ข้ามไปเนื้อหา

อาชีวเวชศาสตร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

อาชีวเวชศาสตร์ (อังกฤษ: occupational medicine) เป็นวิชาการแพทย์แขนงหนึ่ง ว่าด้วยเรื่องการดูแลสุขภาพของคนทำงาน วิชาอาชีวเวชศาสตร์นี้ ครอบคลุมตั้งแต่การส่งเสริม ป้องกันโรค การรักษาโรค และการฟื้นฟูสุขภาพของคนทำงาน แต่เนื่องจากปัญหาโรคจากการทำงานส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาที่ป้องกันได้ องค์ความรู้ของวิชานี้ในปัจจุบันจึงเน้นหนักไปทางการป้องกันโรคเป็นหลัก และวิชาอาชีวเวชศาสตร์ถูกจัดว่าเป็นแขนงหนึ่งของวิชาเวชศาสตร์ป้องกันด้วย แพทย์เฉพาะทางที่มีความเชี่ยวชาญในวิชาอาชีวเวชศาสตร์นั้นเรียกว่าอาชีวแพทย์

ความเป็นมาของอาชีวเวชศาสตร์

[แก้]

ความสนใจในปัญหาสุขภาพของคนงานนั้น มีเกิดขึ้นเนื่องจากมีผู้สังเกตเห็นว่าการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม คนงานแต่ละคนจะต้องสัมผัสกับสารเคมีพิษ ฝุ่นละออง เสียงดัง การทำงานออกแรงในท่าทางต่างๆ ซ้ำๆ กันเป็นเวลานาน สิ่งคุกคามต่อสุขภาพแบบต่างๆ ซึ่งจะทำให้คนงานแต่ละคนเกิดโรคจากการทำงาน (occupational disease) ขึ้น ตามความเสี่ยงของลักษณะงานที่ทำ นายแพทย์ชาวอิตาลีชื่อ Bernardino Ramazzini เป็นคนแรกที่จุดประเด็นความสนใจนี้ขึ้น โดยได้เขียนสิ่งที่เขาค้นพบไว้ในหนังสือชื่อ De Morbis Artificum Diatriba (แปลว่า "โรคของคนทำงาน") ซึ่งตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1713[1] จากเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ ทำให้แพทย์หันมาให้ความสนใจกับการดูแลสุขภาพของคนทำงานมากขึ้น และนายแพทย์ Bernardino Ramazzini ถูกยกย่องให้เป็นผู้ให้กำเนิดวิชาอาชีวเวชศาสตร์

ขอบเขตของวิชาอาชีวเวชศาสตร์

[แก้]

ปัจจุบันวิชาอาชีวเวชศาสตร์มีขอบเขตของเนื้อหาวิชาการดังนี้

  • โรคปอดจากการทำงาน เช่น ปอดฝุ่นหิน ปอดใยหิน ปอดฝุ่นฝ้าย ปอดชานอ้อย
  • โรคกระดูกและกล้ามเนื้อจากการทำงาน
  • โรคผิวหนังจากการทำงาน
  • โรคมะเร็งจากการทำงาน
  • โรคของระบบอวัยวะอื่น ๆ จากการทำงาน เช่น โรคตา โรคของระบบสืบพันธุ์ โรคระบบประสาท
  • โรคจากสิ่งคุกคามทางกายภาพ เช่น เสียงดัง ความสั่นสะเทือน รังสี ความกดอากาศ
  • โรคจากพิษของสารเคมี เช่น เบนซีน โทลูอีน ไซลีน, โรคจากสารโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว ปรอท แคดเมี่ยม
  • โรคติดเชื้อจากการทำงาน
  • โรคจากปัญหาการจัดท่าทางในการทำงาน และการใช้วิชาการยศาสตร์ (ergonomics) ในการแก้ไขปัญหา
  • โรคจากปัญหาทางจิตสังคมในที่ทำงาน การทำงานกะดึก การทำงานผิดเวลา (shift work)
  • การตรวจสุขภาพคนทำงาน เช่น การตรวจสุขภาพก่อนเข้างาน การตรวจสุขภาพประจำปี การตรวจสุขภาพก่อนเกษียณ
  • การดูแลผู้ป่วยก่อนกลับเข้าทำงาน (return to work) และ การประเมินความพร้อมในการทำงาน (fitness for work)
  • การวินิจฉัยโรคจากการทำงาน
  • การตรวจร่างกายเพื่อประเมินความสูญเสียสมรรถภาพ
  • การจัดโปรแกรมดูแลสุขภาพคนทำงาน
  • การวิจัยเพื่อเพิ่มพูนองค์ความรู้ใหม่

ความสัมพันธ์ระหว่างอาชีวเวชศาสตร์กับอาชีวอนามัย

[แก้]

อาชีวเวชศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งของงานอาชีวอนามัย กล่าวคือ อาชีวอนามัย (occupational health) หมายถึงการดูแลสุขภาพอนามัยของคนทำงาน ผู้ดำเนินการคือผู้มีความรู้ทางด้านสาธารณสุขจากสาขาวิชาชีพใดก็ตาม ส่วนอาชีวเวชศาสตร์มีความหมายเฉพาะลงไป หมายถึงการดำเนินการดูแลสุขภาพของคนทำงานโดยใช้ศาสตร์ทางด้านการแพทย์ ดำเนินการโดยแพทย์เท่านั้น [2] ซึ่งจะต้องมีการตรวจร่างกายผู้ป่วย การส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการการป้องกัน การรักษา การฟื้นฟู การส่งต่อผู้ป่วยอันเกี่ยวเนื่องจากโรคจากการทำงาน หรือการเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานกับแพทย์สาขาอื่น หรือบริการสุขภาพอื่น ๆ รวมอยู่ด้วย ความสัมพันธ์ของอาชีวอนามัยกับอาชีวเวชศาสตร์ อาจเปรียบเทียบได้กับศาสตร์ทางการแพทย์สาขาอื่นเช่น ความสัมพันธ์ของนิติวิทยาศาสตร์กับนิติเวชศาสตร์ หรือจิตวิทยากับจิตเวชศาสตร์ เป็นอาทิ

อ้างอิง

[แก้]
  1. http://ajph.aphapublications.org/cgi/reprint/91/9/1382.pdf
  2. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-03-07. สืบค้นเมื่อ 2010-10-19.