การคว่ำบาตร (ศาสนาพุทธ)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

การคว่ำบาตรของพระสงฆ์ในพระวินัยปิฎกด้วย (บาลี: นิกฺกุชฺชยกมฺม) มีที่มาจากศัพท์ในจุลวรรค พระวินัยปิฎก ที่กล่าวถึงการที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระสงฆ์สามารถมีมติลงโทษคว่ำบาตรอุบาสกอุบาสิกาได้เพื่อให้มีสติสำนึกผิดในความผิดที่กระทำต่อพระพุทธศาสนา การคว่ำบาตรในทางพระวินัยจึงถือเป็นการตักเตือนด้วยความปรารถนาดี โดยพระสงฆ์สามารถทำการคว่ำบาตรได้เฉพาะกับชาวพุทธเท่านั้นตามข้อกำหนดในพระวินัยปิฎกและตามสภาพที่เป็นจริงในทางปฏิบัติ

ความหมาย[แก้]

คำว่า คว่ำบาตร นั้น มีที่มาจากการที่พระสงฆ์ลงโทษบุคคลผู้มีปรารถนาร้ายต่อพระรัตนตรัยอย่างร้ายแรง ซึ่งมีความผิดอยู่ 8 ประการ[1][2] คือ

  1. ขวนขวายเพื่อมิใช่ลาภแก่สงฆ์
  2. ขวนขวายเพื่อมิใช่ประโยชน์แก่สงฆ์
  3. ขวนขวายเพื่อให้พระอยู่ไม่ได้
  4. ด่าว่าเปรียบเปรยภิกษุทั้งหลาย
  5. ยุยงให้สงฆ์แตกกัน
  6. ตำหนิติเตียนพระพุทธเจ้า
  7. ตำหนิติเตียนพระธรรม
  8. ตำหนิติเตียนพระสงฆ์

ฆราวาสผู้ใดมีพฤติกรรมดังกล่าว พระสงฆ์จะประชุมกันแล้วประกาศไม่ให้ภิกษุทั้งหลายคบค้าสมาคมด้วย การคว่ำบาตรในทางพระวินัยไม่ได้หมายถึงการคว่ำบาตรลง แต่หมายถึงการไม่รับบิณฑบาต ไม่รับนิมนต์ ไม่รับเครื่องใช้ อาหารหวานคาวที่บุคคลผู้นั้นนำมาถวาย[3] แต่หากต่อมาคนผู้นั้นสำนึกรู้สึกตน กลับมาประพฤติดี คณะสงฆ์ก็จะประกาศเลิก “คว่ำบาตร” ยอมให้ภิกษุทั้งหลายคบค้าสมาคมรับบิณฑบาต รับนิมนต์ รับเครื่องถวายไทยธรรมได้ เรียกว่า “หงายบาตร” เป็นสำนวนคู่กัน

ดังนั้นการคว่ำและหงายบาตรจึงถือเป็นการลงโทษทางจารีตแบบหนึ่ง[4] ที่พระสงฆ์ได้นิยมถือปฏิบัติสืบมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล เพื่อประโยชน์ในการตักเตือนและความอยู่โดยปกติสุขระหว่างพระสงฆ์และพุทธศาสนิกชน

อ้างอิง[แก้]

  1. พระไตรปิฎก เล่มที่ ๗ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๗ จุลวรรค ภาค ๒ เรื่องเจ้าวัฑฒะลิจฉวี. พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงข้อมูลได้จาก [1]. เข้าถึงเมื่อ 24 กรกฎาคม 2552
  2. พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๕ อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต ปัตตสูตรที่ ๑. พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงข้อมูลได้จาก [2]. เข้าถึงเมื่อ 24 กรกฎาคม 2552
  3. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต สติวรรคที่ ๔ อรรถกถาปัตตสูตรที่ ๗. อรรถกถาพระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. [ออนไลน์]. เข้าถึงข้อมูลได้จาก [3]. เข้าถึงเมื่อ 24 กรกฎาคม 2552
  4. “เสื้อแดง”แตกคอ “หงายบาตร”-ชี้แก้กรรมไม่ได้. ผู้จัดการ. 23 กรกฎาคม 2552 http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9520000083620. สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎาคม 2552. {{cite web}}: |title= ไม่มีหรือว่างเปล่า (help); ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]

ดูเพิ่ม[แก้]