ข้ามไปเนื้อหา

หุ่นไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

หุ่นไทย คือ รูปแบบจำลอง ทำคล้ายของจริง ประดิษฐ์ด้วยวิธีปั้น หรือแกะสลัก ใช้ในการเล่นมหรสพ เคลื่อนไหวด้วยการปักหรือเชิด บังคับให้เคลื่อนไหวเพื่อแสดงเป็นเรื่องราว การนำหุ่นมาแสดงระยะแรกยังไม่สามารถเคลื่อนไหวได้มาก เป็นลักษณะหุ่นนิ่ง ต่อมาดัดแปลงแก้ไขจนสามารถเคลื่อนไหวเลียนแบบการเคลื่อนไหวของคนหรือสัตว์

ประวัติการสร้างหุ่นมีหลักฐานว่ามีตั้งแต่สมัยสุโขทัย แต่ไม่เรียกว่า "หุ่น" เรียกว่า "กทำยนตร" [ต้องการอ้างอิง] คำว่า "หุ่น" มาปรากฏในสมัยอยุธยาตอนต้นช่างที่ทำหุ่น เรียกว่า "ช่างหุ่น" เป็นช่างหนึ่งในช่างสิบหมู่ และมีหลักฐานการเชิดหุ่นในสมัยอยุธยาตอนกลางแต่ยังไม่มีเสียง การเคลื่อนไหวไม่แนบเนียน มาเริ่มแพร่หลายชักหุ่นเชิดในสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์ ราวรัชกาลที่ 1 จนถึงรัชกาลที่ 7 การสร้างตัวหุ่น นิยมสร้างโดยจำลองจากตัวละครในวรรณคดี หรือจำลองจากตัวโขนในเรื่องรามเกียรติ์ เลียนแบบตั้งแต่เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ ตลอดจนลีลาท่ารำ

สมัยอยุธยา หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดที่กล่าวถึงการเล่นหุ่นในประเทศไทย คือ จดหมายเหตุของบาทหลวงตาชาร์ด ราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเดินทางมากรุงศรีอยุธนา เมื่อ พ.ศ. 2228 และจดหมายเหตุของลาลูแบร์ อัครราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งประเทศฝรั่งเศส เดินทางมากรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. 2230 ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยาจดหมายเหตุทั้งสองฉบับได้บันทึกถึงการเล่นหุ่น เอกสารดังกล่าวทำให้สันนิษฐานได้ว่าการเล่นหุ่นอาจเกิดก่อนสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชและได้มีการแสดงเรื่อยมา แต่จะเป็นรัชสมัยของพระมหากษัตริย์พระองค์ใดไม่มีหลักฐานยืนยัน จึงอาจสรุปได้ว่ามีการแสดงหุ่นตั้งแต่บัดนั้นเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน นับเป็นเวลาประมาณ 300 ปี

ในรัชสมัยพระเจ้าตากสินมหาราชแห่งกรุงธนบุรี หลักฐานการเล่นหุ่นในงานพระราชพิธีต่าง ๆ ปรากฏอยู่ในหมายรับสั่งหลายฉบับ เช่น พ.ศ. 2319 พระราชพิธีพระราชทานพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระพันปีหลวง กรมหลวงพิทักเทพามาต (พระมารดา) ณ วัดบางยี่เรือนอก ให้มีการแสดงโขน งิ้ว หนังกลางวัน [ต้องการอ้างอิง] และหุ่นพระราชพิธีอัญเชิญพระแก้วมรกตจากนครเวียงจันทน์ ประเทศลาว มาประดิษฐานในพระราชวังกรุงธนบุรี เมื่อ พ.ศ. 2322 [ต้องการอ้างอิง] มีการมหรสพสมโภชพระแก้วมรกตโดยมีการเล่นมหรสพต่าง ๆ รวมถึงการแสดงหุ่นด้วย

เหตุการณ์สำคัญที่มีผลต่อประวัติศาสตร์การมหรสพไทย

[แก้]

พ.ศ. 2452 เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ (ม.ร.ว หลาน กุญชร) เจ้ากรมมหรสพ เจ้ากรมหุ่นหลวง เจ้ากรมโขน เจ้ากรมรำโคม และเจ้ากรมปี่พาทย์ เจ็บป่วยทุพพลภาพ ต้องถวายบังคมลาออกจากราชการเลิกเล่นโขนละครทั้งปวง และถึงแก่อสัญกรรมใน พ.ศ. 2465 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ไม่โปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งผู้ใดมาเป็นเจ้ากรมแทน ทำให้การมหรสพ หุ่น โขน และปี่พาทย์ ขาดการกำกับดูแลส่งเสริมอย่างใกล้ชิด [ต้องการอ้างอิง]

พ.ศ. 2475 สมัยการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบบ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีการปรับปรุงหน่วยงานราชการให้มีประสิทธิภาพและประหยัดงบประมาณ อาจเป็นเหตุให้มหรสพทุกชนิดของราชการตกต่ำมากที่สุด มหรสพและการละเล่นหลายประเภทขาดผู้สืบทอด ส่งผลให้มหรสพและการละเล่นบางอย่างหายไปจากประเทศไทย ได้แก่การเล่นหุ่นหลวง มอญรำ เทพทอง รำโคม ระเบง โมงครุ่ม กุลาตีไม้ ไม้ลอย ญวนหก นอนหอก นอนดาบ ไต่ลวด กระอั้วแทงควาย แทงวิสัย วิ่งวัว และขี่ช้างไล่ม้า เป็นต้น

ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวได้มีกลุ่มปัญญาชนไทย ที่มองเห็นการณ์ไกลได้พยายามสนับสนุน ให้มีการสืบทอดศิลปะการแดสงมหรสพของไทย ได้แก่ ละครนอก หนังใหญ่ หุ่นกระบอก และหุ่นละครเล็กให้อยู่คู่สังคมไทยมาจนปัจจุบันนี้ บุคคลที่ควรแก่การยกย่องอย่างยิ่ง คือ ศาสตาจารย์พระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ), หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช, นายธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร และอาจารย์มนตรี ตราโมท ศิลปินแห่งชาติ สาขาดนตรีไทย

ประเภทของหุ่นไทยตามประเพณีแต่ดั้งเดิมนั้นมีหลายชนิด ได้แก่ หุ่นหลวงหรือหุ่นใหญ่ หุ่นกระบอก หุ่นละครเล็ก หุ่นหนัง[1] อันได้แก่ หนังใหญ่ หนังตะลุง สำหรับในปัจจุบันนี้ มีหุ่นเกิดขึ้นอีกหลายประเภท เช่นหุ่นละครอย่างตะวันตก ซึ่งแสดงเนื้อเรื่องแบบสมัยใหม่ บางครั้งก็ล้อเลียนสังคม หรือหุ่นสำหรับเด็ก เป็นต้น

การบังคับให้หุ่นเคลื่อนไหว

[แก้]

แยกพิจารณาได้ดังต่อไปนี้

  1. วิธีบังคับจากสายโยง วิธีนี้คนบังคับจะอยู่เหนือโรง และหุ่นที่บังคับด้วยสายโยงมักเป็นหุ่นที่มีรูปร่างหน้าตาเหมือนคนจริงแต่มีขนาดเล็ก โรงแสดงหุ่นก็จำลองให้มีขนาดเล็กสัมพันธ์กับขนาดของหุ่น สายโยงที่บังคับจะผูกติดกับอวัยวะต่างๆของหุ่น ห้อยลงมา
  2. วิธีบังคับด้วยมือ วิธีนี้จะสร้างตัวหุ่นให้ภายในกลวง ให้มือล้วงเข้าไปในหุ่นได้ และบังคับให้เคลื่อนไหวด้วยการเคลื่อนไหวของมือที่สอดเข้าไปในตัวหุ่น
  3. วิธีบังคับด้วยก้านไม้และสายโยง หุ่นประเภทนี้จะมีลักษณะคล้ายประเภทแรก ต่างกันที่กลไกบังคับตัวหุ่น คือมีก้านไม้เสียบติดตัวเป็นแกนและมีสายโยงติดกับอวัยวะต่างๆเพื่อบังคับให้เคลื่อนไหว
  4. วิธีบังคับด้วยก้านไม้และใช้เงาดำผสม ตัวหุ่นจะต่างจากหุ่นชนิดอื่นตรงที่ไม่มีความกลม มีลักษณะแบน ทำด้วยแผ่นหนัง แผ่นกระดาษ หรือแผ่นกระดาน เราเรียกหุ่นชนิดนี้ว่า "หุ่นหนัง" มีลวดลายฉลุอยู่บนตัวหุ่น การบังคับใช้ก้านไม้ติดตรึงกับตัวหุ่น คนเชิดจะชูตัวหุ่นไว้เหนือหัว เต้นพร้อมกับเชิดไปตามดนตรีและบทขับร้อง ในการแสดงต้องมีจอผ้าขาว ให้แสงสว่างอยู่เบื้องหลัง ให้เกิดเงาของหุ่นปรากฏบนจอ

อ้างอิง

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

ดูเพิ่ม

[แก้]