กบฏหือฉง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กบฏหือฉง
ส่วนหนึ่งของ สงครามยุคสิ้นราชวงศ์ฮั่น

กบฏก่อการในเมืองห้อยเขในพื้นที่ทางตะวันนออกของมณฑลยังจิ๋ว
วันที่ค.ศ. 172–174
สถานที่
เมืองห้อยเข (ไคว่จี) และพื้นที่โดยรอบ มณฑลยังจิ๋ว จักรวรรดิฮั่น
ผล กบฏถูกปราบปราม ราชวงศ์ฮั่นได้รับชัยชนะ
คู่สงคราม
ราชวงศ์ฮั่น รัฐเยฺว่
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
จาง หมิน
เฉิน อิ๋น
อิ่น ตฺวัน
ซุนเกี๋ยน
หือฉง 
สฺวี่ เชิง 
จฺวี คัง 
หน่วยที่เกี่ยวข้อง
กองทัพหลวงของของราชวงศ์ฮั่น รวมถึงกองทหารอาสาท้องถิ่น กองกำลังของลัทธิและชนเผ่า

กบฏหือฉง เป็นการก่อกบฏระหว่างปี ค.ศ. 172 ถึง 174 เมื่อผู้นำลัทธิชื่อหือฉง (สฺวี่ ชาง) ได้ก่อการจลาจลครั้งใหญ่ต่อต้านราชวงศ์ฮั่นของจีนในเมืองห้อยเข (ไคว่จี) หือฉงตั้งตนเองเป็นจักรพรรดิพร้อมกับประกาศฟื้นฟูรัฐเยฺว่โบราณ หือฉงกับผู้ติดตามประสบความสำเร็จในขั้นต้นและยึดได้พื้นที่โดยมากของเมืองห้อยเข ราชสำนักราชวงศ์ฮั่นจึงแต่งตั้งให้จาง หมินเป็นแม่ทัพของกองกำลังท้องถิ่นที่อยู่ฝ่ายราชสำนักและระดมทหารจากทั่วมณฑลยังจิ๋ว (หยางโจว) ในที่สุดเมื่อช่วงปลายปี ค.ศ. 174 พวกกบฏก็ถูกปราบปรามราบคาบ

แหล่งข้อมูลปฐมภูมิ[แก้]

กบฏหือฉงถูกกล่าวถึงในหลายแหล่งข้อมูลปฐมภูมิ ได้แก่ พงศาวดารฮั่นยุคหลัง, จดหมายเหตุสามก๊ก, จือจื้อทงเจี้ยน และ ตงกฺวันฮั่นจี้ แหล่งข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้ให้ข้อมูลโดยละเอียดเกี่ยวกับการกบฏ และมีรายละเอียดที่แตกต่างกันในหลายแง่มุม รวมถึงเรื่องชื่อและตำแหน่งผู้นำกลุ่มกบฏ ความแตกต่างบางอย่างสามารถปรับเข้าหากันได้ โดยชื่อผู้นำกลุ่มบกฏที่เป็นไปได้มากที่สุดคือ "หือฉง" หรือชื่อภาษาจีนกลางว่า "สฺวี่ ชาง" (許昌) เนื่องจากชื่อนี้มีความเกี่ยวข้องกับคำทำนายเกี่ยวกับการเปลี่ยนราชวงศ์ตามที่ระบุในจั่วจฺวั้น[1] ในช่วงปลายศตวรรษที่ 2 หลายคนเชื่อคำทำนายที่อ้างว่าจะมีคนผู้หนึ่งที่มีชื่อหรือมีหรือเกี่ยวข้องกับชื่อ "สฺวี่ชาง" จะเป็นผู้ล้มล้างราชวงศ์ฮั่น นักจีนวิทยาเรฟ เดอ เครสพิกนี[2] แย้งว่าหัวหน้ากบฏอาจอาศัยใช้ชื่อของตนเป็นข้ออ้างในการก่อกบฏ หรือาจจะถึงกับตั้งชื่อตนว่า "สฺวี่ ชาง" (หือฉง) เพื่อให้เข้ากับคำทำนาย[1]

ภูมิหลัง[แก้]

ราชวงศ์ฮั่นของจีนเผชิญกับภาวะยุ่งเหยิงที่ก่อตัวขึ้นในทศวรรษที่ 160 และ 170 เนื่องจากราชสำนักมีการแบ่งแยกเป็นกลุ่มเป็นเหล่าและมีฉ้อราษฎร์บังหลวงเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่อำนาจในระดับภูมิภาคได้รับผลกระทบจากความพ่ายแพ้ในการรบที่ชายแดนทางเหนือ ตลอดจนความตึงเครียดของเหล่าชนชั้นสูงในท้องถิ่นทั่วทั้งจักรวรรดิ แม้จะประสบปัญหาเหล่านี้ จักรวรรดิฮั่นก็ยังคงค่อนข้างมีเสถียรภาพ[1] แม้ว่าขบวนการลัทธิจะเผยแพร่ออกไปยังคนหมู่มากที่แสวงหาความอยู่รอดจากโรคระบาดและความอดอยาก ภูมิภาคบริเวนแม่น้ำแยงซีตอนล่างเป็นหนึ่งในศูนย์กลางของลัทธินอกรีตที่ต่อต้านอุดมการณ์ของรัฐตามคติลัทธิขงจื๊อ ลัทธินอกรีตจำนวนมากให้คำมั่นว่าจะให้การรักษาโรคระบาดและให้ศาสตร์ลึกลับ[1][3] ลัทธิท้องถิ่นหนึ่งนำโดยชายชื่อหือฉง (สฺวี่ ชาง)[1][3] ซึ่งอ้างว่าตนมีพลังเหนือธรรมชาติ[3] ผู้ติดตามของหือฉงอาจเป็นทั้งชาวจีนฮั่นและชาวเผ่าเยฺว่[3]

การก่อกบฏ[แก้]

Black-and-white painting of a man in a robe, wearing a turban, armor, and a sword
ซุนเกี๋ยน (ในภาพ) ขึ้นมามีชื่อเสียงในช่วงการปราบกบฏหือฉง โดยมีตำแหน่งหน้าที่เป็นนายกองพันในทัพที่อยู่ฝ่ายราชสำนัก

หือฉงก่อการจลาจลที่อำเภอโกวจาง (句章縣 โกวจางเซี่ยน; ภายในนครหนิงปัวในปัจจุบัน) ในปี ค.ศ. 172[3] ตั้งตนเองเป็น "พระเจ้ายังเป๋ง" (陽明皇帝 หยางหมิงหฺวังตี้) และแต่งตั้งสฺวี่ เชิง (許生) ผู้บิดาเป็น "อ๋องแห่งเยฺว่" (越王) ฟื้นคืนรัฐเยฺว่โบราณ[1][4] ที่ล่มสลายในศตวรรษที่ 4 หรือ 3 ก่อนคริสตกาล[5][a] จากข้อมูลในแหล่งข้อมูลปฐมภูมิบางส่วน หือฉงมีน้องชายหรือลูกชายชื่อสฺวี่ เจา/สฺวี่ เฉา (許昭/許韶) ที่ได้รับตำแหน่งเช่นกัน แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่าจริง ๆ แล้วสฺวี่ เจา/สฺวี เฉาอาจเป็นอีกชื่อหนึ่งของหือฉง[4] นอกจากตระกูลสฺวี่แล้ว ยังมีหัวหน้าชนเผ่าท้องถิ่นชื่อจฺวี คัง (苴康) ทำหน้าที่เป็นแกนนำกลุ่มกบฏ [4] เชื่อกันว่ากลุ่มกบฏมีแรงจูงใจจากความเชื่อ แม้ว่านักจีนวิทยา Werner Eichhorn คาดการณ์ว่าการกบฏครั้งนี้เป็นกบฏของชาวเยฺว่ที่มีความคิดชาตินิยมก่อกบฏต่อต้านชาวจีนฮั่น ในทางตรงกันข้าม เรฟ เดอ เครสพิกนีมองว่าแรงจูงใจด้านชาตินิยมไม่น่าจะมีความเกี่ยวข้อง[3]

กองกำลังติดอาวุธท้องถิ่นของอิ่น ตฺวัน (尹端) เจ้าเมืองห้อยเขปราบปรามกบฏไม่สำเร็จ[4] ทำให้พวกกบฏรุกเข้ามาในพื้นที่ส่วนใหญ่ของเมืองห้อยเข[4] สมาชิกคนหนึ่งของชนชั้นสูงท้องถิ่นชื่อซุนเกี๋ยน เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับคำสั่งจากราชสำนักให้ระดมทหาร ซุนเกี๋ยนได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกองพัน รวบรวมทหารอาสาได้ประมาณ 1,000 นาย ซุนเกี๋ยนและกองกำลังของซุนเกี๋ยนมีผลงานโดดเด่นในการรบกับพวกกบฏ[2][3]

แม้ฝ่ายผู้ภักดีราชสำนักในเมืองห้อยเขจะสู้สุดกำลัง แต่พวกกบฏก็ประสบความสำเร็จอย่างมากถึงขนาดเข้าบุกเมืองอื่น ๆ[2] ราชสำนักจึงแต่งตั้งให้ขุนนางจาง หมิน (臧旻) เป็นข้าหลวงมณฑลยังจิ๋วเพื่อจัดการกับปัญหานี้[4] มีการระดมกองกำลังทหารจากทั้งมณฑล[4] โดยเฉิน อิ๋น (陳夤) เจ้าเมืองตันเอี๋ยง (ตันหยาง) ได้กลายมาเป็นแม่ทัพร่วมคนสำคัญร่วมกับจาง หมิน[4] ในปี ค.ศ. 173 เจ้าหน้าที่ปกครองของมณฑลยังจิ๋วได้รายงานเรื่องที่อิ่น ตฺวันเจ้าเมืองห้อยเขปราบกบฏไม่สำเร็จ แต่จูฮีเสมียนของอิ่น ตฺวันติดสินบนเจ้าหน้าที่ในเมืองหลวงลกเอี๋ยง (ลั่วหยาง) ทำให้อิ่น ตฺวันรับโทษเพียงจำคุกแทนที่จะถูกประหารชีวิต[4]

กองทัพของจาง หมินและเฉิน อิ๋นปราบปรามกบฏได้สำเร็จในปลายปี ค.ศ. 174[1][4] สังหารหือฉง[4] สฺวี่ เชิง[4] และจฺวี คัง[4]

ผลสืบเนื่อง[แก้]

จาง หมินได้รับบำเหน็จจากการปราบกบฏได้สำเร็จโดยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองตันเอี๋ยง[4] จาง หมินยังได้เสนอความชอบของซุนเกี๋ยนที่มีผลงานดีเด่นในการรบ ซุนเกี๋ยนจึงได้รับตำแหน่งเป็นผู้ช่วยนายอำเภอในเมืองกองเหลง (กวั่งหลิง) และภายหลังไปรับราชการที่สองอำเภอในเมืองแห้ฝือ (เซี่ยพี) ซุนเกี๋ยนได้มีผู้ติดตามมากขึ้นทำให้ซุนเกี๋ยนขึ้นมาเป็นผู้มีชื่อเสียง[2][4][3]

การที่จูฮีติดสินบนเพื่อช่วยชีวิตอิ่น ตฺวันยังไม่เป็นที่รู้กันในตอนแรก ภายหลังจูฮีจะเป็นขุนนางผู้มีชื่อเสียง และรับราชการกับราชสำนักฮั่นอย่างซื่อสัตย์จนกระทั่งราชวงศ์ฮั่นหมดอำนาจในสงครามกลางเมือง[4]

หมายเหตุ[แก้]

  1. เชื่อว่ารัฐเยฺว่ล้มสลายจากการยกทัพบุกของรัฐฉู่เมื่อราว 333 ปีก่อนคริสตกาล ยังไรก็ตามก็มีความเป็นไปได้ว่ารัฐเยฺว่ในฐานะรัฐตกค้างหรือรัฐอันธพาลยังคงอยู่ถึงช่วงปลายศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสตกาล[6]

อ้างอิง[แก้]

เอกสารอ้างอิง[แก้]