความคิด เพราะว่าสามารถทำลายความมั่นใจ แล้วทำให้ทำการได้แย่ลงในสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น การศึกษาในมหาวิทยาลัยเป็นต้น[20]

ดังนั้น แม้ว่าการแปลสิ่งเร้าผิดเชิงบวกจะมีประโยชน์ในระยะสั้น แต่ก็มาพร้อมกับโทษในระยะยาว นอกจากนั้นแล้ว ยังปรากฏหลักฐานเชื่อมโยงกับความเคารพตนและการอยู่เป็นสุขที่แย่ลง การหลงตัวเอง (narcissism) และความสำเร็จทางการศึกษาที่แย่ลงในนักเรียนนักศึกษา[38]

การแปลสิ่งเร้าผิดเชิงลบ[แก้]

แม้ว่าจะมีงานศึกษาทางวิชาการในเรื่องการแปลสิ่งเร้าผิดเชิงบวกมากกว่า แต่ก็ยังมีการแปลสิ่งเร้าผิดเชิงลบอย่างเป็นระบบที่ปรากฏในสถานการณ์ที่ต่างกันเล็กน้อย[2] ยกตัวอย่างเช่น แม้ว่านักศึกษามหาวิทยาลัยจะบอกว่าตนมีโอกาสที่จะมีชีวิตจนกระทั่งอายุ 70 มากกว่าโดยเฉลี่ย แต่ก็เชื่อว่ามีโอกาสที่จะมีชีวิตอยู่จนถึงอายุ 100 น้อยกว่าโดยเฉลี่ย คนมักจะคิดว่าตนสามารถมากกว่าคนโดยเฉลี่ยในงานที่ง่ายเช่นการขี่จักรยานสองล้อ และคิดว่าสามารถน้อยกว่าคนโดยเฉลี่ยในงานที่ยากเช่นการขี่จักรยานล้อเดียว[39] และปรากฏการณ์หลังนี้เรียกว่า ปรากฏการณ์แย่กว่าโดยเฉลี่ย (Worse-than-average effect)[40] ดังนั้น โดยทั่วไปแล้ว คนมักจะประเมินตัวเองสูงเกินจริง เมื่อตัวเองอยู่ในระดับสูงจริง ๆ และมักจะประเมินตนเองต่ำเกินจริง เมื่อตัวเองอยู่ในระดับต่ำจริง ๆ[2]

การบรรเทา[แก้]

ทฤษฎีสัจนิยมเหตุซึมเศร้า (depressive realism) เสนอว่า คนซึมเศร้ามองตนเองและโลกอย่างเป็นจริงมากกว่าคนมีสุขภาพจิตดี ธรรมชาติของความซึมเศร้าดูเหมือนจะมีบทบาทในการลดการแปลสิ่งเร้าผิดเชิงบวก ยกตัวอย่างเช่น คนที่เคารพตนน้อย หรือซึมเศร้าเล็กน้อย หรือว่าทั้งสองอย่าง จะมองตัวเองอย่างสมดุลกว่า[41] และโดยนัยเดียวกัน คนซึมเศร้าเล็กน้อย จะไม่ค่อยประเมินความสามารถควบคุมเหตุการณ์เกินความเป็นจริง[42] และไม่ประเมินเหตุการณ์ข้างหน้าอย่างเอนเอียง[43] แต่ว่า สิ่งที่ค้นพบเหล่านี้ อาจจะไม่ใช่เพราะว่าคนซึมเศร้าแปลสิ่งเร้าผิดน้อยกว่าคนอื่น มีงานศึกษาเช่นงานในปี 1989 ที่แสดงว่าคนซึมเศร้าเชื่อว่าตนไม่สามารถควบคุมเหตุการณ์ได้ แม้ว่าจริง ๆ จะสามารถ ดังนั้น การมองเห็นความเป็นจริงจึงไม่ได้ดีกว่าโดยทั่วไป[44]

งานวิจัยในปี 2007 เสนอว่า คนซึมเศร้าเอนเอียงมองโลกในแง่ร้าย ซึ่งมีผลเป็น "สัจนิยมเหตุซึมเศร้า" และจึงประเมินความจริงได้ในกรณีที่ไม่สามารถควบคุมเหตุการณ์ได้[45] งานวิจัยในปี 2005 และ 2007 พบว่า การประเมินเกินความจริงของคนที่ไม่ซึมเศร้า จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีเวลาระหว่างการแสดงเหตุการณ์กับการประเมินผลนานเพียงพอ ซึ่งบอกเป็นนัยว่า เป็นอย่างนี้เพราะว่าบุคคลปกติจะรวมเอาข้อมูลของเหตุการณ์ด้านอื่น ๆ เข้าในการพิจารณาด้วยโดยไม่เหมือนกับคนซึมเศร้า คือคนซึมเศร้าไม่สามารถประมวลข้อมูลได้เหมือนกับคนปกติ[46]

มีสมมติฐาน 2 อย่างในวรรณกรรมเรื่องการป้องกันปัญหาของการแปลสิ่งเร้าผิดเชิงบวก คือ

  1. ให้ลดระดับลงจนถึงขั้นที่ไม่มีผลลบแต่ได้รับผลบวก[47]
  2. เนื่องจากการดูสถานการณ์บวกเกินจริงไม่มีในขั้นการพยามยามเพื่อตัดสินใจ แต่มีเมื่อลงมือทำ ดังนั้น ก่อนที่จะลงมือทำอะไรที่สำคัญ ควรจะพิจารณาตัดสินใจให้ดีก่อนว่าจะทำได้หรือไม่หรือมีผลลบอย่างไร[48]

นักวิจัยผู้หนึ่งตั้งสมมติฐานว่า การบิดเบือนความจริงเชิงบวกแบบเล็กน้อยอาจจะดีที่สุด เพราะว่า คนที่คิดบิดเบือนในระดับนี้ อาจจะมีสุขภาพจิตดีที่สุด[47]

อ้างอิง[แก้]

  1. "ศัพท์บัญญัติอังกฤษ-ไทย, ไทย-อังกฤษ ฉบับราชบัณฑิตสถาน (คอมพิวเตอร์) รุ่น ๑.๑", ให้ความหมายของ illusion ว่า "การลวงตา, การแปลสิ่งเร้าผิด, มายา, ภาวะลวงตา"
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 Kruger, Chan & Roese 2009.
  3. Taylor & Brown 1994.
  4. 4.0 4.1 4.2 McKay & Dennett 2009.
  5. Colvin & Block 1994.
  6. 6.0 6.1 Birinci & Dirik 2010.
  7. Alicke 1985
  8. Brown 1986
  9. Campbell 1986
  10. Svenson 1981
  11. Wenger & Fowers 2008
  12. Crary 1966.
  13. Fleming & Darley 1989.
  14. Leary 2007
  15. Lewinsohn et al. 1980
  16. Swann et al. 1987
  17. Owens et al. 2007
  18. Eiser, Pahl & Prins 2001
  19. Heine & Hamamura 2007
  20. 20.0 20.1 20.2 Robins & Beer 2001
  21. Dunning, Heath & Suls 2004.
  22. Taylor & Brown 1988.
  23. Taylor 1983.
  24. Taylor et al. 2000.
  25. Bonanno, Rennicke & Dekel 2005.
  26. Greenwald 1980
  27. Janoff-Bulman & Brickman 1982
  28. e.g., McFarland & Ross 1982.
  29. Such as Joiner et al. 2006 or Moore & Fresco 2007.
  30. Such as Fu et al. 2003, Carson et al. 2010 and Boyd-Wilson et al. 2000.
  31. Compton 1992
  32. Moore & Fresco 2007
  33. Taylor et al. 1992
  34. Bower et al. 1998
  35. 35.0 35.1 Armor & Taylor 1998
  36. Taylor & Gollwitzer 1995.
  37. Dunning, Meyerowitz & Holzberg 1989.
  38. Robins & Beer 2001; Yang, Chuang & Chiou 2009; John & Robins 1994.
  39. Kruger 1999 ดังที่อ้างอิงโดย Sedikides & Gregg 2008
  40. Moore 2007
  41. Coyne & Gotlib 1983.
  42. Golin et al. 1979.
  43. Ruehlman, West & Pasahow 1985.
  44. Dykman et al. 1989
  45. Allan et al. 2007
  46. Msetfi et al. 2005
  47. 47.0 47.1 Baumeister 1989
  48. Gollwitzer & Kinney 1989.

แหล่งข้อมูล[แก้]