ข้ามไปเนื้อหา

เจดีย์โบตะทอง

พิกัด: 16°46′06″N 96°10′19″E / 16.768449°N 96.171973°E / 16.768449; 96.171973
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจดีย์โบตะทอง
ဗိုလ်တထောင်ဘုရား
ศาสนา
ศาสนาพุทธ
นิกายเถรวาท
ภูมิภาคภาคย่างกุ้ง
ที่ตั้ง
เทศบาลย่างกุ้ง
ประเทศพม่า
เจดีย์โบตะทองตั้งอยู่ในประเทศพม่า
เจดีย์โบตะทอง
ที่ตั้งในประเทศพม่า
พิกัดภูมิศาสตร์16°46′06″N 96°10′19″E / 16.768449°N 96.171973°E / 16.768449; 96.171973

เจดีย์โบตะทอง หรือที่รู้จักกันในชื่อ เจดีย์โบตะทาว (พม่า: ဗိုလ်တထောင်ဘုရား, ออกเสียง: [bò.tə.tʰàʊ̯ɰ̃ pʰəjá]; หมายถึง "ทหาร 1,000 นาย") เป็นเจดีย์ที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งตั้งอยู่ในย่านใจกลางนครย่างกุ้ง ประเทศพม่า ใกล้แม่น้ำย่างกุ้ง เจดีย์สร้างขึ้นครั้งแรกโดยชาวมอญช่วงเวลาเดียวกันกับเจดีย์ชเวดากอง ตามความเชื่อท้องถิ่นสร้างเมื่อกว่า 2,500 ปีที่ผ่านมา และเป็นที่รู้จักในชื่อภาษามอญว่า "ไจเดอัต" (Kyaik-de-att) เจดีย์กลวงภายในและเชื่อว่าเป็นที่ประดิษฐานพระเกศาธาตุพระพุทธเจ้า[1][2][3]

เจดีย์โบตะทองถูกทำลายลงในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองและได้รับการบูรณะใหม่หลังสงคราม[4][2][3]

ประวัติ

[แก้]

ตามตำนานกษัตริย์มอญนามว่าโอะกะลาปะได้ให้นายทหารระดับแม่ทัพ 1,000 นาย ตั้งแถวถวายสักการะพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้าที่พ่อค้าสองพี่น้อง ตปุสสะและภัลลิกะ อัญเชิญมาทางเรือจากประเทศอินเดีย และมาขึ้นฝั่งเมืองตะเกิงหรือดากอง ณ บริเวณนี้เมื่อ 2,000 ปีก่อน จึงสร้างเจดีย์โบตะทองไว้เป็นที่ระลึก พร้อมทั้งแบ่งพระเกศา 1 เส้นมาบรรจุไว้ ก่อนนำไปบรรจุในเจดีย์ชเวดากองและเจดีย์สำคัญอื่น ๆ[4][2][3]

สงครามโลกครั้งที่ 2

[แก้]

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2486 ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เจดีย์ได้ถูกทำลายลงเพราะการทิ้งระเบิดโจมตีท่าเรือย่างกุ้งของกองทัพอากาศอังกฤษเจดีย์ถูกทิ้งไว้ในซากปรักหักพังสีดำ[5][3]

การบูรณะ

[แก้]

การบูรณะเจดีย์เริ่มต้นขึ้นในวันเดียวกันกับที่ประเทศพม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษคือ 4 มกราคม พ.ศ. 2491 หลังจากที่นำซากปรักหักพังออกจากพื้นดินแล้วจึงเริ่มกระบวนการขุดที่ความลึกประมาณเจ็ดฟุต เพื่อสร้างฐานรากของเจดีย์องค์ใหม่ มีการขุดค้นเพิ่มเติมบริเวณใจกลางพื้นที่ที่ระดับความลึกสามฟุต พบกรุที่สร้างขึ้นอย่างดีและมีขนาดค่อย ๆ ลดลงจากด้านบน และปรากฏผอบขนาดใหญ่วางกลับด้านครอบทับสิ่งที่อยู่ภายใน ใจกลางกรุพบผอบหินทรงสถูป มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 23 นิ้วและสูง 39 นิ้ว รอบ ๆ ผอบพบรูปนะที่แกะสลักจากศิลาแลงเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์รักษา ผอบถูกพบฝังอยู่ในโคลนเพราะมีน้ำซึมเข้ามาในกรุตลอดช่วงหลายศตวรรษที่ผ่านมา[6]

ภายในกรุที่เก็บผอบหินทรงสถูปพบสมบัติล้ำค่าหลายชนิดเช่น อัญมณี, เครื่องประดับ, เพชรพลอย, จารึกดินเผา, และพระพุทธรูปทองคำ, เงิน, ทองเหลือง, หิน พระพุทธรูปจำนวนทั้งหมดภายในและภายนอกผอบราวกว่า 700 องค์ จารึกดินเผาบางส่วนกล่าวถึงการรักษาธรรมและเรื่องราวทางพุทธศาสนา[6]

หนึ่งในแผ่นดินเผาที่ได้จากกรุซึ่งมีรูปพระพุทธรูปและแม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากอายุและความชื้นก็ตาม ด้านหลังมีตัวอักษรที่ถูกจารึกไว้ซึ่งใกล้เคียงกับอักษรพราหมีแถบอินเดียตอนใต้ เป็นหลักฐานสำคัญของสมัยโบราณและได้รับการตีความโดย อูลูเปวิน ผู้อำนวยการนักโบราณคดี สมัยรัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า ซึ่งชี้ให้เห็นคำว่า "e" จาก "evam vadi" แสดงให้เห็นถึงตัวอักษรลักษณะแบบมอญโบราณ เป็นหลักฐานที่พิสูจน์ความเชื่อที่ว่าผู้สร้างเจดีย์ในสมัยโบราณคือชาวมอญ[6]

หลังการประชุมและหารือผู้นำทางศาสนา 15 คน จึงมีมติให้เปิดผอบต่อหน้าทุกคนในคณะกรรมการ การเปิดผอบมีการระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง เมื่อผอบหินถูกเปิดพบว่าภายในมีผอบสีทองซ้อนอีกชั้นหนึ่ง เป็นผอบลักษณะคล้ายกับผอบหินภายนอก เป็นทรงสถูปลักษณะคล้ายเจดีย์ ฝีมือประณีต แสดงให้เห็นถึงความเลื่อมใสในศาสนา โคลนบางส่วนได้ซึมมาด้านข้างและฐานชั้นนี้ เมื่อล้างและร่อนด้วยตะแกรงจึงพบหินมีค่า ทอง และอัญมณีรอบฐานชั้นนี้ ผอบชั้นที่สองถูกเปิดภายในพบสถูปทองคำบริสุทธิ์ขนาดเล็กตั้งอยู่บนถาดเงิน และข้างสถูปทองคำมีรูปหินแกะสลักสูง 4½ นิ้ว เป็นฝีมือโบราณขั้นสูง[6]

เมื่อสถูปทองถูกเปิดออกก็พบกระบอกทองคำขนาดเล็ก ยาว 3/4 นิ้ว (19 มิลลิเมตร) มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 5/12 นิ้ว (11 มิลลิเมตร) ภายในกระบอกพบพระธาตุขนาดเล็กสององค์ ขนาดเล็กเท่าเมล็ดมัสตาร์ด และสิ่งที่เชื่อว่าเป็นพระเกศาของพระพุทธเจ้า เป็นเส้นพระเกศาม้วนเป็นวงกลมและยึดติดเล็กน้อยกับยางรักที่ซึ่งเห็นเป็นจุดทองฉาบปิดไว้[6]

โครงสร้าง

[แก้]

เจดีย์ใหม่มีการออกแบบให้มีลักษณะตามเดิมและสูง 131 ฟุต 8 นิ้ว (40.13 เมตร) บนฐาน 96 ฟุต (29 เมตร) × 96 ฟุต (29 เมตร) แหล่งท่องเที่ยวหลักคือภายในของเจดีย์ซึ่งกลวง ทางเดินมีลักษณะเหมือนเขาวงกต ผนังบุด้วยทองคำมีกระจกกั้น ภายในแสดงโบราณวัตถุและสิ่งประดิษฐ์โบราณจำนวนมากที่เคยฝังไว้ภายในเจดีย์ก่อนหน้านี้[1]

คลังภาพ

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 "Botataung Pagoda". Myanmar Travel Information Committee. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ January 1, 2009. สืบค้นเมื่อ 2009-02-05.
  2. 2.0 2.1 2.2 "Yangon Visit Botahtaung Pagoda". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-12. สืบค้นเมื่อ 2018-09-02.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 History lures visitors to Botahtaung Pagoda. Myanmar Time[ลิงก์เสีย]
  4. 4.0 4.1 "เจดีย์โบดาทาวน์ ณ กรุงย่างกุ้ง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-07-17. สืบค้นเมื่อ 2021-10-05. {{cite web}}: ตรวจสอบค่า |url= (help)
  5. yangons botataung paya
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 Ohn Ghine (1953). "Shrines of Burma: The Botataung Pagoda". 1 (2). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-11-13. สืบค้นเมื่อ 2009-02-12. {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help)