ข้ามไปเนื้อหา

ไรทะเล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ไรทะเล
ไรทะเล
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Arthropoda
ไฟลัมย่อย: Crustacea
ชั้น: Branchiopoda
อันดับ: Anostraca
วงศ์: Artemiidae
Grochowski, 1895
สกุล: Artemia
Leach, 1819
ชนิด[1]
10 ชนิด (ดูในเนื้อหา)

ไรทะเล หรือ อาร์ทีเมีย หรือ ไรน้ำเค็ม หรือ ไรน้ำสีน้ำตาล (อังกฤษ: Brine shrimp, Sea-monkey) เป็นสัตว์น้ำจำพวกครัสเตเชียนสกุลหนึ่ง ที่นิยมใช้ในอุตสาหกรรมการประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

ไรทะเล เป็นครัสเตเชียน ในสกุล Artemia ถือกำเนิดในบริเวณเมดิเตอร์เรเนียนมานานกว่า 5.5 ล้านปีมาแล้ว[2] ลักษณะเป็นสัตว์สีน้ำตาลแดงหรือสีน้ำตาลส้ม ไม่มีเปลือกแข็งหุ้มตัว มีเพียงเนื้อเยื่อบาง ๆ เท่านั้นที่หุ้มตัว ว่ายน้ำเคลื่อนที่ในลักษณะหงายท้อง ลำตัวเรียวยาวคล้ายใบไม้แบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน คือ ส่วนหัว แบ่งออกได้เป็น 6 ปล้อง ปล้องแรกเป็นที่ตั้งของตาเดียวและตารวม มีก้านตา 1 คู่ ปล้องที่ 2 เป็นที่ตั้งของหนวดคู่แรก ปล้องที่ 3 เป็นที่ตั้งของหนวดคู่ที่ 2 ปล้องที่ 4 เป็นกราม ปล้องที่ 5 เป็นฟันคู่แรก ปล้องที่ 6 เป็นฟันคู่ที่ 2 ส่วนอกแบ่งออกเป็น 11 ปล้อง แต่ละปล้องประกอบด้วยระยางค์ เป็นอวัยวะทำหน้าที่เกี่ยวกับการเคลื่อนที่ การหายใจและการกรองรวบรวมอาหาร ส่วนท้องแบ่งออกได้ 8 ปล้อง ปล้องแรกเป็นที่ตั้งของอวัยวะเพศ ปล้องที่ 2-7 ไม่มีระยางค์ ปล้องที่ 8 มีแพนหาง 1 คู่ โดยปกติเมื่อโตเต็มวัย เพศผู้จะมีขนาดเล็กกว่าเพศเมีย และจะมีหนวดคู่ที่ 2 ขนาดใหญ่กว่ารูปร่างคล้ายตะขอใช้เกาะจับเพศเมีย บริเวณปล้องแรกของส่วนท้องของเพศผู้จะมีอวัยวะเพศผู้อยู่ 1 คู่ ในเพศเมียตัวเต็มวัย หนวดคู่ที่ 2 จะมีขนาดเล็กลง และเปลี่ยนมาทำหน้าที่รับความรู้สึก บริเวณปล้องแรกของส่วนท้องจะมีอวัยวะเพศเมียทำหน้าที่เก็บตัวอ่อนหรือเก็บไข่

ไรทะเลสืบพันธุ์ได้ทั้งอาศัยเพศและไม่อาศัยเพศ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ให้ลูกทั้งแบบเป็นตัว โดยจะมีไข่ฟักเป็นตัวภายในมดลูก ไข่ไม่มีเปลือกหนาแข็งหุ้ม สามารถวางไข่ได้ครั้งละ 300-500 ฟอง ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์, ความสมบูรณ์ของไรทะเล หรืออุณหภูมิของสภาพแวดล้อมที่อาศัย ใช้เวลาประมาณ 48 ชั่วโมง ในการฟักเป็นตัว

ไรทะเล มีถิ่นกำเนิดในทะเลสาบน้ำเค็ม ในสหรัฐอเมริกา, ยุโรป และจีน ไม่พบในประเทศไทย แบ่งออกได้เป็น 10 ชนิด ได้แก่[1]

ปัจจุบัน ไรทะเลสามารถเพาะขยายพันธุ์ได้ เป็นอาหารหลักของสัตว์น้ำขนาดเล็ก ทั้งสัตว์น้ำเศรษฐกิจและสัตว์น้ำสวยงาม ด้วยมีคุณค่าทางอาหาร โดยเฉพาะโปรตีนสูง โดยกระทำกันเป็นฟาร์มในน้ำที่เค็มจัด อีกทั้งไข่ของไรทะเลก็สามารถอบแห้ง เก็บไว้ในกระป๋องได้นานเป็นปี เมื่อนำออกมาฟัก ก็สามารถกระทำได้ง่าย [3] นอกจากนี้ไรทะเลยังได้รับความนิยมในฐานะสัตว์น้ำสวยงามด้วย โดยในตลาดพ่อค้าจะเรียกไรทะเลว่า "ลิงทะเล (Sea-Monkeys)" เพื่อเพิ่มความดึงดูด โดยมักนิยมขายเป็นไข่เพื่อนำไปฟักตัวในน้ำ[4]

รูปภาพ

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 จาก itis.gov (อังกฤษ)
  2. F. A. Abreu-Grobois (1987). "A review of the genetics of Artemia". ใน P. Sorgerloo, D. A. Bengtson, W. Decleir & E. Jasper (บ.ก.). Artemia Research and its Applications. Proceedings of the Second International Symposium on the Brine Shrimp Artemia, organised under the patronage of His Majesty the King of Belgium. Vol. 1. Wetteren, Belgium: Universa Press. pp. 61–99. OCLC 17979639.{{cite book}}: CS1 maint: multiple names: editors list (ลิงก์)
  3. Artemia : ไรทะเล
  4. https://www.nytimes.com/2016/04/17/magazine/the-battle-over-the-sea-monkey-fortune.html?_r=0

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Artemia ที่วิกิสปีชีส์