ข้ามไปเนื้อหา

ไมยราบไร้หนาม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ไมยราบไร้หนาม
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
อาณาจักร: พืช
Plantae
เคลด: พืชมีท่อลำเลียง
Tracheophytes
เคลด: พืชดอก
Angiosperms
เคลด: พืชใบเลี้ยงคู่แท้
Eudicots
เคลด: โรสิด
Rosids
อันดับ: ถั่ว
Fabales
วงศ์: ถั่ว
Fabaceae
วงศ์ย่อย: วงศ์ย่อยราชพฤกษ์
Caesalpinioideae
เคลด: Mimosoid clade
Mimosoid clade
สกุล: Mimosa
Mimosa
C. Wright ex Sauvalle
สปีชีส์: Mimosa diplotricha
ชื่อทวินาม
Mimosa diplotricha
C. Wright ex Sauvalle

ไมยราบไร้หนาม หรือ ไมยราบเลื้อย หรือ ไมยราบวัว (อังกฤษ: Giant sensitive plant; ชื่อวิทยาศาสตร์: Mimosa diplotricha) ไม้ล้มลุกกึ่งทอดเลื้อย อายุหลายปีในวงศ์ถั่ว (Fabaceae) ชนิดหนึ่ง

มีลำต้นสี่เหลี่ยม มีหนาม แหลมเป็นแง่งและขนสากปกคลุม ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก 2 ชั้น ยาวได้ถึง 22 เซนติเมตร ใบย่อยชั้นแรก 6-9 คู่ มีหนามแหลม ตลอดแผงก้านใบ ใบย่อยชั้นรอง 15-30 คู่ รูปขอบขนาน ดอก สีม่วงแดงแกมชมพู ออกเป็นช่อกลมที่ซอกใบ ขนาด 12-15 มิลลิเมตร มีดอกย่อยขนาดเล็กจำนวนมาก กลีบรองดอกรูประฆัง กลีบดอก เชื่อมกันที่ฐาน ปลายแยก 4 กลีบ รูปไข่ ปลายมน เกสรผู้ 8 อัน ก้านชูเกสร ยาว 6-7 มิลลิเมตร รังไข่รูปรีแบน ผล เป็นฝักแบน รูปขอบขนาน โค้งเล็กน้อย กว้าง 5 มิลลิเมตร ยาว 25-35 มิลลิเมตร ติดกันแน่น เป็นกระจุก ผิวมีหนาม ผลแก่สีน้ำตาลอ่อน มี 3-6 เมล็ด

มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ เป็นวัชพืชร้ายแรง พบทั่วไปตามที่รกร้างหรือที่เปิดโล่ง ที่ระดับความสูงได้ถึง 1,200 เมตร ออกดอกช่วงเดือน ตุลาคม-ธันวาคม[1]

ไมยราบไร้หนาม มีประโยชน์ใช้เป็นปุ๋ยพืชสดและพืชคลุมดินได้ช่วยปรับปรุงคุณสมบัติทางเคมีของดิน เพิ่มอินทรียวัตถุในดิน เพิ่มสัดส่วนของช่องอากาศในดิน ทำให้ดินร่วนซุย และเพิ่มความสามารถในการอุ้มน้ำของดิน แต่ไม่เหมาะสมนำมาเป็นอาหารสัตว์หากไม่เข้าใจวิธีดำเนินการเนื่องจากมีสารไนเตรท-ไนโตรเจน สะสมอยู่ในลำต้นและใบในปริมาณสูงพอที่จะทำให้เกิดการเป็นพิษขึ้นได้ เมื่อสัตว์กินเข้าไปในปริมาณมาก โดยเฉพาะในช่วงต่อระหว่างฤดูแล้งกับฤดูฝน ภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงด้านอุณหภูมิและความชื้น โดยเฉพาะสัตว์จำพวกโค-กระบือ หากกินเข้าไปจะเป็นพิษมากกว่าแพะและม้า นอกจากนี้ในต้นไมยราบไร้หนามยังมีสารไซยาไนด์เป็นส่วนประกอบ [2] [3]

ไมยราบไร้หนาม สันนิษฐานว่าเป็นต้นเหตุของการตายของกระทิงจำนวนหลายตัวในอุทยานแห่งชาติกุยบุรีในช่วงต้นปี พ.ศ. 2557[4]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ไมยราบเลื้อย, หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 7
  2. "ไมยราบไร้หนาม - เรื่องน่ารู้". เดลินิวส์. 31 August 2013. สืบค้นเมื่อ 27 January 2014.
  3. "ระวัง.....พิษจากไมยราบไร้หนาม". สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ. 1 July 2013. สืบค้นเมื่อ 27 January 2014.[ลิงก์เสีย]
  4. "แฉเหตุ'กระทิง'ตาย กินไมยราบไร้หนาม คพ.ตรวจพบสารหนู". ไทยรัฐ. 17 January 2017. สืบค้นเมื่อ 27 January 2014.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
  • วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ Mimosa diplotricha