ข้ามไปเนื้อหา

เวลิบ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สถานีเวลิบและจักรยาน
สถานีเวลิบบริเวณสถานีรถไฟ Gare de l'Est

เวลิบ (ฝรั่งเศส:Vélib) เป็นโครงการจักรยานสาธารณะของกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เริ่มให้บริการครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 โดยบริษัท JCDecaux เป็นผู้ดำเนินโครงการ โดยมีจักรยานในโครงการกว่า 20,000 คัน และสถานีกว่า 1,800 สถานี กระจายอยู่ทั่วทั้งกรุงปารีสและเมืองใกล้เคียง โดยมีผู้ใช้บริการเฉลี่ยประมาณ 120,000 เที่ยวต่อวัน[1]

ชื่อ Vélib มาจากการผสมคำในภาษาฝรั่งเศส ระหว่างคำว่า vélo (ไทย:จักรยาน) และ liberté (ไทย:เสรีภาพ)

ปัจจุบัน(พ.ศ. 2556) เวลิบถือเป็นระบบเช่ายืมจักรยานสาธารณะขนาดใหญ่เป็นอันดับที่สามของโลก รองจากเมืองอู่ฮั่น และเมืองหางโจว ประเทศจีน[2]

ประวัติ

[แก้]

โครงการเวลิบได้รับการริเริ่มโดย แบร์ตรองด์ เดอลาโน (ฝรั่งเศส:Bertrand Delanoë) นายกเทศมนตรีเมืองปารีส จากพรรคสังคมนิยม (ฝรั่งเศส: Parti socialiste, PS) เริ่มให้บริการครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 โดยบริษัท JCDecaux บริษัทธุรกิจโฆษณาเป็นผู้ดำเนินโครงการเป็นเวลา 10 ปี หลังจากสามารถชนะการประมูลกับบริษัท Clear Channelภายหลังโครงการ Vélo'v ซึ่งเป็นระบบให้เช่ายืมจักรยานสาธารณะของนครลียง (ฝรั่งเศส: Lyon) ซึ่งเริ่มให้บริการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548

ในระยะแรก เวลิบให้บริการด้วยจักรยานจำนวน 7,000 คัน สถานียืมคืนอัตโนมัติ 750 แห่ง และเพิ่มเป็น 16,000 คัน และ 1,200 สถานีในปีถัดมา ในปีแรก เทศบาลเมืองปารีสรายงานว่ามีผู้ใช้บริการ Vélib ถึง 27.5 ล้านเที่ยว โดยผู้ใช้บริการกว่า 2.1 ล้านคน[1]

การลงทุน

[แก้]

JCDecaux ผู้ดำเนินโครงการลงทุนด้วยงบประมาณราว 142 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และว่าจ้างพนักงานราว 285 คน เพื่อดำเนินโครงการดังกล่าว รวมไปถึงการซ่อมบำรุงจักรยานและจัดหาจักรยานทดแทนคันที่สูญหายหรือถูกขโมย รายได้จากการสมัครสมาชิกและค่าบริการราว 31.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และค่าสัปทานซึ่งได้รับจากผู้ดำเนินโครงการอีกราว 5.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อปีเป็นของเมือง ในขณะที่ JCDecaux ผู้ดำเนินโครงการได้รับประโยชน์จากการให้เช่าป้ายโฆษณาราว 1,628 ป้ายของเมืองซึ่งสร้างผลตอบแทนเป็นเงินประมาณ 94 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี[1]

สถานีและจักรยาน

[แก้]
ตู้สถานี (The Terminal)
จักรยานและแท่นจอดจักรยาน

สถานี

[แก้]

เวลิบมีสถานียืมคืนจักรยานอัตโนมัติ 1,800 แห่ง ซึ่งให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง กระจายอยู่ทุก 300 เมตร ทั่วทั้งกรุงปารีสและเมืองใกล้เคียง ในแต่ละสถานีประกอบด้วย ตู้สถานี (อังกฤษ:The Terminal ฝรั่งเศส:La borne) สำหรับใช้ยืมจักรยาน ซื้อบัตรแบบเหมาจ่ายระยะสั้น ซื้อบัตรสมาชิกระยะยาว รวมไปถึงการตรวจสอบข้อมูลแผนที่สถานีใกล้เคียง และเพิ่มระยะเวลายืมในกรณีที่จุดจอดจักรยานในสถานีดังกล่าวเต็ม และ แท่นจอดจักรยาน (อังกฤษ:Bike Posts ฝรั่งเศส:Les points d'attache des vélos) ซึ่งอาจมีจำนวน 15 – 70 แท่น ในแต่ละสถานีขึ้นอยู่กับสถานที่ตั้ง แท่นจอดจักรยานแต่ละแท่นประกอบด้วยระบบล็อกจักรยาน แท่นอ่านบัตร ระบบไฟและระบบเสียงแจ้งสถานะ

จักรยาน

[แก้]

จักรยานเวลิบผลิตในประเทศฮังการี ได้รับการออกแบบให้เหมาะสำหรับบุคคลทุกเพศซึ่งมีอายุ 14 ปีขึ้นไป หนักประมาณ 50ปอนด์ (22.5 กิโลกรัม) ประกอบด้วยเกียร์ดุม (internal hub gears) 3 สปีด, เบรกหน้า-หลัง, ไฟ LED หน้า-หลัง, แผ่นสะท้อนแสง, กระดิ่ง และตะกร้าหน้าจักรยาน

ค่าบริการ

[แก้]

ค่าสมาชิก

[แก้]

ผู้ใช้บริการเวลิบจำเป็นต้องสมัครสมาชิกก่อนใช้บริการ

บัตรสมาชิกเวลิบแบ่งออกเป็นบัตรสมาชิกระยะยาวมีอายุการใช้งาน 1 ปี มี 2 ประเภทคือ Vélib' Classique ราคา 29 ยูโร และ Vélib' Passion ราคา 39 ยูโร และ บัตรสมาชิกระยะสั้นประเภท 1 วัน ราคา 1.70 ยูโร และ 7 วัน ราคา 8 ยูโร

สำหรับบุคคลซึ่งมีอายุ 14-26 ปี สามารถสมัครบัตรประเภท Vélib' Passion ได้ในราคา 29 ยูโร และหากเป็นนักเรียนซึ่งได้รับทุนการศึกษาสามารถสมัครได้ในราคา 19 ยูโร

ค่าธรรมเนียม

[แก้]

ผู้ใช้บริการเวลิบสามารถยืมจักรยานได้ไม่จำกัดจำนวนครั้งโดยไม่เสียค่าธรรมเนียมในเวลา 30 นาที (หรือ 45 นาที ในกรณีที่เป็นบัตรสมาชิกประเภท Vélib' Passion) เมื่อพ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้ว จะคิดค่าธรรมเนียม 1 ยูโรสำหรับ 30 นาทีถัดไป, 2 ยูโรสำหรับ 30 นาทีถัดไป และ 4 ยูโรต่อทุกๆ 30 นาที จนกว่าจะคืนจักรยาน

ในกรณีที่แท่นจอดจักรยาน(Bike Posts) ในสถานีเต็ม ผู้ใช้บริการสามารถทำการต่อเวลาออกไปอีก 15 นาทีได้ที่ตู้สถานี(The Terminal) เพื่อปั่นไปคืนยังสถานีใกล้เคียงแทน

ตัวอย่างค่าธรรมเนียม (เพิ่ม 15 นาที สำหรับ Vélib' Passion)
เวลา 30 นาที 60 นาที 90 นาที 2 ชั่วโมง 5 ชั่วโมง 10 ชั่วโมง 20 ชั่วโมง
ค่าธรรมเนียม ฟรี 1 ยูโร 3 ยูโร 7 ยูโร 31 ยูโร 71 ยูโร 151 ยูโร

การซ่อมบำรุง

[แก้]
อานจักรยานถูกปรับให้อยู่ในตำแหน่งกลับหลัง เป็นสัญลักษณ์ว่าต้องการการซ่อมแซม

การซ่อมบำรุงและดูแลรักษาจักรยานอยู่ภายใต้การรับผิดชอบของ JCDecaux บริษัทผู้ให้บริการ มีจักรยานได้รับการซ่อมบำรุงราว 1,500 คันต่อวัน[1]

เพื่อบ่งชี้ให้เจ้าหน้าที่ทราบว่าจักรยานคันใดเสียหาย ผู้ใช้บริการมักจะหมุนหลักอานจักรยาน อยู่ในตำแหน่งกลับหลังเพื่อให้เป็นที่สังเกตจากเจ้าหน้าที่ได้โดยง่ายและรวดเร็ว[3]

ปัญหาการโจรกรรมและการทำลายทรัพย์สิน

[แก้]

ในปีแรกของการให้บริการ จักรยานอย่างน้อย 3,000 คันถูกขโมย ซึ่งถือเป็นจำนวนที่มากเกินความคาดหมาย ในเดือน สิงหาคม พ.ศ. 2552 จักรยานจำนวน 16,000 คัน จากจำนวนจักรยานที่มีให้บริการทั้งหมด 20,600 คัน เป็นจักรยานซึ่งนำเข้ามาทดแทนจักรยานเดิมซึ่งถูกโจรกรรมหรือทำลาย[4] จักรยานซึ่งถูกขโมยส่วนใหญ่ถูกขนส่งไปยังแอฟริกาเหนือ รวมถึงการพบจักรยานเวลิบในเมืองบราโชฟ และกรุงบูคาเรสต์ ประเทศโรมาเนีย[5] รวมถึงการพบจักรยานถูกโยนทิ้งลงไปในแม่น้ำแซน(ฝรั่งเศส: Seine)[4]

เชิงอรรถ

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 http://www.nytimes.com/2008/07/13/world/europe/13paris.html?_r=3&ei=5087&em=&en=607f90e234d58472&ex=1216094400&pagewanted=all&oref=slogin&oref=slogin&
  2. http://www.earth-policy.org/plan_b_updates/2013/update112
  3. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-26. สืบค้นเมื่อ 2013-07-01.
  4. 4.0 4.1 http://www.nytimes.com/2009/10/31/world/europe/31bikes.html
  5. http://www.caradisiac.com/On-a-retrouve-des-Velib-en-Roumanie-4126.htm

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]