จารกรรม
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
จารกรรม (อังกฤษ: espionage หรือ spying) คือ การล้วงความลับจากคู่แข่งหรือศัตรูเพื่อความได้เปรียบทางการทหาร การเมือง หรือเศรษฐกิจ
จารชน (spy) คือ บุคคลที่รัฐส่งไปล้วงความลับจากศัตรูหรือฝ่ายที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นศัตรู โดยเฉพาะอย่างยิ่งความลับทางการทหาร แต่อาจรวมถึงการล้วงความลับจากต่างบริษัท เรียกว่า จารกรรมทางอุตสาหกรรม หลายประเทศส่งสายลับเข้าไปในประเทศอื่นทั้งประเทศที่เป็นมิตรและศัตรู แม้ว่าจะไม่เป็นที่เปิดเผย จารชนนี้อย่างอื่นก็เรียก เช่น สายลับ, คนสอดแนม, อุปนิกขิต หรือ อุปนิกษิต
เรื่องราวเกี่ยวกับจารกรรมปรากฏในประวัติศาสตร์ตลอดมา ซุนวูกล่าวถึงการหลอกลวงและการบ่อนทำลาย อียิปต์โบราณพัฒนาระบบของการได้มาซึ่งข่าวกรอง โดยชาวฮิบรูก็ใช้ระบบนี้
โดยทั่วไป จารกรรมที่กระทำโดยพลเมืองของประเทศเป้าหมาย ถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการกบฏ หลายประเทศถือว่าจารกรรมเป็นความผิดอาญา ต้องได้รับโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต ตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกากำหนดให้จารกรรมเป็นความผิดอาญาขั้นอุกฤษฏ์โทษ อย่างไรก็ตาม ผู้ต้องหามักได้รับข้อเสนอลดหย่อนโทษโดยแลกกับข้อมูลข่าวสาร
ในสหราชอาณาจักร จารชนต่างชาติจะได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 14 ปี ภายใต้ พระราชบัญญัติความลับของทางราชการ ขณะที่จารชนชาวอังกฤษที่เป็นสายลับให้ต่างชาติ และพิสูจน์ได้ว่าช่วยเหลือศัตรู จะถูกพิพากษาในข้อหาการกบฏ รับโทษสูงสุดจำคุกตลอดชีวิต นอกจากนี้ จารชนที่ทำงานให้ผู้ก่อการร้ายยังถือว่ากระทำผิดพระราชบัญญัติการก่อการร้าย ค.ศ. 2000
ในระหว่างสงครามเย็น มีความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับจารกรรมบ่อยครั้ง ส่วนใหญ่เกี่ยวพันกับความลับด้านอาวุธนิวเคลียร์ ปัจจุบันใช้สายลับกับการค้ายาเสพติดโดยผิดกฎหมายและการก่อการร้าย
จารชนที่ปรากฏในบันเทิงคดี
[แก้]เนื่องจากชีวิตจริงของจารชนไม่เป็นที่เปิดเผยมากนัก เราจึงรู้จักบุคลิกของจารชนจากวรรณกรรมและภาพยนตร์ในคริสต์ศตวรรษที่ 20-21 ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ชีวิตสันโดษ บางครั้งไม่ยึดในกฎเกณฑ์ เป็นวีรบุรุษที่มีแนวคิดอัตถิภาวนิยม เจมส์ บอนด์ ตัวละครเอกในนวนิยายของ เอียน เฟลมมิ่ง อาจถือได้ว่าเป็นจารชนที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกของบันเทิงคดี