ข้ามไปเนื้อหา

สมาคมเราชาวพม่า

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สมาคมเราชาวพม่า
တို့ဗမာအစည်းအရုံး
ชื่อย่อDAA
ผู้ก่อตั้งบะตอง
คำขวัญ""พม่าคือประเทศของเรา; วรรณกรรมพม่าคือวรรณกรรมของเรา; ภาษาพม่าคือภาษาของเรา รักประเทศของเรา, ยกระดับมาตรฐานวรรณกรรมของเรา, เคารพภาษาของเรา"[1]
ก่อตั้ง30 พฤษภาคม พ.ศ. 2473
ถัดไปฟรีดอมบล็อก
ที่ทำการย่างกุ้ง
ฝ่ายติดอาวุธLetyon Tat
อุดมการณ์
เพลง"เราชาวพม่า"
(တို့ဗမာ, โด่บะมา)
ธง[2]
ธง[2]
การเมืองพม่า
รายชื่อพรรคการเมือง
การเลือกตั้ง
ธงของสมาคมเราชาวพม่า (พ.ศ. 2473–2485) ซึ่งต่อมาได้ใช้เป็นธงชาติของรัฐพม่าในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2[3]

สมาคมเราชาวพม่า (พม่า: တို့ဗမာအစည်းအရုံး หรือ อังกฤษ: We-Burman’s Association) เป็นองค์กรของนักชาตินิยมในพม่า ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2473 ต่อมาได้ขยายตัวเป็นศูนย์รวมของนักชาตินิยมที่เรียกตัวเองว่า ตะคีน (သခင်, ออกเสียง: [θəkʰɪ̀ɰ̃]; แปลว่า เจ้านาย) ซึ่งชื่อนี้มาจากคำที่ชาวอังกฤษใช้ในสมัยอาณานิคม ในช่วงแรกตะคีนร่วมมือกับญี่ปุ่นเพื่อขับไล่อังกฤษ แต่ต่อมาเมื่อรู้ว่าญี่ปุ่นไม่ได้จริงใจกับพม่า กลุ่มตะคีนจึงรวมตัวกันจัดตั้งสันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์เพื่อร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตร บทบาทของสมาคมเราชาวพม่าจึงสิ้นสุดลง เป็นกลุ่มที่เน้นแนวคิดชาตินิยมพม่าและต่อต้านชาวอินเดียที่เข้ามาแย่งงานของชาวพม่า[4][5][6]

การก่อตัว

[แก้]

ชาวพม่าเริ่มเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นต้นมา องค์กรที่สำคัญในช่วงแรกคือยุวพุทธิกสมาคมและสภาร่วมของสมาคมชาวพม่า ความรู้สึกชาตินิยมในหมู่นักศึกษาได้เพิ่มขึ้นจนมีการนัดหยุดเรียนเพื่อต่อต้านพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2463 ซึ่งเป็นการเริ่มใช้โรงเรียนและมหาวิทยาลัยเป็นเครื่องมือในการเรียกร้องเอกราช

พ.ศ. 2470 มีการก่อตั้งสหภาพนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยย่างกุ้ง ซึ่งกลายเป็นศูนย์รวมกิจกรรมทางการเมืองของนักศึกษา และจากสหภาพนักศึกษานี้เอง ได้พัฒนาไปเป็นขบวนการนักศึกษาแห่งพม่า และสมาคมเราชาวพม่าใน พ.ศ. 2473"[1]

การดำเนินงาน

[แก้]
การประท้วงของสมาคมเราชาวพม่า

ในช่วงแรกสมาคมเราชาวพม่าได้ออกมาเรียกร้องให้ชาวพม่าขับไล่ชาวอินเดียออกไป พ.ศ. 2474 หม่อง บาเทา ได้ก่อตั้งสันนิบาตยุวชนแห่งพม่าขึ้นอีกและได้รวมเข้ากับสมาคมเราชาวพม่าใน พ.ศ. 2478 สมาชิกของขบวนการส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่ยากจน เพลงประจำสมาคม Myanmar Kaba Ma Kyei ที่แต่งโดยสยาตินหรือตะคีน ติน กลายเป็นเพลงชาติเพลงแรกของพม่า และกลายเป็นสัญลักษณ์ของชาติ เพลงนี้แต่งโดยหรือตะคีนติน เพลงนี้ใช้เป็นเพลงชาติในช่วงที่ญี่ปุ่นยึดครองจนได้รับเอกราชใน พ.ศ. 2491

สมาคมพยายามเข้าไปเผยแพร่อุดมการณ์ในหมู่ชาวนาและกรรมกรแต่ไม่สำเร็จ พ.ศ. 2479 สมาชิกตะคีนของสมาคมเป็นแกนนำสำคัญในการประท้วงผู้บริหารมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง เนื่องจากมหาวิทยาลัยได้ไล่นักศึกษาสองคนคือ ตะคีนนุและอองซานออกจากการเป็นนักศึกษา สมาคมได้ปลุกระดมให้นักศึกษานอนขวางตึกสอบเพื่อทำให้การสอบไล่ต้องหยุดชะงัก การประท้วงได้ขยายไปสู่วิทยาลัยและโรงเรียนมัธยมทั่วประเทศ นักเรียน นักศึกษารวมตัวประท้วงที่พระเจดีย์ชเวดากอง เรียกร้องให้รับนักศึกษาที่ถูกไล่ออกกลับเข้าเรียน ให้มีการให้ทุนแก่นักศึกษาที่ยากจน และปรับปรุงการบริหารมหาวิทยาลัย ในที่สุดมหาวิทยาลัยได้ยอมตามข้อเรียกร้องสองประการแรก

ตั้งพรรคการเมือง

[แก้]

เมื่ออังกฤษจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในพม่าเมื่อ พ.ศ. 2479 สมาคมได้จัดตั้งพรรคโดมิน-โดชินหรือพรรคเจ้าชีวิตของเราเอง วิถีชีวิตของเราเอง มีอูบาอูเป็นหัวหน้าพรรค และอองซานเป็นเลขาธิการ แต่พรรคได้ที่นั่งในสภาเพียงสามที่นั่ง

พ.ศ. 2481–2482 เกิดความวุ่นวายจากการที่ชาวพม่าก่อการจลาจลต่อต้านชาวอินเดีย อองซานซึ่งเป็นเลขาธิการของสมาคมได้เข้าไปจัดตั้งกรรมกร ยุยงให้ประท้วงขอขึ้นค่าแรง สมาชิกตะคีนที่เข้าไปยุยงกรรมกรถูกจับกุมหลายคน เช่น เลหม่องและบะเฮง นักศึกษาหยุดเรียนเพื่อประท้วง จึงถูกสลายฝูงชนด้วยความรุนแรงโดยตำรวจชาวอินเดีย นักศึกษาชื่อหม่อง ฮาวจอร์ ถูกตีด้วยกระบองจนเสียชีวิต เขาจึงได้รับการยกย่องให้เป็นผู้พลีชีพคนแรกของขบวนการนักศึกษา

ในช่วงนี้ อิทธิพลของลัทธิคอมมิวนิสต์แพร่เข้ามาในหมู่ผู้นำของสมาคมจนเกิดการแตกแยกกันเอง สมาชิกบางส่วนแยกไปจัดตั้งกลุ่มของตนเอง เช่น โส บะเฮง อองซาน โกเชล เท่งเป ไปตั้งพรรคคอมมิวนิสต์พม่า ส่วนตะคีนเมียะไปตั้งพรรคชาวนาและกรรมกรพม่าร่วมกับบะส่วย

สงครามโลกครั้งที่ 2

[แก้]

ในช่วงแรก สมาคมประณามลัทธิฟาสซิสต์ว่าอยู่ตรงข้ามกับอุดมการณ์ของตะคีน และสั่งห้ามสมาชิกนัดหยุดงานหรือเข้าร่วมในการจลาจลอื่นใดโดยไม่ได้รับอนุญาตจากสมาคม ทำให้การประท้วงของนักศึกษาหยุดชะงัก ผู้นำตะคีนได้ร่วมมือกับ ดร.บามอร์จัดตั้งกลุ่มเสรีภาพแต่พรรคคอมมิวนิสต์พม่าไม่ร่วมมือด้วย

เมื่อญี่ปุ่นเตรียมบุกพม่า อังกฤษประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันพม่า ทำให้รัฐบาลพม่าสนับสนุนอังกฤษในการทำสงคราม กลุ่มสันติภาพได้ออกมาต่อต้านสงครามจึงถูกอังกฤษกวาดล้างและประกาศเป็นกลุ่มนอกกฎหมาย กลุ่มตะคีนได้หนีออกจากประเทศและได้กลับเข้ามาใหม่ภายหลัง ผู้นำคนสำคัญถูกอังกฤษจับกุมตัวหลายคน รวมทั้งอองซาน เมื่อถูกปล่อยตัวออกมา อองซานหนีออกจากประเทศไปจีนแต่ถูกญี่ปุ่นจับตัวได้ อองซานจึงตัดสินใจร่วมมือกับญี่ปุ่น ลอบเข้ามาชักนำตะคีน 29 คนไปฝึกวิชาทหารแบบญี่ปุ่นที่ไต้หวันและเกาะไหหลำ และเข้ามายึดประเทศพม่าคืนจากอังกฤษพร้อมญี่ปุ่น ต่อมา ใน พ.ศ. 2486 ตะคีนจำนวน 30 คนได้ประกอบกันขึ้นเป็นผู้นำของกองทัพพม่าเอกราช ซึ่งเปลี่ยนเป็นกองทัพแห่งชาติพม่าใน พ.ศ. 2487

เมื่อทางพม่าเห็นว่าญี่ปุ่นไม่จริงใจกับพม่า และปกครองพม่าอย่างกดขี่ทารุณ อองซานได้จัดตั้งสันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์ เพื่อร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตร อดีตผู้นำของสมาคมเราชาวพม่าได้เข้าร่วมในสันนิบาตนี้ด้วย

หลังสงคราม

[แก้]

เมื่อสงครามโลกสิ้นสุดลง สมาคมเราชาวพม่าแสดงตนเป็นฝ่ายค้านของสันนิบาตเสรีชน อังกฤษพยายามสนับสนุนสมาคมเพื่อถ่วงดุลกับสันนิบาตเสรีชนแต่ไม่สำเร็จเพราะประชาชนสนับสนุนสันนิบาตเสรีชนมากกว่า สมาคมไม่เห็นด้วยกับข้อตกลงอองซาน-แอตลี และจัดตั้งแนวร่วมฝ่ายค้านต่อต้านข้อตกลงนี้ เมื่อมีการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญเมื่อ พ.ศ. 2490 สมาคมเราชาวพม่าไม่เข้าร่วมในขณะที่สันนิบาตเสรีชนได้ชัยชนะอย่างท่วมท้น หลังจากนั้น บทบาทของสมาคมเราชาวพม่าก็สิ้นสุดลง

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 Tarling, Nicholas (1999). The Cambridge History of Southeast Asia. Cambridge UP. ISBN 0-5216-6369-5.
  2. Khin Yi (1988) The Dobama Movement in Burma (1930–1938), SEAP, p39
  3. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-04-06. สืบค้นเมื่อ 2010-11-05.
  4. Paul H. Kratoska, บ.ก. (2001). South East Asia: Colonial History. Routledge. ISBN 0-415-21539-0.
  5. Mikael Gravers (1999). "Nationalism as Political Paranoia in Burma: an essay on the historical practice of power". Routledge. {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help)
  6. A first hand account appears in Trials in Burma (1937) by Maurice Collis

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]