ข้ามไปเนื้อหา

เหวิน เทียนเสียง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
รูปปั้นเหวินเทียนเสียงในวัดที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน

เหวินเทียนเสียง (จีน: 文天祥; พินอิน: Wén Tiānxiáng; เวด-ไจลส์: Wen T'ien-hsiang) เป็นเสนาบดีในสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ เกิดเมื่อปีค.ศ.1236 ที่ตำบลลู่หลิ่งหรือเมืองจี๋อานในปัจจุบัน[1]

เขาได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองหูหนานและเจียงซี ปีค.ศ.1276 ในสมัยจักรพรรดิซ่งกงจง กองทัพมองโกลของกุบไลข่านตีได้เมืองต่างๆ ของจีน แล้วยกเข้าใกล้ราชธานีหลินอาน(หางโจว)ห่างจากกำแพงเมืองเพียง 30 ลี้ จักรพรรดิซ่งกงจงและไทเฮาเห็นว่าหมดทางสู้จึงขอสวามิภักดิ์ต่อมองโกล และเหวินเทียนเสียงออกไปเจรจาหย่าศึกแต่ก็ไม่เป็นผล กองทัพมองโกลบุกยึดเมืองหลวงและจับตัวเหวินเทียนเสียงไว้[2] แต่ก็หาทางหลบหนีออกมาได้ และจัดตั้งกองกำลังต่อต้านกองทัพมองโกล ในขณะที่ขุนนางอื่นที่ไม่ยอมแพ้ได้ย้ายราชธานีลงใต้ไปยังเมืองฝูโจว แล้วพากันยกองค์ชายเจ้าซื่อขึ้นเป็นจักรพรรดิซ่งต้วนจง [3] มีเหวินเทียนเสียงเป็นอัครเสนาบดีใหญ่

ปีค.ศ.1277 จักรพรรดิซ่งต้วนจงสิ้นพระชนม์อย่างกะทันหัน องค์ชายเจ้าปิ่งได้ขึ้นเป็นจักรพรรดิซ่งตี้ปิง 1 ปีถัดมากองทัพมองโกลก็ยึดเมืองฝูโจวได้สำเร็จ เหล่าขุนนางจึงย้ายราชธานีลงใต้ไปยังเมืองกว่างโจว ปลายปี ค.ศ.1278 ทัพมองโกลได้ยกทัพใหญ่บุกเข้ามาที่เขาอู่พัวหลิ่ง (ทางเหนือของมณฑลกวางตุ้งปัจจุบัน) จับเอาเหวินเทียนเสียง ไปเป็นเชลย[4] แล้วเข้ายึดราชธานีได้ในปี ค.ศ.1279 จักรพรรดิซ่งตี้ปิงและบรรดาขุนนางหนีไปยังภูเขาหยาซานริมทะเลซินฮุ่ย แต่กองทัพมองโกลก็ตามมาโจมตีอีก ลู่ซิ่วฟูขุนนางผู้ใหญ่ จึงแบกองค์ฮ่องเต้ลงเรือหนีฝ่าวงล้อมออกไปแต่ไม่สำเร็จ สุดท้ายจึงจับฮ่องเต้หนีลงทะเลหายสาบสูญไป[5] เมื่อทำลายราชวงศ์ซ่งใต้ได้แล้ว เหวินเทียนเสียงก็ถูกส่งขึ้นเหนือไปยังต้าตู (ปักกิ่ง)ในวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ.1279 กุบไลข่านขังเหวินเทียนเสียงไว้ในบ้าน เป็นเวลาถึง 4 ปี เพื่อเกลี้ยกล่อมและบังคับให้มารับใช้ราชสำนักมองโกล แต่เขาไม่เคยยอมสวามิภักติ์ต่อราชวงศ์หยวนเลย[6] 9 มกราคม ค.ศ.1283 เหวิน เทียนเสียง ก็ถูกประหารชีวิต ขณะที่เขามีอายุได้ 47 ปี[7] โดยก่อนตายยังได้หันหน้าไปยังทิศใต้แล้วก้มลงคำนับต่อแผ่นดินเกิด

เหวินเทียนเสียงถือเป็นขุนนางและกวีผู้มีชื่อเสียงเลื่องลือในความซื่อสัตย์และภักดี โดยบทกวี กั้วหลิงติงหยาง (过零丁洋)สองวรรคท้ายเป็นประโยคที่คนจีนทุกคนยังท่องจำได้ขึ้นใจจนกระทั่งปัจจุบัน

辛苦遭逢起一经 ยากเย็นแสนเข็ญแตกฉานการรบ

干戈寥落四周星 ตรากตรำกรำศึกโดดเดี่ยวนานปี

山河破碎风飘絮 บ้านเมืองล่มสลายดุจใบไม้ร่วง

身世沉浮雨打萍 ชีวิตล่มจมดั่งแหนกลางลมฝน

惶恐滩头说惶恐 หาดหวางข่งแตกพ่ายขวัญผวา

伶仃洋里叹伶仃 ทอดถอนใจเดียวดายในหลิงติง

人生自古谁无死 แต่โบราณมาใครเล่าอยู่ค้ำฟ้า

留取丹心照汗青 เหลือเพียงใจภักดิ์คงคู่โลก[8]

อย่างไรก็ตามในสองวรรคท้ายนั้น ได้มีการแปลเป็นสำนวนต่างๆอีกมาก ที่โด่งดัง เช่น "นับแต่อดีตมามีผู้ใดบ้างที่เคยหนีจากความตายได้ จะเหลือทิ้งไว้ก็แต่เพียงหัวใจอันสัตย์ซื่อนี้ที่ส่องสว่างอยู่ในประวัติศาสตร์"[9] และ "เกิดมามีใครไม่ปลดปลง เกียรติยืนยงฝากไว้ในแผ่นดิน"[10] เป็นต้น

อ้างอิง

[แก้]
  1. ”เหวินเทียนเสียง”[ลิงก์เสีย]เรื่องจีนศึกษา จากสมบูรณ์อินโฟ
  2. "ประวัติไต้ซ้องส่ามต่องอ๋อง 大宋三忠王" เก็บถาวร 2009-02-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ประเพณีกินผักจังหวัดภูเก็ต
  3. “Emperor Duanzong of Song” เก็บถาวร 2010-09-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Cultural-China
  4. ”ข้ามทะเลหลิงติง เหวินเทียนเสียง” เก็บถาวร 2011-12-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน โดยเฉนซิ่วเฮง วันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2553 วรรณกรรมและเกร็ดประวัติศาสตร์ จาก ชุมชนชาวฮากกา 客家人
  5. ”ธารประวัติศาสตร์ เรื่องราชวงศ์ซ่งใต้ (ค.ศ.1127-1279)”[ลิงก์เสีย]โดยวริษฐ์ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 เวลา 18.00 น.จากมุมจีน ผู้จัดการรายวัน
  6. "ภาคผนวกข้ามทะเลหลินติง" เก็บถาวร 2016-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนงานจัดเก็บสารสนเทศ จากพระราชนิพนธ์ชุดเสด็จฯ เยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน ในสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
  7. “เหวินเทียนเสียง文天祥”[ลิงก์เสีย] สถาบันขงจื๊อออนไลน์ 孔子学院 24 มิถุนายน พ.ศ. 2553
  8. "过零丁洋"". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2009-02-27.
  9. "ลำดับกษัตริย์ราชวงศ์ซ่งใต้"ซ่งใต้กับอิทธิพลมองโกล
  10. "พระไต่ซ่งสามองค์" เก็บถาวร 2016-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนบุ๋นเทียนเสียง/เหวินเทียนเสียง 文天祥