ข้ามไปเนื้อหา

ส้วมในประเทศญี่ปุ่น

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สายน้ำที่ถูกออกแบบให้ทำความสะอาดทวารหนักของผู้ใช้ส้วมแบบบิเดต์
ปุ่มควบคุมส้วมญี่ปุ่นสมัยใหม่

ส้วมที่เป็นที่นิยมในประเทศญี่ปุ่นมี 2 แบบ[1][2] ส้วมประเภทที่เก่าแก่ที่สุดเป็นส้วมแบบนั่งยอง ซึ่งปัจจุบันยังพบเห็นทั่วไปในห้องน้ำสาธารณะ ส่วนส้วมชักโครกและโถฉี่แบบตะวันตกเริ่มแพร่หลายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เทคโนโลยีปัจจุบันนิยมสำหรับส้วมแบบตะวันตกคือส้วมแบบบิเดต์ ซึ่งมีติดตั้งถึงร้อยละ 69 ของครัวเรือนญี่ปุ่น[3] [4][5][6] ในญี่ปุ่น ส้วมแบบบิเดต์นี้มักถูกเรียกว่าวอชเลต ซึ่งเป็นยี่ห้อผลิตภัณฑ์ของบริษัท โตโต้ จำกัด และมีความสามารถหลายอย่างเช่น การล้างทวารหนัก การล้างแบบบิเดต์ การอุ่นที่นั่ง และการกำจัดกลิ่น

ชื่อเรียก

[แก้]

ในสมัยโบราณส้วมถูกเรียกว่า "ฮะบะกะริ (はばかり)", "เซตชิง (雪隠)", "โชซุ (手水)" แต่ตั้งแต่สมัยโชวะเป็นต้นมาศัพท์ที่ใช้เรียกส้วมก็ถูกเปลี่ยนเป็นคำที่ใช้ในปัจจุบันเช่น "โอะเตะอะระอิ  (お手洗い)", "เคะโชชิสุ (化粧室)" รวมทั้งเริ่มมีการใช้คำทับศัพท์เช่น "โทะอิเระ (トイレ)" ด้วย

คำว่า “โทะอิเระ” (トイレ) เป็นศัพท์ที่ย่อมาจากคำว่า "toilet" ในภาษาอังกฤษ[7] และสามารถหมายถึงทั้งโถส้วมและห้องที่มีโถส้วมอยู่ คำศัพท์ที่ใกล้เคียงกันคือ “โอะเตะอะระอิ” (お手洗い แปลว่าการล้างมือ) ซึ่งในความหมายอย่างแคบหมายถึงอ่างล้างมือ และเป็นคำแปลที่ยืมมาจากคำว่า "lavatory" ในภาษาอังกฤษ[8] การใช้คำศัพท์นี้คล้ายคลึงกับคำว่า "bathroom" ในภาษาอังกฤษแบบอเมริกันที่ใช้หมายถึงห้องที่มีอ่างอาบน้ำ และ "toilet" ซึ่งหมายถึงการทำความสะอาดตนเอง นอกจากนี้มักพบคำว่า เคะโชชิสุ (化粧室 แปลว่าห้องแต่งหน้า) ซึ่งยืมมาจากคำว่า powder room ตามป้ายในห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ต คำศัพท์พื้น ๆ อีกคำที่หมายถึงส้วมคือคำว่า "เบ็นโจะ" (便所 แปลว่าสถานที่เพื่อความสะดวก หรือสถานที่เพื่อถ่าย) ซึ่งมาจากคำว่า "เบ็น" (便) ซึ่งแปลว่า "ความสะดวก" หรือ "การขับถ่าย" ศัพท์คำนี้ถูกใช้โดยทั่วไป[8] มักใช้ในโรงเรียนประถม สระน้ำสาธารณะ และในสถานที่สาธารณะอื่น ๆ ศัพท์คำนี้ไม่ถือว่าเป็นคำไม่สุภาพ แต่คนส่วนมากนิยมใช้ศัพท์คำอื่นที่ฟังไพเราะกว่า[a]

ส้วมในความหมายของเครื่องสุขภัณฑ์จะถูกเรียกว่า "เบ็งกิ" (便器) ที่นั่งเรียกว่า "เบ็นซะ" (便座)[9] กระโถนสำหรับเด็ก คนชรา หรือผู้ป่วยเรียกว่า "โอะมะรุ" (บางครั้งเขียนว่า 御虎子)

ประเภทของส้วม

[แก้]

ส้วมแบบญี่ปุ่น

[แก้]
ส้วมแบบญี่ปุ่นที่ใช้ในปัจจุบัน มีรองเท้าแตะที่ใช้ในห้องน้ำ ป้ายด้านซ้ายของท่อแนวตั้งเขียนว่า “กรุณานั่งยองใกล้เข้ามาอีกหน่อย”

ส้วมแบบญี่ปุ่นดั้งเดิม (和式, วะชิกิ) คือส้วมแบบนั่งยอง ซึ่งรู้จักในอีกชื่อคือ ส้วมเอเชีย[10] เพราะส้วมแบบนั่งยองเป็นแบบที่พบเห็นได้ทั่วทวีปเอเชีย ส้วมแบบนั่งยองแตกต่างจากส้วมแบบตะวันตกทั้งวิธีสร้างและวิธีใช้ ส้วมนั่งยองมีลักษณะคล้ายโถฉี่ขนาดเล็กซึ่งถูกหมุน 90 องศาและติดตั้งบนพื้น ส้วมแบบญี่ปุ่นส่วนใหญ่ทำจากเครื่องเคลือบดินเผา และในบางแห่ง (เช่นบนรถไฟ) ทำด้วยสเตนเลส ผู้ใช้ต้องนั่งยองบนส้วมโดยหันหน้าเข้าหาด้านที่มีฝาโค้งครึ่งทรงกลม (หรือหันหน้าเข้าหากำแพงด้านหลังส้วมในภาพด้านขวามือ)[11] แอ่งตื้น ๆ ของส้วมจะทำหน้าที่เป็นที่เก็บสิ่งปฏิกูลแทนโถที่มีน้ำของส้วมแบบตะวันตก แต่ส่วนอื่น ๆ เช่นถังกักน้ำ ท่อ และกลไกการปล่อยน้ำเหมือนกันกับส้วมตะวันตก การกดชักโครกจะทำให้น้ำที่ถูกปล่อยออกมากวาดเอาสิ่งปฏิกูลในแอ่งไหลลงไปในหลุมอีกด้านหนึ่ง และทำให้สิ่งปฏิกูลถูกทิ้งไปในระบบน้ำเสีย การกดชักโครกมักใช้วิธีชักคันโยกเช่นเดียวกับส้วมตะวันตก แต่บางครั้งใช้วิธีดึงมือจับหรือเหยียบปุ่มบนพื้นแทน ส้วมญี่ปุ่นจำนวนมากมีการปล่อยน้ำสองแบบคือ “เล็ก” (小) กับ “ใหญ่” (大) ซึ่งแตกต่างกันที่ปริมาณน้ำที่ถูกปล่อยออก แบบแรกสำหรับการถ่ายเบา (ในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “การถ่ายเล็ก”) และแบบหลังสำหรับการถ่ายหนัก (“การถ่ายใหญ่”) บางครั้งผู้ใช้จะเปิดน้ำแบบ “เล็ก” ให้เกิดเสียงขณะปัสสาวะเพื่อสร้างความเป็นส่วนตัว ส้วมแบบนั่งยองนี้มีทั้งแบบที่ติดตั้งในระดับเดียวกับพื้น และอีกแบบติดตั้งบนพื้นที่ยกสูงขึ้นประมาณ 30 ซม.[12] เพื่อให้ง่ายสำหรับผู้ชายเวลายืนปัสสาวะ แต่ทั้งสองแบบก็ใช้สำหรับยืนปัสสาวะได้เหมือนกัน ในห้องน้ำสาธารณะมักมีป้ายบอกให้ “กรุณาก้าวเข้ามาอีกก้าว” เพราะบางครั้งถ้าผู้ใช้นั่งยองห่างจากฝาโค้งมากเกินไปจะทำให้สิ่งปฏิกูลตกนอกส้วม

ส้วมแบบตะวันตก

[แก้]
ท่อด้านบนของแทงก์ของส้วมแบบตะวันตกสามารถช่วยประหยัดน้ำ เพราะผู้ใช้สามารถล้างมือด้วยน้ำที่ไหลไปเติมแทงก์

ในญี่ปุ่น ส้วมชักโครกแบบที่ใช้กันทั่วโลกถูกเรียกว่าส้วมแบบตะวันตก (洋式, โยชิกิ) ปัจจุบันส้วมแบบตะวันตกเป็นที่นิยมใช้ในบ้านชาวญี่ปุ่นมากกว่าส้วมแบบญี่ปุ่น[2][13] แม้ว่าในห้องน้ำสาธารณะ เช่นในโรงเรียน วัด หรือสถานีรถไฟ จะติดตั้งแต่ส้วมแบบญี่ปุ่น แต่ชาวญี่ปุ่นชอบที่จะนั่งในบ้าน[2] โดยเฉพาะผู้สูงอายุและคนพิการซึ่งไม่สามารถนั่งยองนาน ๆ ได้

ส้วมแบบตะวันตกในญี่ปุ่นมักจะมีระบบประหยัดน้ำ เช่นสามารถเลือกปล่อยน้ำแบบ "ใหญ่" กับ "เล็ก" และส่วนใหญ่มักจะเติมน้ำโดยต่อท่อเหนือแทงก์เก็บน้ำ เพื่อให้ผู้ใช้สามารถล้างมือได้

บิเดต์แบบญี่ปุ่น

[แก้]
แผงควบคุมส้วมแบบไร้สายซึ่งมีปุ่มถึง 38 ปุ่มและจอภาพผลึกเหลว

ส้วมแบบสมัยใหม่ในญี่ปุ่น ซึ่งมักถูกเรียกในภาษาญี่ปุ่นว่าวอชเลต (ウォシュレット) หรือ อนซุอิเซ็นโจเบ็นซะ (温水洗浄便座 แปลว่าที่นั่งแบบมีน้ำอุ่นล้าง) เป็นหนึ่งในส้วมที่ก้าวหน้าที่สุดในโลกและมีความสามารถที่น่าทึ่งต่าง ๆ มากมาย[5] Washlet Zoe หนึ่งในผลิตภัณฑ์ของโตโต้ถูกบันทึกไว้ในกินเนสส์บุ๊ค ว่าเป็นส้วมที่ซับซ้อนที่สุดในโลกด้วยความสามารถถึง 7 อย่าง แต่เนื่องจากเป็นรุ่นที่เปิดตัวใน พ.ศ. 2540 ความสามารถจึงอาจจะด้อยกว่ารุ่นล่าสุดอย่าง Neorest[14]

แนวความคิดของส้วมแบบที่มีบิเดต์นั้นมาจากต่างประเทศ และส้วมแบบมีบิเดต์สร้างขึ้นครั้งแรกนอกประเทศญี่ปุ่นใน พ.ศ. 2507 ส่วนยุคสมัยของส้วมไฮเทคที่มีความสามารถต่าง ๆ ในญี่ปุ่นเริ่มขึ้นในทศวรรษที่ 2520[6] โดยการที่โตโต้เปิดตัว วอชเลต รุ่นจีซีรีส์ และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาชื่อวอชเลตก็ถูกใช้เรียกแทนส้วมไฮเทคในญี่ปุ่น ใน พ.ศ. 2545 ร้อยละ 51.7 ของบ้านในประเทศญี่ปุ่นมีส้วมแบบดังกล่าว[15] และมากกว่าจำนวนบ้านที่มีคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล[5][4] ส้วมไฮเทคนี้มีลักษณะคล้ายส้วมชักโครกแบบตะวันตกธรรมดา แต่จะมีความสามารถอื่น ๆ มากมาย เช่น พัดลมเป่า การอุ่นที่นั่ง การนวดด้วยกระแสน้ำ การปรับสายน้ำ ฝาที่นั่งซึ่งเปิดโดยอัตโนมัติ การชักโครกอัตโนมัติ และปุ่มควบคุมแบบไร้สาย[2][16] การควบคุมความสามารถพิเศษเหล่านี้สามารถทำได้โดยใช้แผงควบคุมด้านข้างของที่นั่ง หรือที่ถูกติดตั้งบนผนังใกล้ ๆ[2]

ความสามารถพื้นฐาน
[แก้]

ความสามารถพื้นฐานที่พบเห็นบ่อยที่สุดคือบิเดต์ซึ่งมีลักษณะเป็นแท่งขนาดเท่าดินสอที่สามารถยื่นออกมาจากใต้ฝารองนั่งและฉีดน้ำได้ ท่อนี้จะไม่สัมผัสถูกร่างกายของผู้ใช้ และสามารถทำความสะอาดตัวเองหลังการใช้งาน ผู้ใช้สามารถเลือกให้ล้างทวารหนักหรือล้างอวัยวะเพศหญิงก็ได้[1][4] โดยกดปุ่มคำสั่งนั้น ๆ บนแผงควบคุม ปกติการล้างทั้งสองแบบจะใช้ท่อเดียวกันแต่ตำแหน่งท่อต่างกัน และใช้การฉีดน้ำคนละมุมเพื่อให้ถูกตำแหน่งที่จะล้าง ในบางครั้งจะมีการใช้ท่อสองท่อสำหรับแต่ละตำแหน่ง การควบคุมท่อฉีดน้ำนี้ถูกกำหนดให้ขึ้นอยู่กับปุ่มรับแรงบนที่นั่งด้วย โดยจะทำงานเฉพาะเวลาที่มีแรงกดลงบนที่นั่ง ซึ่งหมายความว่ามีผู้ใช้นั่งอยู่บนส้วม เพราะในรุ่นแรก ๆ ไม่มีระบบป้องกันนี้ ทำให้ผู้ใช้ที่สงสัยจำนวนมากกดปุ่มเพื่อดูการทำงาน และถูกน้ำอุ่นฉีดใส่หน้า[17]

การปรับค่า
[แก้]

ส้วมไฮเทคส่วนมากมักสามารถให้ผู้ใช้ปรับความแรงและอุณหภูมิของน้ำได้ตามความพึงพอใจ ค่าเริ่มต้นจะตั้งไว้ให้น้ำที่ฉีดอวัยวะเพศหญิงเบากว่าน้ำที่ฉีดทวารหนัก นักวิจัยในญี่ปุ่นพบว่าผู้ใช้ส่วนใหญ่ชอบน้ำที่อุ่นกว่าอุณหภูมิร่างกาย และค่าที่เหมาะสมที่สุดคือ 38 องศาเซลเซียส[18] ตำแหน่งของหัวฉีดน้ำก็สามารถปรับหน้า-หลังด้วยมือ วอชเลตระดับสูงสามารถปรับการสั่นของกระแสน้ำ ซึ่งผู้ผลิตอ้างว่าจะมีผลดีต่ออาการท้องผูกและริดสีดวงทวาร[19] วอชเลตล่าสุดสามารถผสมน้ำที่ฉีดกับสบู่เพื่อปรับปรุงขั้นตอนการชำระล้างให้ดียิ่งขึ้น ลมร้อนที่ใช้สำหรับเป่าหลังฉีดน้ำโดยมากสามารถปรับอุณภูมิระหว่าง 40-60 องศาเซลเซียส[17]

ส้วมสาธารณะ

[แก้]

ส้วมสาธารณะมีอยู่ทั่วไปในญี่ปุ่น เช่นในห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านหนังสือ ร้านซีดี สวนสาธารณะ ร้านสะดวกซื้อส่วนใหญ่ และสถานที่สาธารณะทั่วไป ยกเว้นสถานีรถไฟในท้องถิ่นห่างไกล ส้วมสาธารณะแบบเก่าบางแห่งไม่มีประตู ทำให้ผู้ที่เดินผ่านไปมาสามารถมองเห็นผู้ชายยืนปัสสาวะได้อย่างชัดเจน ในช่วงพุทธทศวรรษที่ 2530 เริ่มมีการรณรงค์ให้รักษาความสะอาดและทำให้ส้วมสาธารณะน่าใช้มากขึ้น

จำนวนห้องน้ำสาธารณะที่มีทั้งส้วมแบบตะวันตกและส้วมนั่งยองมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ[2] แต่ห้องน้ำที่มีแต่ส้วมนั่งยองก็ยังคงมีอยู่ตามสถานีรถไฟหลายแห่งในโตเกียว โรงเรียน ที่จอดรถ วัด ร้านอาหารญี่ปุ่นดั้งเดิม และอาคารเก่า ๆ เป็นต้น ส้วมแบบตะวันตกมักมีป้ายคันจิเขียนไว้ว่า 洋式 (โยชิกิ) หรือป้ายภาษาอังกฤษว่า "Western-style" หรือรูปสัญลักษณ์ชนิดของส้วม หรือใช้ป้ายเหล่านี้รวมกัน ส้วมสำหรับคนพิการเป็นแบบตะวันตกเสมอ

ห้องน้ำสาธารณะจำนวนมากไม่มีสบู่ล้างมือหรือผ้าเช็ดมือ บางคนจึงต้องพกผ้าเช็ดหน้าไว้เช็ดมือ[2] บางคนถึงกับพกสบู่ติดตัว ห้องน้ำสาธารณะบางแห่งติดตั้งเครื่องเป่ามือไว้เพื่อลดจำนวนขยะจากกระดาษเช็ดมือ เครื่องเป่ามือและก๊อกน้ำในบางแห่งเป็นแบบมีเซนเซอร์จับการเคลื่อนไหวเพื่อช่วยประหยัดทรัพยากร

เชิงอรรถ

[แก้]
a. ^ ในการละเล่นของเด็กญี่ปุ่นบางอย่าง เด็กที่แพ้และถูกไล่ออกจากเกมไปยังสถานที่พิเศษ เช่นตรงกลางวง และสถานที่นั้นมักถูกเรียกว่า "เบ็นโจะ"

อ้างอิง

[แก้]
  1. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 "Japanese toilets". Japan-Guide.com. สืบค้นเมื่อ 2006-10-30.
  2. "Penetrarion rate of Major household durable goods" (ภาษาญี่ปุ่น). Economic and Social Research Institute (ESRI), Cabinet Office, Japan. March 2008.
  3. 4.0 4.1 4.2 "High-Tech Toilets". Web Japan. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-01-01. สืบค้นเมื่อ 2009-03-04.
  4. 5.0 5.1 5.2 "Nara Journal; Japanese Masters Get Closer to the Toilet Nirvana". The New York Times. October 8, 2002.
  5. 6.0 6.1 Reuters, Tokyo (September 28, 2003). "US, Europe unready for super-toilets, but Japan is patient". Taipei Times. สืบค้นเมื่อ 2006-11-08.
  6. Ichikawa, Takashi (1998). (ญี่ปุ่น: Sanseidō New Modern Dictionaryโรมาจิ三省堂現代新国語辞典ทับศัพท์: sanseidōgendaishinkokugojiten). Tokyo, Japan: Sanseido Co., Ltd. ISBN 4-385-14034-0.
  7. 8.0 8.1 "The Japanese Toilet". The Japanese Page. 2001. สืบค้นเมื่อ 2006-11-07.
  8. "List about toilet". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-05-28. สืบค้นเมื่อ 2006-11-07.
  9. Lim Tai Wei. "A Study of Japanese Toilets". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-03-11. สืบค้นเมื่อ 2006-10-30.
  10. "How to use Japanese style toilet". สืบค้นเมื่อ 2006-11-08.
  11. "Living in Japan - Toilet". Japanguide.com. สืบค้นเมื่อ 2006-11-08.
  12. "トイレの和式と洋式、どっちが多い?" (ภาษาญี่ปุ่น). สืบค้นเมื่อ 2010-01-14.
  13. Alan Bellows (January 2, 2006). "Modern Movements in Toilet Technology". Damn Interesting. สืบค้นเมื่อ 2006-11-08.
  14. "電気便座の現状" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-03-24. สืบค้นเมื่อ 2010-01-20.
  15. "High-Tech Toilets by Toto, Japan - new washlet toilets Neorest SE & Neorest LE". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-01-30. สืบค้นเมื่อ 2010-01-23.
  16. 17.0 17.1 Mary Jordan; Kevin Sullivan (May 15, 1997). "But Do They Flush? Japan's High-Tech Toilets Do Nearly Everything, Even Redden Faces". The Washington Post. สืบค้นเมื่อ 2006-11-07.
  17. >"ウォシュレットから読み解く「お尻偏差値」". exciteニュース. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-08-12. สืบค้นเมื่อ 2010-07-07.
  18. Mark magnier. "Japan Is Flush With Obsession". Los Angeles Times. สืบค้นเมื่อ 2009-08-05.

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]