แฌร์แม็ง กาต็องกา
แฌร์แม็ง กาต็องกา Germain Katanga | |
---|---|
เกิด |
| 28 เมษายน ค.ศ. 1978
สัญชาติ | สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก |
ชื่ออื่น | ซีมบา (Simba) |
มีชื่อเสียงจาก | ศาลอาญาระหว่างประเทศพิพากษาว่า มีความผิดฐานกระทำอาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ |
แฌร์แม็ง กาต็องกา (ฝรั่งเศส: Germain Katanga; เกิด 28 เมษายน 1978)[1] หรือชื่ออื่นว่า ซีมบา (Simba)[1] เป็นผู้นำแนวหน้าอีตูรีปกป้องปิตุภูมิ (Front for Patriotic Resistance of Ituri)[2] ซึ่งเป็นพรรคการเมืองและกองกำลังติดอาวุธในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก
วันที่ 17 ตุลาคม 2007 รัฐบาลคองโกส่งตัวกาต็องกาให้ศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court) ไต่สวนในข้อหาอาชญากรรมสงครามหกกระทงและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติอีกสามกระทง[1][3] ข้อหาดังกล่าวเกี่ยวเนื่องกับการฆ่า การเอาคนลงเป็นทาสกามารมณ์ (sexual slavery) และการใช้เด็กอายุต่ำกว่าสิบห้าปีให้เข้าร่วมรบอย่างเป็นกิจจะลักษณะ[3]
วันที่ 7 มีนาคม 2014 ศาลอาญาระหว่างประเทศพิพากษาว่า กาต็องกามีความผิดฐานกระทำอาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติรวมห้ากระทง ในฐานะที่เป็นผู้สนับสนุนการสังหารหมู่ที่หมู่บ้านบอกอโร (Bogoro) สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2003[4] ถือเป็นคำพิพากษาความผิดฉบับที่สองนับแต่ศาลเปิดทำการมาได้สิบสองปี[5]
คดีในศาลอาญาระหว่างประเทศ
[แก้]การพิจารณา
[แก้]วันที่ 2 กรกฎาคม 2007 องค์คณะพิจารณาเบื้องต้น (Pre-Trial Chamber) ของศาลอาญาระหว่างประเทศ เห็นว่า น่าเชื่อว่า กาต็องกาต้องรับผิดทางอาญาเป็นการเฉพาะตัวสำหรับอาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติซึ่งกระทำในระหว่างการโจมตีหมู่บ้านบอกอโร องค์คณะจึงออกหมายจับเขาเป็นการเจาะจง[1] เขาถูกแจ้งข้อหาอาชญากรรมสงครามหกกระทง (ฆ่าโดยจงใจ ปฏิบัติอย่างโหดร้ายหรือทารุณ ใช้เด็กอายุต่ำกว่าสิบห้าปีให้เข้าร่วมรบอย่างเป็นกิจจะลักษณะ เอาคนลงเป็นทาสกามารณ์ เจตนาโจมตีพลเรือน และปล้นทรัพย์) กับข้อหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติอีกสามกระทง (ฆ่า กระทำปราศจากมนุษยธรรม และเอาคนลงเป็นทาสกามารมณ์)[1]
วันที่ 17 ตุลาคม 2007 รัฐบาลคองโกส่งตัวเขาให้แก่ศาล[3] และศาลสั่งขังเขาไว้ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ นับเป็นบุคคลที่สองที่ถูกส่งตัวให้ศาลนับแต่ศาลเปิดทำการมาเมื่อปี 2002[6]
ครั้นเดือนกุมภาพันธ์ 2008 มาตีเยอ อึนกูจอโล ชูย (Mathieu Ngudjolo Chui) ผู้ต้องสงสัยอีกคน ถูกส่งตัวให้ศาลไต่สวนในข้อหาซึ่งเกี่ยวข้องกับการโจมตีหมู่บ้านบอกอโรเช่นกัน[7]
ศาลเริ่มไต่สวนเพื่อยืนยันข้อหาตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2008[8] การไต่สวนมาสิ้นสุดลงในวันที่ 11 กรกฎาคม 2008 และวันที่ 26 กันายน 2008 องค์คณะพิจารณาเบื้องต้นคณะ 1 (Pre-Trial Chamber I) วินิจฉัยยืนยันข้อหาบางข้อของจำเลยทั้งสอง และสั่งให้ส่งพวกเขาไปให้องค์คณะพิจารณา (Trial Chamber) จัดการต่อไป การพิจารณาคดีเริ่มตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2009 ศาลสั่งให้รวมการพิจารณาคดีของอึนกูจอโลกับกาต็องกา[9] แต่ในเดือนพฤศจิกายน 2012 ได้สั่งให้แยกการพิจารณาคดีอีกครั้ง เพื่อให้โจทก์รวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับกาต็องกาได้มากขึ้น[10]
ผลการพิจารณา
[แก้]วันที่ 7 มีนาคม 2014 ศาลอาญาระหว่างประเทศพิพากษาด้วยมติสองต่อหนึ่งว่า กาต็องกามีความผิดฐานกระทำอาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติรวมห้ากระทง ในฐานะที่เป็นผู้สนับสนุนการสังหารหมู่ ณ หมู่บ้านบอกอโร[4][11]
เดิมที โจทก์ฟ้องกาต็องกาในฐานะเป็นตัวการร่วมโดยอ้อม (indirect co-perpetrator) แต่ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า กาต็องกามีความผิดในฐานะเป็นผู้สนับสนุนเท่านั้น เพราะพยานหลักฐานแสดงว่า เขาจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ให้แก่กองทหารซึ่งเคลื่อนไหวในการสังหารหมู่ เขาจึงชื่อว่า "ส่งเสริมความสามารถของกองทหารในการโจมตี" แต่พยานหลักฐานในคดียังไม่พอให้ฟังได้ว่า กาต็องกาเป็นตัวการในการสังหารหมู่ดังกล่าว[12] นอกจากนี้ ศาลยังพิพากษาว่า พยานหลักฐานไม่พอจะให้ถือว่า กาต็องกาเป็นตัวการในการข่มขืนกระทำชำเราและการใช้เด็กเป็นทหารในระหว่างการสังหารหมู่ด้วย แต่ก็เน้นย้ำว่า มีการกระทำเช่นนั้นเกิดขึ้นจริง[4][11]
ตุลาการคริสตีน ฟัน เดินไวน์คาร์ต (Christine van den Wyngaert) ซึ่งเป็นเสียงข้างน้อย มีความเห็นแย้งว่า ศาล "พิจารณาคดีอย่างไม่เป็นธรรม โดยละเมิดสิทธิหลายประการของแฌร์แม็ง กาต็องกา"[12]
โจทก์หรือจำเลยสามารถอุทธรณ์คำพิพากษาความผิดข้างต้นได้ภายในสามสิบวัน[13] ส่วนการกำหนดโทษของกาต็องกานั้นจะมีขึ้นในภายหลัง คาดหมายว่า เขาอาจเผชิญโทษจำคุกสูงสุดสามสิบปี[5]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 International Criminal Court (2 July 2007). "Warrant of arrest for Germain Katanga" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF 202 KB)เมื่อ 2013-01-15. สืบค้นเมื่อ 10 March 2014.
- ↑ International Criminal Court (19 October 2007). Statement by Fatou Bensouda, Deputy Prosecutor, during the press conference regarding the arrest of Germain Katanga เก็บถาวร 2007-10-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Retrieved on 21 October 2007.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 International Criminal Court (18 October 2007). Second arrest: Germain Katanga transferred into the custody of the ICC เก็บถาวร 2007-10-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Retrieved on 21 October 2007.
- ↑ 4.0 4.1 4.2 Germain Katanga: Guilty of war crimes, the brutal warlord who terrorised the Democratic Republic of Congo, The Independent, 07 March, 2014. Accessed 08 March, 2014
- ↑ 5.0 5.1 Katanga found guilty over war crimes, Irish Times, 08 March, 2014. Accessed 08 march, 2014
- ↑ Reuters (19 October 2007). ICC seeks arrests after surrender of Congo suspect เก็บถาวร 2013-02-01 ที่ archive.today. Retrieved on 21 October 2007.
- ↑ International Criminal Court (7 February 2008). Third detainee for the International Criminal Court: Mathieu Ngudjolo Chui เก็บถาวร 2007-06-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Retrieved on 9 February 2008.
- ↑ International Criminal Court (27 June 2008), ICC Cases an opportunity for communities in Ituri to come together and move forward เก็บถาวร 2015-09-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Retrieved on 17 July 2008,
- ↑ International Criminal Court (10 March 2008). Decision on the Joinder of the Cases against Germain Katanga and Mathieu Ngudjolo ChuiPDF (527 KB). Retrieved on 10 March 2008.
- ↑ ICC tribunal finds Katanga complicit in war crimes in Congo, Deutsche Welle, 07 March, 2014. Accessed 08 March, 2014
- ↑ 11.0 11.1 International Criminal Court Convicts Congolese Warlord, Voice of America, March 7, 2014. Accessed March 8, 2014
- ↑ 12.0 12.1 Germain Katanga guilty of murder and pillage in Congo massacre, The Guardian, 07 March, 2014. Accessed 08 March, 2014
- ↑ Congo Rebel Leader Found Guilty of Crimes Against Humanity, Bloomberg.com, march 7, 2014. Accessed march 8, 2014