ข้ามไปเนื้อหา

หยาง เหวินหลี่

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หยาง เหวินหลี่
Yang Wen-li
ตัวละครใน ตำนานวีรบุรุษกาแล็กซี
สร้างโดยโยชิกิ ทานากะ
ให้เสียงโดยทากาชิ โทมิยามะ (1988 OVA)
เค็นอิจิ ซูซูมูระ (2018 DNT)
ประวัติ
ญาติหยาง ไท่หลง (บิดา)
สัญชาติเสรีพันธมิตรดาวเคราะห์
ฉายาพ่อมดไร้พ่าย
หยางแห่งปาฏิหาริย์
วีรบุรุษแห่งอัสทาร์ท
วีรบุรุษแห่งเอลฟาซีล
ข้อมูล
วันเกิด4 เมษายน ปีอวกาศ 767
สังกัดกองทัพเสรีพันธมิตรดาวเคราะห์
กองทัพเอลฟาซีลเผื่อการปฏิวัติ
ยศทหารจอมพล (Fleet Admiral)
เรือธงเลดา 2 (Leda II)
ไฮพีเรียน (Hyperion)

หยาง เหวินหลี่ (Yang Wen-li; 楊文里) เป็นตัวละครเอกในวรรณกรรมชุด ตำนานวีรบุรุษกาแล็กซี หยางได้รับการยอมรับเป็นทหารที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติและมีความสามารถทัดเทียมกับไรน์ฮาร์ด ฟอน โลเอินกรัมม์ ตัวเอกฝั่งจักรวรรดิ หยางยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอย่างไม่สั่นคลอนตลอดช่วงชีวิต เขารับรู้ว่าคณะรัฐบาลจากการเลือกตั้งมีการทุจริตอย่างมโหฬาร แต่ก็ปฏิเสธที่จะยึดอำนาจมาเป็นของตัวเองทั้งที่มีโอกาสเหลือเฟือ

ประวัติ

[แก้]

หยางเหวินหลี่เป็นบุตรของหยางไท่หลง[1] เจ้าของเรือพาณิชยนาวีอวกาศ ส่วนมารดาเสียชีวิตจากโรคหัวใจเฉียบพลันตั้งแต่เขาอายุห้าขวบ เขาจึงใช้ชีวิตในวัยเด็กอยู่บนยานพาณิชย์อวกาศของบิดา เด็กชายหยางรักการอ่านหนังสือ และชอบประวัติศาสตร์เป็นพิเศษ และเกิดความสงสัยต่อการขึ้นสู่อำนาจของจักรพรรดิรูดอล์ฟ

เมื่อเขาอายุได้สิบหกปี บิดาก็อนุญาตให้เขาเตรียมเข้าเรียนสาขาวิชาประวัติศาสตร์ในมหาวิทยาลัย[1] หยางจึงตั้งเป้าหมายชีวิตจะเป็นนักวิชาการและอาจารย์วิชาประวัติศาสตร์ แต่แล้วหนึ่งปีหลังจากนั้น บิดาก็เสียชีวิตจากอุบัติเหตุในยานอวกาศ หยางพบว่าบริษัทของบิดามีหนี้สินล้นพ้น และยังพบอีกว่างานศิลปะที่บิดาสะสมไว้จำนวนมากเป็นของเก๊[1] นั่นทำให้หยางเหวินหลี่เข้าสู่ภาวะสิ้นเนื้อประดาตัว และหมดโอกาสเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยทั่วไปได้ดั่งที่เขาหวัง หยางจึงตัดสินใจสมัครเรียนนายร้อยเพื่อเล่าเรียนฟรี

โรงเรียนนายร้อย

[แก้]

หยางเหวินหลี่เข้าศึกษาในภาควิชายุทธคดีศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยเสรีพันธมิตรดาวเคราะห์ อย่างไรก็ตาม เมื่อจบชั้นปีที่สอง ภาควิชายุทธคดีศึกษาถูกยุบ[1] หยางถูกสั่งให้ย้ายไปภาควิชากลยุทธ์ หยางรู้สึกน้อยใจที่อะไรๆก็ไม่เป็นดั่งเขาตั้งความหวัง นอกจากวิชายุทธคดีศึกษา วิชาอื่นเขาก็ทำได้ไม่ค่อยดีนัก เขาจบการศึกษาในปีการศึกษา 787 ด้วยอันดับกลางๆของชั้นเรียน[1]

วีรบุรุษแห่งเอลฟาซีล

[แก้]

หลังจบการศึกษาในปีอวกาศ 787 หยางได้ติดยศร้อยตรี และเข้าประจำการในแผนกสารประวัติและสถิติ ศูนย์ยุทธนาธิการ หยางทำงานที่นี่ครบหนึ่งปีก็ได้เลื่อนยศเป็นร้อยโทตามระเบียบปกติ และถูกส่งไปเป็นนายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บัญชาการกองเรือรักษาการณ์ที่ระบบดาวเอลฟาซีล ซึ่งเป็นดินแดนในระเบียงอีเซอร์โลน

ในปีนั้นเอง ระบบดาวเอลฟาซีลถูกกองเรือจักรวรรดิรุกราน กองเรือทั้งสองฝ่ายปะทะกันย่อมๆแล้วก็ถอนกำลังโดยที่ไม่มีฝ่ายได้ได้เปรียบ แต่แล้วกองเรือจักรวรรดิกลับหวนกลับมาตีท้ายกองเรือเสรีพันธมิตรอย่างไม่ทันตั้งตัว พลตรีลินช์ ผู้บัญชาการกองเรือฯ ตื่นตระหนกรีบนำเรือธงหนีกลับดาวเคราะห์เอลฟาซีลโดยไม่ได้ทิ้งคำสั่งให้กองเรือ ทำให้สายบัญชาการกองเรือเกิดความวุ่นวาย เรือบางลำตัดสินใจหนีตามเรือธง ลำที่หนีไม่ทันก็จำนนต่อจักรวรรดิ พลตรีลินช์นำเรือรบกลับมาถึงเอลฟาซีลได้เพียง 200 ลำเศษพร้อมทหารอีก 50,000 นายเท่านั้น[1] ขณะที่กองเรือจักรวรรดิได้รับกำลังเสริมจนมีจำนวนเพิ่มขึ้นและเริ่มเข้ายึดน่านอวกาศโดยรอบ พลตรีลินช์ไล่หยางลงจากเรือธงและให้เป็นผู้รับผิดชอบการอพยพพลเรือน จากนั้นลินช์นำนำกองเรือหนีจากดาวเคราะห์เอลฟาซีล โดยทิ้งหยางและพลเรือนสามล้านคนไว้เผชิญชะตากรรม[1] ร้อยโทหยางคิดแผนและสั่งภาคพื้นดินดำเนินตามแผนของเขา โดยใช้เรือบรรทุกและเรือขนส่งสินค้าทำการอพยพประชาชนหนีออกจากเอลฟาซีลในทิศตรงข้ามกับกองเรือลินช์โดยปิดระบบสเตลธ์ทั้งหมด แน่นอนว่ากองเรือจักรวรรดิตรวจพบฝูงเรือของหยางแต่คิดว่านั่นเป็นแค่กลุ่มวัตถุอวกาศ[1] กองเรือจักรวรรดิจึงสนใจแต่กองเรือของลินช์ ทำให้ฝูงเรือของหยางหลบหนีได้อย่างปลอดภัย หยางมีชื่อเสียงดังทั่วทั้งประเทศและได้ฉายา "วีรบุรุษแห่งเอลฟาซีล" เขาได้เลื่อนสองชั้นยศเป็นพันตรี[1]

ทหารดาวรุ่ง

[แก้]

พฤศจิกายน ปีอวกาศที่ 788 มีจดหมายถึงศูนย์ยุทธนาธิการหลายฉบับอ้างว่า จอมพลบรูซ แอชบีย์ วีรบุรุษผู้ล่วงลับของชาติ ไม่ได้ตายในการรบ แต่ถูกจัดฉากฆาตกรรม พันตรีหยางถูกมอบหมายคดีนี้ และเดินทางไปสอบสวนผู้ที่มีชีวิตอยู่ในยุคของแอชบีย์ ที่ค่ายเชลยสงครามในดาวเคราะห์เอโกเนีย ซึ่งที่นั่น หยางต้องรับมือกับการก่อกำเริบของพวกเชลย หยางสามารถจัดการสถานการณ์ได้ในเวลาอันสั้น และได้รับการเลื่อนขั้นเป็นพันโท เขาประจำอยู่ที่เอโกเนียเพียงสองสัปดาห์เท่านั้น ในการนี้ เขาได้รู้จัดกับฟิโอดอร์ ปาตริชอฟ และมูไร ซึ่งจะกลายเป็นขุนพลคนสำคัญของเขาในอนาคต

1 มีนาคม ปีอวกาศที่ 789 พันโทหยางได้รับแต่งตั้งเป็นนายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บัญชาการกองเรือที่ 8 (พลโทซิดนีย์ ซีโทเล) และได้มีส่วนร่วมในยุทธการอีเซอร์โลนครั้งที่ 5 ในปีอวกาศ 792 และได้เลื่อนยศเป็นพันเอกในปีนั้น ต่อมาพันเอกหยางได้รับแต่งตั้งเข้าสังกัดกองบัญชาการกองเรืออวกาศ ตำแหน่งนายทหารฝ่ายยุทธการภายใต้เสนาธิการกองเรืออวกาศ (พลเอกดไวต์ กรีนฮิลล์) และมีส่วนร่วมร่างแผนการยุทธในยุทธการวันฟรีดและยุทธการอีเซอร์โลนครั้งที่ 6 ในศึกครั้งหลัง เขาเกือบสามารถทำลายหมวดเรือจักรวรรดิของพลตรีไรน์ฮาร์ด ฟอน มือเซิล แต่พลตรีมือเซิลยอมเสียเรือหนึ่งในสามตีฝ่าออกมา หยางจึงได้เลื่อนยศเป็นพลจัตวา

ยุทธการที่เล็กนีซา

[แก้]

ปีอวกาศ 795 พลจัตวาหยางถูกส่งไปประจำกองเรือที่ 2 ของพลโทพาเอ็ตตาในตำแหน่งฝ่ายเสนาธิการ พลโทพาเอ็ตตาไม่ค่อยชอบใจหยาง มองว่าเขาอ่อนประสบการณ์และเพิกเฉยคำแนะนำของเขา แต่เมื่อกองเรือที่ 2 ถูกส่งไปปฏิบัติภารกิจที่ดาวเคราะห์ก๊าซเล็กนีซา (Legnica) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนยึดปราการอีเซอร์โลน กองเรือที่ 2 ก็เผชิญหน้ากับกองเรือจักรวรรดิของพลเอกไรน์ฮาร์ด ฟอน มือเซิล ความร้อนจากการปะทะกันย่อมๆ ได้ไปทำปฏิกิริยาชั้นบรรยกาศของดาวที่เป็นก๊าซฮีเลียมและไฮโดรเจนเกิดเป็นพายุสายฟ้าที่รุนแรง ไรน์ฮาร์ดซึ่งรู้ว่าปรากฏการนี้จะเกิดขึ้นได้ถอนกำลังออกมายังชั้นบรรยกาศที่ปลอดภัยก่อน ส่วนพาเอ็ตตาไม่ยอมเชื่อฟังคำแนะนำของหยาง ทำให้กองเรือที่ 2 ตกอยู่ในกระแสพายุและได้รับความเสียหาย

หยางนึกกลัวว่า กองเรือจักรวรรดิสามารถกวาดล้างกองเรือที่ 2 ได้ในพริบตาเดียวเพียงแค่จุดประกายไฟที่ชั้นบรรยกาศฮีเลียมของเล็กนีซา แม้หยางไม่คิดว่าจะมีแม่ทัพจักรวรรดิคนไหนฉลาดพอจะคิดแผนนั้นขึ้นมาได้ แต่เขาก็ยังคงเสนอให้ถอนกำลังออกจากชั้นบรรยกาศเพื่อปลอดภัยไว้ก่อน ซึ่งพาเอ็ตตาก็ปฏิเสธความคิดนั้น ท้ายที่สุด ไรน์ฮาร์ดยิงหัวรบนิวเคลียร์สู่ใจกลางดาว เมื่อตกอยู่ในอันตราย หยางและเพื่อนร่วมงานของเขา พันตรีดัสตีย์ แอตเทนบะระ ตอบสนองรีบนำกองเรือขึ้นจากชั้นบรรยกาศโดยทันที กองเรือบางส่วนจึงรอดมาได้ และมีบางส่วนที่ติดอยู่ในเปลวไฟ

วีรบุรุษแห่งอัสทาร์ท

[แก้]

1 มกราคม ปีอวกาศที่ 796 กองทัพเสรีพันธมิตรจัดสามกองเรือออกต่อต้านการรุกรานของกองทัพจักรวรรดิที่ระบบดาวอัสทาร์ท พลจัตวาหยางซึ่งมีตำแหน่งเป็นรองหัวหน้าฝ่ายเสนาธิการประจำผบ.กองเรือที่ 2 มองว่าแม้ฝ่ายเสรีพันธมิตรจะมีกำลังมากกว่าในภาพรวม แต่เทียบกันกองต่อกองแล้วฝ่ายจักรวรรดิมีกำลังมากกว่า หยางพยายามเสนอแผนเพื่อปิดจุดอ่อนนี้แก่พลโทพาเอ็ตตา แต่นายพลโทไม่รับฟัง

กองเรือจักรวรรดิของพลเอกอาวุโสไรน์ฮาร์ด ฟอน โลเอินกรัมม์ ใช้กลยุทธ์ตัวต่อตัวจัดการกองเรือที่ 4 และ 6 และเข้าปะทะกับกองเรือที่ 2 ที่หยางสังกัดอยู่ พลโทพาเอ็ตตาได้รับบาดเจ็บหนัก หยางจึงเข้าบัญชาการกองเรือแทน หยางเตรียมแผนรับมือการถูกทะลวงกลางทัพและกระจายแผนดังกล่าวไว้ในคลังยุทธวิธีของเรือทุกลำก่อนการปะทะแล้ว เมื่อเห็นว่าไรน์ฮาร์ดตั้งใจจะทะลวงกลางทัพ แผนดังกล่าวก็ถูกนำมาปฏิบัติทันที แผนของหยางพลิกสถานการณ์ของกองเรือที่ 2 จากเป็นฝ่ายเสียเปรียบมาเป็นฝ่ายได้เปรียบ แต่ไรน์ฮาร์ดก็พลิกกลับมาตีเสมอได้ เมื่อเห็นว่าต่างฝ่ายต่างเอาชนะกันไม่ได้ ทั้งสองจึงแยกย้าย

หยางได้รับฉายา "วีรบุรุษแห่งอัสทาร์ท" และได้เลื่อนยศเป็นพลตรี และได้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองเรือที่ 13 ซึ่งเป็นกองเรือใหม่ที่ตั้งขึ้นจากการผสมกำลังพลที่เหลือรอดของอดีตกองเรือที่ 2 และกำลังพลเกณฑ์ใหม่ กองเรือนี้มีจำนวนเรือรบเพียงครึ่งเดียวของกองเรือปกติ

วาทะ

[แก้]
  • "ยามที่รัฐเสริมสร้างกองทัพโดยไม่จำเป็น แล้วใช้กำลังนั้น สยบประชาชนภายในกับคุกคามภายนอก โดยไม่สนความเหลื่อมล้ำทางสังคม ยามนั้นประเทศก็อยู่บนทางล่มสลาย นี่เป็นความจริง ที่ประวัติศาสตร์สามารถพิสูจน์"
  • "ฉันคิดว่าต่อให้เป็นเผด็จการที่ดีที่สุด ก็ยังแย่กว่าประชาธิปไตยที่เลวที่สุด"
  • "ประเทศนี้เป็นประเทศเสรีครับ ถ้าเราไม่อยากยืน เราก็ควรมีสิทธิ์ที่จะไม่ยืน"
  • "เสรีภาพในการอยู่ห่างจากอันตราย คงเป็นเสรีภาพที่มีมากสุดในประเทศนี้"
  • "การเมืองก็เหมือนท่อน้ำทิ้ง ขาดไม่ได้ แต่ก็ไม่อยากเอามือไปโดน"
  • "การเมืองทุจริต ไม่ใช่การที่นักการเมืองรับสินบน เพราะนั่นเป็นการทุจริตส่วนบุคคล แต่ภาวะที่วิจารณ์นักการเมืองที่รับสินบนไม่ได้ต่างหาก ที่เรียกว่าการเมืองทุจริต"
  • "กองทัพคือเครื่องมือเพื่อความรุนแรง และความรุนแรงก็มีสองประเภท...ความรุนแรงเพื่อปกครองกดขี่ กับความรุนแรงที่เป็นการปลดปล่อย...น่าเศร้าใจ แต่ประวัติศาสตร์เป็นเครื่องพิสูจน์ เมื่อผู้มีอำนาจเผชิญหน้ากับประชาชน ตัวอย่างที่กองทัพอยู่ข้างประชาชน ไม่ค่อยมีหรอก "

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 1.7 1.8 บทที่ 1 - ในราตรีอันเป็นนิรันดร์ โยชิกิ ทานากะ