วิลเดอบีสต์เคราขาว
วิลเดอบีสต์เคราขาว | |
---|---|
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ไฟลัมย่อย: | Vertebrata |
ชั้น: | Mammalia |
อันดับ: | Artiodactyla |
วงศ์: | Bovidae |
วงศ์ย่อย: | Alcelaphinae |
สกุล: | Connochaetes |
สปีชีส์: | C. taurinus |
ชื่อทวินาม | |
Connochaetes taurinus (Burchell, 1823) | |
ชนิดย่อย | |
| |
C. t. taurinus C. t. cooksoni C. t. johnstoni C. t. albojubatus C. t. mearnsi |
วิลเดอบีสต์เคราขาว หรือ วิลเดอบีสต์ธรรมดา หรือ วิลเดอบีสต์สีน้ำเงิน หรือ กนู (อังกฤษ: white-bearded wildebeest, common wildebeest, blue wildebeest, gnu; ชื่อวิทยาศาสตร์: Connochaetes taurinus) เป็นสัตว์กีบคู่จำพวกแอนทีโลปชนิดหนึ่ง จัดอยู่ในวงศ์ Alcelaphinae
ศัพท์มูลวิทยา
[แก้]คำว่า "วิลเดอบีสต์" เป็นภาษาดัตช์แปลว่า "สัตว์ป่า" หรือ "วัวป่า" ในภาษาแอฟริกาน (เบียส = วัว) ในขณะที่ Connochaetes มาจากภาษากรีก คำ κόννος (Konnos) หมายถึง "เครา" และ χαίτη (khaítē) หมายถึง "ไหล่ผม" หรือ "แผงคอ" ขณะที่คำว่า "กนู" มาจากภาษากอยกอยแปลว่า "สัตว์เหล่านี้"[2]
ลักษณะและพฤติกรรม
[แก้]จัดเป็นวิลเดอบีสต์อีกชนิดหนึ่ง[3] มีลักษณะขาคู่หน้ายาวกว่าขาคู่หลัง ใบหน้าเรียวยาวและแคบทำให้แลดูคล้ายวัว มีเขาทั้งตัวผู้และตัวเมีย แต่ตัวเมียจะมีเขารวมถึงรูปร่างเล็กกว่าตัวผู้ บนหลังคอมีแผงขนสีดำต่อไปถึงไหล่ มีลำตัวทั้งสีเทาเข้มและสีน้ำเงิน ใต้คางมีขนคล้ายเคราสีขาวหรือสีดำจนถึงช่วงล่างของลำคอ (แตกต่างกันไปตามชนิดย่อย) หางยาวมีขนคล้ายแส้หรือพู่สีดำ ตัวผู้มีความสูงตั้งแต่กีบเท้าถึงหัวไหล่ 145 เซนติเมตร (57 นิ้ว) น้ำหนักมากกว่า 275 กิโลกรัม (606 ปอนด์) มีอายุขัยมากกว่า 20 ปี[4]
พบกระจายพันธุ์ตั้งแต่ตอนเหนือของเคนยา, ตอนใต้ของแทนซาเนีย, และจนไปถึงแอฟริกาใต้ มีพฤติกรรมรวมตัวกันเป็นฝูงใหญ่ โดยมีตัวผู้ที่บึกบึนแข็งแรงเป็นจ่าฝูง มักรวมตัวกันที่ทุ่งหญ้าปะปนกับสัตว์กินหญ้าชนิดอื่น เช่น ม้าลาย บางครั้งมีจำนวนนับหมื่นตัว จะหากินหญ้าไปเรื่อย ๆ และอพยพย้ายถิ่นตามฤดูกาล
ถือเป็นแอนทีโลปที่พบได้ง่ายและมีจำนวนชุกชุมมากที่สุดในทวีปแอฟริกา มักตกเป็นอาหารของสัตว์ล่าเหยื่อต่าง ๆ เช่น สิงโต, ไฮยีนา, เสือดาว, เสือชีตาห์ ฤดูกาลอพยพจะเริ่มต้นในเดือนพฤษภาคม ฝูงวิลเดอบีสต์เคราขาวจะเริ่มอพยพจากทุ่งหญ้าเซเรงเกติในแทนซาเนีย เดินทางไกลกว่า 1,500 กิโลเมตร เพื่อไปสู่แหล่งอาหารที่อุดมกว่าที่ทุ่งหญ้ามาไซมารา ในเคนยา เป็นระยะเวลามากกว่า 2 เดือน จนกระทั่งเดือนกันยายนหรือตุลาคม ก็จะอพยพกลับมายังที่เดิม
ซึ่งภาพการอพยพของฝูงวิลเดอบีสต์เคราขาวนั้นน่าประทับใจมาก เพราะจะมีการรวมฝูงกันอพยพจำนวนกว่า 2,000,000 ตัว และทุกครั้งในการเดินทางทั้งไปและกลับจะมีวิลเดอบีสต์เคราขาวล้มตายประมาณ 200,000 ตัว ทั้งจากการเบียดเสียดกันและถูกจับกินเป็นอาหาร โดยเฉพาะการว่ายข้ามแม่น้ำมารา ซึ่งจะมีจระเข้แม่น้ำไนล์มาดักรองับเป็นอาหาร โดยจะถูกกัดกดให้จมน้ำตายและรุมกินอย่างดุเดือด และเมื่อขึ้นถึงฝั่งแล้วก็ยังจะถูกตามล่าอีกจากสัตว์นักล่าอื่น ๆ แต่เมื่อกลับไปถึงเซเรงเกติแล้ว วิลเดอบีสต์เคราขาวจะให้กำเนิดลูกที่เกิดใหม่ราว 500,000 ตัว ทดแทนจำนวนที่สูญเสียไป ในราวเดือนกุมภาพันธ์–มีนาคม ลูกที่เกิดใหม่ก็เตรียมตัวเพื่อรอการเดินทางอพยพที่จะมีขึ้นในเดือนพฤษภาคมอีกด้วย[5]
การจำแนก
[แก้]แบ่งออกเป็นชนิดย่อยต่าง ๆ ได้ 5 ชนิด[6]
- C. t. taurinus (วิลเดอบีสต์เคราขาวแอฟริกาใต้) เป็นวิลเดอบีสต์ชนิดธรรมดาทั่วไป
- C. t. johnstoni (วิลเดอบีสต์เคราขาวไนยาซาแลนด์) พบในตอนใต้ของแทนซาเนีย และตอนเหนือของโมซัมบิค เป็นชนิดย่อยที่มีขนาดใหญ่ที่สุด
- C. t. mearnsi (วิลเดอบีสต์เคราขาวตะวันตก) เป็นชนิดที่มีขนาดเล็ก พบในตะวันตกเฉียงใต้ของเคนยา และตะวันออกเฉียงเหนือของแทนซาเนีย มีลำตัวสีเข้มครึ้มและเคราสีอ่อน
- C. t. albojubatus (วิลเดอบีสต์เคราขาวตะวันออก หรือวิลเดอบีสต์สีน้ำเงิน) มีลำตัวสีน้ำเงินและเคราสีดำ พบในตะวันออกเฉียงใต้ของเคนยา และตะวันออกเฉียงเหนือของแทนซาเนีย
- C. t. cooksoni (วิลเดอบีสต์คุกสัน) พบเฉพาะแถบแม่น้ำลวงวา
อ้างอิง
[แก้]- ↑ IUCN SSC Antelope Specialist Group (2012). "Connochaetes taurinus". IUCN Red List of Threatened Species. Version 2010.2. สืบค้นเมื่อ 28 August 2010.
- ↑ Comparative Placentation: Wildebeest, Gnu
- ↑ Grubb, P. (2005). "Order Artiodactyla". In Wilson, D. E.; Reeder, D. M. Mammal Species of the World (3rd ed.). Johns Hopkins University Press. p. 676. ISBN 978-0-8018-8221-0. OCLC 62265494
- ↑ Estes, Richard D. (1999) The Safari Companion, Chelsea Green Publishing Company, Vermont, ISBN 0-7974-1159-3
- ↑ ปองพล อดิเรกสาร. สัตว์ป่าแอฟริกา. กรุงเทพฯ : เอเรียสบุ๊คส์, 2553. 272 หน้า. ISBN 978-616-90508-0-3
- ↑ "Zambezian and Mopane woodlands". Terrestrial Ecoregions. World Wildlife Fund. Retrieved 2006-06-29.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Connochaetes taurinus ที่วิกิสปีชีส์