แฌร์แม็ง กาต็องกา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แฌร์แม็ง กาต็องกา
Germain Katanga
เกิด (1978-04-28) 28 เมษายน ค.ศ. 1978 (45 ปี)
สัญชาติสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก
ชื่ออื่นซีมบา (Simba)
มีชื่อเสียงจากศาลอาญาระหว่างประเทศพิพากษาว่า มีความผิดฐานกระทำอาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

แฌร์แม็ง กาต็องกา (ฝรั่งเศส: Germain Katanga; เกิด 28 เมษายน 1978)[1] หรือชื่ออื่นว่า ซีมบา (Simba)[1] เป็นผู้นำแนวหน้าอีตูรีปกป้องปิตุภูมิ (Front for Patriotic Resistance of Ituri)[2] ซึ่งเป็นพรรคการเมืองและกองกำลังติดอาวุธในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก

วันที่ 17 ตุลาคม 2007 รัฐบาลคองโกส่งตัวกาต็องกาให้ศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court) ไต่สวนในข้อหาอาชญากรรมสงครามหกกระทงและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติอีกสามกระทง[1][3] ข้อหาดังกล่าวเกี่ยวเนื่องกับการฆ่า การเอาคนลงเป็นทาสกามารมณ์ (sexual slavery) และการใช้เด็กอายุต่ำกว่าสิบห้าปีให้เข้าร่วมรบอย่างเป็นกิจจะลักษณะ[3]

วันที่ 7 มีนาคม 2014 ศาลอาญาระหว่างประเทศพิพากษาว่า กาต็องกามีความผิดฐานกระทำอาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติรวมห้ากระทง ในฐานะที่เป็นผู้สนับสนุนการสังหารหมู่ที่หมู่บ้านบอกอโร (Bogoro) สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2003[4] ถือเป็นคำพิพากษาความผิดฉบับที่สองนับแต่ศาลเปิดทำการมาได้สิบสองปี[5]

คดีในศาลอาญาระหว่างประเทศ[แก้]

การพิจารณา[แก้]

วันที่ 2 กรกฎาคม 2007 องค์คณะพิจารณาเบื้องต้น (Pre-Trial Chamber) ของศาลอาญาระหว่างประเทศ เห็นว่า น่าเชื่อว่า กาต็องกาต้องรับผิดทางอาญาเป็นการเฉพาะตัวสำหรับอาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติซึ่งกระทำในระหว่างการโจมตีหมู่บ้านบอกอโร องค์คณะจึงออกหมายจับเขาเป็นการเจาะจง[1] เขาถูกแจ้งข้อหาอาชญากรรมสงครามหกกระทง (ฆ่าโดยจงใจ ปฏิบัติอย่างโหดร้ายหรือทารุณ ใช้เด็กอายุต่ำกว่าสิบห้าปีให้เข้าร่วมรบอย่างเป็นกิจจะลักษณะ เอาคนลงเป็นทาสกามารณ์ เจตนาโจมตีพลเรือน และปล้นทรัพย์) กับข้อหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติอีกสามกระทง (ฆ่า กระทำปราศจากมนุษยธรรม และเอาคนลงเป็นทาสกามารมณ์)[1]

วันที่ 17 ตุลาคม 2007 รัฐบาลคองโกส่งตัวเขาให้แก่ศาล[3] และศาลสั่งขังเขาไว้ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ นับเป็นบุคคลที่สองที่ถูกส่งตัวให้ศาลนับแต่ศาลเปิดทำการมาเมื่อปี 2002[6]

ครั้นเดือนกุมภาพันธ์ 2008 มาตีเยอ อึนกูจอโล ชูย (Mathieu Ngudjolo Chui) ผู้ต้องสงสัยอีกคน ถูกส่งตัวให้ศาลไต่สวนในข้อหาซึ่งเกี่ยวข้องกับการโจมตีหมู่บ้านบอกอโรเช่นกัน[7]

ศาลเริ่มไต่สวนเพื่อยืนยันข้อหาตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2008[8] การไต่สวนมาสิ้นสุดลงในวันที่ 11 กรกฎาคม 2008 และวันที่ 26 กันายน 2008 องค์คณะพิจารณาเบื้องต้นคณะ 1 (Pre-Trial Chamber I) วินิจฉัยยืนยันข้อหาบางข้อของจำเลยทั้งสอง และสั่งให้ส่งพวกเขาไปให้องค์คณะพิจารณา (Trial Chamber) จัดการต่อไป การพิจารณาคดีเริ่มตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2009 ศาลสั่งให้รวมการพิจารณาคดีของอึนกูจอโลกับกาต็องกา[9] แต่ในเดือนพฤศจิกายน 2012 ได้สั่งให้แยกการพิจารณาคดีอีกครั้ง เพื่อให้โจทก์รวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับกาต็องกาได้มากขึ้น[10]

ผลการพิจารณา[แก้]

วันที่ 7 มีนาคม 2014 ศาลอาญาระหว่างประเทศพิพากษาด้วยมติสองต่อหนึ่งว่า กาต็องกามีความผิดฐานกระทำอาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติรวมห้ากระทง ในฐานะที่เป็นผู้สนับสนุนการสังหารหมู่ ณ หมู่บ้านบอกอโร[4][11]

เดิมที โจทก์ฟ้องกาต็องกาในฐานะเป็นตัวการร่วมโดยอ้อม (indirect co-perpetrator) แต่ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า กาต็องกามีความผิดในฐานะเป็นผู้สนับสนุนเท่านั้น เพราะพยานหลักฐานแสดงว่า เขาจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ให้แก่กองทหารซึ่งเคลื่อนไหวในการสังหารหมู่ เขาจึงชื่อว่า "ส่งเสริมความสามารถของกองทหารในการโจมตี" แต่พยานหลักฐานในคดียังไม่พอให้ฟังได้ว่า กาต็องกาเป็นตัวการในการสังหารหมู่ดังกล่าว[12] นอกจากนี้ ศาลยังพิพากษาว่า พยานหลักฐานไม่พอจะให้ถือว่า กาต็องกาเป็นตัวการในการข่มขืนกระทำชำเราและการใช้เด็กเป็นทหารในระหว่างการสังหารหมู่ด้วย แต่ก็เน้นย้ำว่า มีการกระทำเช่นนั้นเกิดขึ้นจริง[4][11]

ตุลาการคริสตีน ฟัน เดินไวน์คาร์ต (Christine van den Wyngaert) ซึ่งเป็นเสียงข้างน้อย มีความเห็นแย้งว่า ศาล "พิจารณาคดีอย่างไม่เป็นธรรม โดยละเมิดสิทธิหลายประการของแฌร์แม็ง กาต็องกา"[12]

โจทก์หรือจำเลยสามารถอุทธรณ์คำพิพากษาความผิดข้างต้นได้ภายในสามสิบวัน[13] ส่วนการกำหนดโทษของกาต็องกานั้นจะมีขึ้นในภายหลัง คาดหมายว่า เขาอาจเผชิญโทษจำคุกสูงสุดสามสิบปี[5]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 International Criminal Court (2 July 2007). "Warrant of arrest for Germain Katanga" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF 202 KB)เมื่อ 2013-01-15. สืบค้นเมื่อ 10 March 2014.
  2. International Criminal Court (19 October 2007). Statement by Fatou Bensouda, Deputy Prosecutor, during the press conference regarding the arrest of Germain Katanga เก็บถาวร 2007-10-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Retrieved on 21 October 2007.
  3. 3.0 3.1 3.2 International Criminal Court (18 October 2007). Second arrest: Germain Katanga transferred into the custody of the ICC เก็บถาวร 2007-10-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Retrieved on 21 October 2007.
  4. 4.0 4.1 4.2 Germain Katanga: Guilty of war crimes, the brutal warlord who terrorised the Democratic Republic of Congo, The Independent, 07 March, 2014. Accessed 08 March, 2014
  5. 5.0 5.1 Katanga found guilty over war crimes, Irish Times, 08 March, 2014. Accessed 08 march, 2014
  6. Reuters (19 October 2007). ICC seeks arrests after surrender of Congo suspect เก็บถาวร 2013-02-01 ที่ archive.today. Retrieved on 21 October 2007.
  7. International Criminal Court (7 February 2008). Third detainee for the International Criminal Court: Mathieu Ngudjolo Chui เก็บถาวร 2007-06-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Retrieved on 9 February 2008.
  8. International Criminal Court (27 June 2008), ICC Cases an opportunity for communities in Ituri to come together and move forward เก็บถาวร 2015-09-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Retrieved on 17 July 2008,
  9. International Criminal Court (10 March 2008). Decision on the Joinder of the Cases against Germain Katanga and Mathieu Ngudjolo ChuiPDF (527 KB). Retrieved on 10 March 2008.
  10. ICC tribunal finds Katanga complicit in war crimes in Congo, Deutsche Welle, 07 March, 2014. Accessed 08 March, 2014
  11. 11.0 11.1 International Criminal Court Convicts Congolese Warlord, Voice of America, March 7, 2014. Accessed March 8, 2014
  12. 12.0 12.1 Germain Katanga guilty of murder and pillage in Congo massacre, The Guardian, 07 March, 2014. Accessed 08 March, 2014
  13. Congo Rebel Leader Found Guilty of Crimes Against Humanity, Bloomberg.com, march 7, 2014. Accessed march 8, 2014