ศานติสถูป (ลาดัก)
ศานติสถูป | |
---|---|
ศาสนา | |
ศาสนา | ศาสนาพุทธแบบทิเบต |
ที่ตั้ง | |
ที่ตั้ง | อำเภอเลห์ ลาดัก ประเทศอินเดีย |
ประเทศ | ประเทศอินเดีย |
พิกัดภูมิศาสตร์ | 34°10′25″N 77°34′29″E / 34.17361°N 77.57472°E |
สถาปัตยกรรม | |
รูปแบบ | ภิกษุเคียวเมียว นาคามูระ (Gyomyo Nakamura) |
เริ่มก่อตั้ง | 1985 |
ศานติสถูป (อักษรโรมัน: Shanti Stupa) เป็นสถูปในศาสนาพุทธตั้งอยู่บนยอดเขาในจันสปา (Chanspa) อำเภอเลห์ ลาดัก ทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย[1] สร้างขึ้นในปี 1991 โดยภิกษุชาวญี่ปุ่น เคียวเมียว นาคามูระ ภายในพระสถูปประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าซึ่งอัญเชิญมาประดิษฐานโดยองค์ทะไลลามะที่สิบสี่[2] ศานติสถูปเป็นแนวคิดของนิชิดัตซุ ฟูจิอิ เพื่อแสดงเป็นสัญลักษณ์แทนสันติภาพในสมัยปัจจุบัน[3]
การก่อสร้างสถูปเริ่มต้นในปี 1983 ภายใต้การดูแลของภิกษุเคียวเมียว นาคามูระ โดยความช่วยเหลือของ กุโศก พกุละ หัวหน้าลามะประจำลาดักผ่านทางคณะกรรมการชนกลุ่มน้อยของรัฐบาลอินเดียที่นิวเดลี รวมถึงยังได้ความช่วยเหลือจากพุทธศาสนิกชนชาวลาดักซึ่งบริจาคทุนทรัพย์ และบางส่วนอาสาเป็นแรงงานในการก่อสร้าง เช่นเดียวกับพุทธศาสนิกชนจากญี่ปุ่นและอินเดียส่วนอื่น ๆ นายกรัฐมนตรีอินเดียในขณะนั้นสั่งยกเลิกโครงการสร้างถนนสำหรับยานพาหนะที่จะทอดไปยังสถูปในปี 1984[3] ทะไลลามะที่สิบสี่เสด็จวางศิลาฤกษ์สถูปในเดือนสิงหาคม 1985[1][3][4]
สถูปมีตั้งภาพถ่ายของทะไลลามะ และที่ฐานประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ[3] องค์สถูปมีความสูงสองชั้น ชั้นแรกประดับด้วยรูปธรรมจักรกับกวางหมอบ และมีพระพุทธรูปทองคำประทับบนอาสนะแทนช่วงเวลาของ “การหมุนกงล้อธรรมจักร” ชั้นที่สองมีภาพแกะสลักนูนต่ำที่แสดงพระพุทธเจ้าในปางต่าง ๆ ได้แก่ ประสูติ, มารวิชัย และปรินิพพาน[5] ศานติสถูปนี้สร้างขึ้นเพื่อสนับสนุนสันติภาพในโลก รวมถึงฉลองการครบรอบ 2500 ปีของพระพุทธศาสนา[1][3] ตลอดจนเป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์อันดีระหว่างอินเดียกับญี่ปุ่น[3]
ศานติสถูปเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญในพื้นที่นับแต่แรก เดอะฮินดู บรรยายว่าสถูปนี้เป็น “สถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงที่สุด” ในแถบเลห์ แม้ว่าจะไม่ได้สร้างขึ้นด้วยสถาปัตยกรรมแบบเลห์[1][6] จากศานติสถูปยังสามารถมองเห็นทิวทัศน์ของหมู่บ้านโดยรอบ และนัมคยังเจโม ตลอดจนเทือกเขาโดยรอบ[7][8] รวมถึงยังเป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นและลงแห่งหนึ่งในเลห์ที่สำคัญ[9] เวลาเปิดปิดเข้าชมของสถูปคือ 8:00 น. ถึง 20 น.[9]
ศานติสถูปตั้งอยู่ที่ความสูง 3,609 เมตร (11,841 ฟุต) จากระดับน้ำทะเล[4] ห่างไป 5 กิโลเมตร (3.1 ไมล์) จากนครเลห์ บนเชิงเขาฝั่งที่หันหน้าออกสู่พระราชวังเลห์[3]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 "Shanti Stupa". Buddhist-temples.com. สืบค้นเมื่อ 19 October 2009.
- ↑ "Leh". NDTV.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 3.6 Bhasin, Sanjeev Kumar (2006). "Shanti Stupa". Amazing land Ladakh: places, people, and culture. Indus Publishing. pp. 119–20. ISBN 978-81-7387-186-3.
- ↑ 4.0 4.1 Jagir Singh Bajwa, Ravinder Kaur (2007). Tourism Management. APH Publishing. p. 117. ISBN 978-81-313-0047-3.
- ↑ The titles of the reliefs are given on the plaques under the reliefs at the Shanti Stupa.
- ↑ Luv Puri (21 August 2005). "Ladakh monuments cry for renovation". The Hindu. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 April 2006. สืบค้นเมื่อ 1 December 2009.
- ↑ Frommer's India. Hoboken, NJ, USA: Wiley Publishing Inc. 4 March 2008. p. 524. ISBN 978-0-470-16908-7.
- ↑ "Leh: Places to see". VISITLADAKH.COM. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 November 2019. สืบค้นเมื่อ 1 December 2009.
- ↑ 9.0 9.1 "Shanti Stupa". Buddhist-Tourism.Com. 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 July 2007. สืบค้นเมื่อ 1 December 2009.