วินัย สวัสดิวร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วินัย สวัสดิวร
เกิดประเทศไทย
สัญชาติไทย
อาชีพข้าราชการ,เลขาธิการสำนักงานสุขภาพแห่งชาติ
ผู้สืบตำแหน่งนพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา (เลขาธิการสปสช.)

นายแพทย์วินัย สวัสดิวร อดีตประจำสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข อดีตเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ท่านที่สอง ต่อจากนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เลขาธิการผู้ก่อตั้ง สปสช. ได้ลาออกจากกระทรวงสาธารณสุขในตำแหน่งรองอธิบดีกรมการแพทย์ เพื่อมาบุกเบิกระบบหลักประกันสุขภาพร่วมกับ สปสช.ตั้งแต่ปี 2545 เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพในส่วนภูมิภาค (สปสช.สาขาเขต) การควบคุมราคาอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีราคาแพงในระบบหลักประกันสุขภาพ จนทำให้ได้ราคาที่สมเหตุสมผล ส่งผลให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการได้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังริเริ่มโครงการเจ็บป่วยฉุกเฉินถึงแก่ชีวิต ไม่ต้องถามสิทธิ ใกล้ที่ไหน ไปที่นั่น หรือระบบ EMCO (EMergency Claim Online) ช่วยให้คนไทยที่ประสบอุบัติเหตุหรือเหตุฉุกเฉินถึงแก่ชีวิต สามารถเข้ารักษาในโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และเป็นผู้ดำเนินโครงการจ่ายตรงให้แก่พนักงานและข้าราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ลดผลกระทบของข้าราชการ/พนักงาน อปท.ที่ต้องสำรองจ่ายไปก่อนกรณีไปรับบริการ ฯลฯ

ประวัติ[แก้]

เกิดวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2497[1]เป็นชาวบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรีโดยกำเนิด จบการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลรุ่นที่ 84 รับราชการครั้งแรกในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเลิงนกทา จ.ยโสธร และขยับเข้าสู่การบริหารงานในหน่วยงานระดับจังหวัด ระดับกรม และก้าวสู่ตำแหน่งรองอธิบดี ก่อนที่จะลาออกจากราชการมาทำงานกับ สปสช.ในปี 2545 โดยเป็นเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 - 24 มิถุนายน พ.ศ. 2558 ก่อนถูกย้ายไปเป็นประจำสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขในวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2558 ให้นายแพทบ์ ประทีป ธนกิจเจริญรักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จนกระทั่งหมดวาระการดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพในวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ประวัติการศึกษา[แก้]

  • พ.ศ. 2528 ประกาศนียบัตรแพทย์ทางระบาดวิทยา Field Epidemiology Training Program (FETP)
  • พ.ศ. 2529 อนุมัติบัตรเวชศาสตร์ป้องกัน แพทยสภา

ประวัติการทำงาน[แก้]

  • พ.ศ. 2523 – พ.ศ. 2526 ผู้อำนวยการ รพ.สมเด็จพระยุพราชเลิงนกทา จ.ยโสธร
  • พ.ศ. 2528 – พ.ศ. 2533 หัวหน้าฝ่ายเวชกรรมสังคม รพ.มหาสารคาม
  • พ.ศ. 2533 – พ.ศ. 2536 ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชกรรมป้องกัน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม
  • พ.ศ. 2536 – พ.ศ. 2536 ช่วยราชการที่กองสาธารณสุขภูมิภาค
  • พ.ศ. 2536 – พ.ศ. 2541 นายแพทย์สาธารณสุข จังหวัดยโสธร
  • พ.ศ. 2541 – พ.ศ. 2543 นายแพทย์สาธารณสุข จังหวัดนครสวรรค์
  • พ.ศ. 2543 – พ.ศ. 2546 รองอธิบดีกรมการแพทย์
  • พ.ศ. 2546 – พ.ศ. 2551 รองเลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
  • พ.ศ. 2551 – 24 มิถุนายน พ.ศ. 2558 เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
  • 25 มิถุนายน พ.ศ. 2558 – ปัจจุบัน ประจำสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข[2]
  • พ.ศ. 2556 - ปัจจุบัน กรรมการบริหารสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน)

ผลงานด้านสิทธิประโยชน์ระบบหลักประกันสุขภาพขณะปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สปสช.[แก้]

  • พ.ศ. 2551 การบริการทดแทนไตสำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย การให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ในผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยง
  • พ.ศ. 2552 ยกเลิกข้อจำกัดการบริการอุบัติเหตุและเจ็บป่วยฉุกเฉินปีละ 2 ครั้ง
  • พ.ศ. 2553 การรักษาโรคนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะโดยวิธีสลายนิ่ว การรักษาโรคจิต กรณีรับไว้รักษาประเภทผู้ป่วยในเกินกว่า 15 วัน
  • พ.ศ. 2554 การผ่าตัดปลูกถ่ายตับ (เริ่ม 1 ตุลาคม 2554) การผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจ (เริ่ม 1 ตุลาคม 2554)
  • พ.ศ. 2556 การคุ้มครองความมั่นคงสิทธิด้านการรับบริการสาธารณสุขตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ของพนักงานหรือลูกจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและบุคคลในครอบครัว (เริ่ม 1 ตุลาคม 2556)

ผลงานด้านพัฒนาระบบบริการหลักประกันสุขภาพขณะปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ[แก้]

1) การพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ ดำเนินการ 2 รูปแบบ[แก้]

  • การพัฒนาระบบริการปฐมภูมิเขตชนบท เน้น สถานีอนามัย และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต)
  • การพัฒนาระบบปฐมภูมิเขตเมือง เน้นการลดความแออัดของ รพ.ขนาดใหญ่

2) การพัฒนาระบบบริการตติยภูมิเฉพาะด้าน เช่น[แก้]

  • โรคหัวใจและหลอดเลือด
  • โรคมะเร็ง
  • โรคหลอดเลือดสมอง
  • การพัฒนาระบบบริการเจ็บป่วยฉุกเฉินในโรงพยาบาล
  • การพัฒนาบริการทารกแรกเกิด

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.)

โล่เกียรติยศ[แก้]

  • พ.ศ. 2551 จากสมาคมศิษย์เก่าศิริราชในพระบรมราชูปถัมภ์ สาขาศิษย์เก่าแพทย์ศิริราชวัยทำงานที่ประสบความสำเร็จในทุกๆด้านมีเกียรติยศ ชื่อเสียงในวงการแพทย์และสาธารณสุข เป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป
  1. https://www.ha.or.th/Backend/fileupload/%e0%b8%84%e0%b8%93%e0%b8%b0%e0%b8%81%e0%b8%a3%e0%b8%a3%e0%b8%a1%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b8%9a%e0%b8%a3%e0%b8%b4%e0%b8%ab%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b8%aa%e0%b8%96%e0%b8%b2%e0%b8%9a%e0%b8%b1%e0%b8%99/Attach/%e0%b8%99%e0%b8%9e%20%e0%b8%a7%e0%b8%b4%e0%b8%99%e0%b8%b1%e0%b8%a2%20%e0%b8%aa%e0%b8%a7%e0%b8%b1%e0%b8%aa%e0%b8%94%e0%b8%b4%e0%b8%a7%e0%b8%a3.pdf[ลิงก์เสีย]
  2. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2558/E/145/8.PDF