ข้ามไปเนื้อหา

ลิงคีปูนจี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ลิงคีปูนจี
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
อันดับ: Primates
วงศ์: Cercopithecidae
วงศ์ย่อย: Cercopithecinae
เผ่า: Papionini
สกุล: Rungwecebus
Davenport, 2006
สปีชีส์: R.  kipunji
ชื่อทวินาม
Rungwecebus kipunji
(Jones et al., 2005)
แผนที่การกระจายพันธุ์
ชื่อพ้อง
  • Lophocebus kipunji Jones & al., 2005

ลิงคีปูนจี หรือ ลิงมังกาเบย์ที่ราบสูง (อังกฤษ: Kipunji, Highland mangabey[2]; ชื่อวิทยาศาสตร์: Rungwecebus kipunji) เป็นลิงชนิดหนึ่งจำพวกลิงโลกเก่าที่พบในทวีปแอฟริกา จัดเป็นลิงชนิดใหม่ของโลกที่เพิ่งถูกค้นพบเมื่อปี ค.ศ. 2005

ลิงคีปูนจี มีลักษณะคล้ายกับลิงมังกาเบย์ โดยครั้งแรกที่นักวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบเชื่อว่าเป็นลิงที่อยู่ในสกุล Lophocebus หรือลิงมังกาเบย์ ถึงขนาดได้ประกาศลงในวารสารเจอนัลไซแอนซ์เมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2005 ว่าลิงคีปูนจีเป็นชนิดใหม่ของสกุล Lophocebus แต่ทว่าหลังจากที่ได้ศึกษาแล้วพบว่าไม่ใช่ หากแต่เป็นลิงสกุลใหม่ จึงให้ชื่อสกุลว่า Rungwecebus (/รุง-เว-ซี-บัส/) แปลว่า "ลิงรุงเว" โดยตั้งชื่อตามสถานที่ ๆ ค้นพบ คือ ภูเขารุงเว[2] โดยถือเป็นลิงสกุลใหม่ที่ค้นพบในรอบ 83 ปี[3] และเป็นลิงชนิดเดียวเท่านั้นที่อยู่ในสกุลนี้[4]

ตัวอย่างต้นแบบของลิงคีปูนจีได้มาจากซากตัวหนึ่งซึ่งตายเพราะติดกับดักในฟาร์มของเกษตรกร และพบว่าแม้หน้าตารูปร่างจะคล้ายกับลิงมังกาเบย์ หากแต่ลิงคีปูนจีกลับมีลักษณะดีเอ็นเอคล้ายคลึงกับลิงบาบูน ที่อยู่ในสกุล Papio มากกว่า [5] หลังจากที่ได้วิเคราะห์เนื้อเยื่อเพื่อศึกษาพันธุกรรมศาสตร์ แต่กะโหลกและสมองกลับพบว่าต่างกับลิงบาบูน รวมทั้งลิงแมนดริล และลิงเจลาดา[6]

ลิงคีปูนจี สูงประมาณ 90 เซนติเมตร หรือ 3 ฟุต น้ำหนักตัวประมาณ 10 ถึง 16 กิโลกรัม มีขนสีน้ำตาลเทา บริเวณท้องน้อยและปลายหางมีขนสีขาว หัวมีแผงขนตั้งชันเหมือนมงกุฎ กินใบไม้, ดอกไม้, ผลไม้, หน่อไม้, เห็ด, มอส และหอยเป็นอาหาร โดยสามารถกินพืชที่มีความหลากหลายแตกต่างกันได้ถึง 100 ชนิด [5] อาศัยอยู่บนต้นไม้เป็นส่วนใหญ่ ตัวที่โตเต็มที่จะส่งเสียงร้องเหมือนห่าน ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษที่ต่างจากลิงชนิดอื่น ๆ โดยชื่อ "คีปูนจี" นั้นเป็นชื่อท้องถิ่นที่ชาวพื้นเมืองใช้เรียกขาน และมีความเชื่อของพรานพื้นเมืองที่เชื่อว่า ลิงคีปูนจีเป็นลิงลึกลับหายาก จนไม่รู้ว่าแท้ที่จริงแล้วเป็นลิงที่มีอยู่จริงหรือเป็นเพียงวิญญาณ[6]

ลิงคีปูนจี เป็นสัตว์ที่พบได้เฉพาะถิ่น พบได้เฉพาะบนต้นไม้สูงของป่ารุงวี-ลีฟวิงสโตน ในพื้นที่ภูเขารุงเว และที่ป่าดุนดูลู ในเขตภูเขาอุดซุงวา ที่ราบสูงซึ่งอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 2,450 เมตรทางตอนใต้ ของประเทศแทนซาเนีย เท่านั้น [5]

และขณะที่ค้นพบเจอ ลิงคีปูนจีก็เหลือปริมาณในธรรมชาติอยู่น้อยแล้ว คือ ประมาณ 1,000 ตัวเท่านั้น ลิงคีปูนจีจะถูกมนุษย์ฆ่าเพื่อการบริโภค และเพื่อต้องการถิ่นที่อยู่เพื่อทำการเพาะปลูกด้วยการตัดไม้และเผาที่ รวมถึงถูกฆ่าหากมาขโมยพืชผล [5] โดยมีศัตรูตามธรรมชาติได้แก่ นกอินทรี และเสือดาว แต่ลิงคีปูนจีนั้นได้รับการอนุรักษ์ทางกฎหมายของแทนซาเนียแล้ว[5]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Davenport, T. R. B. & Jones, T. (2008). Rungwecebus kipunji. In: IUCN 2008. IUCN Red List of Threatened Species. Downloaded on 17 November 2008.
  2. 2.0 2.1 Davenport, T.; Stanley, W. T.; Sargis, E. J.; De Luca, D. W.; Mpunga, N. E.; Machaga, S. J.; Olson, L. E. (May 11, 2006). "A new genus of African monkey, Rungwecebus: morphology, ecology and molecular phylogenetics". Science. 312 (5778): 1378–81. Bibcode:2006Sci...312.1378D. doi:10.1126/science.1125631. PMID 16690815. สืบค้นเมื่อ 2011-12-14.
  3. Than, Ker (May 11, 2006). "Scientists Discover New Monkey Genus In Africa". LiveScience. สืบค้นเมื่อ 2008-07-24.
  4. Jones, P. (May 20, 2005). "The Highland Mangabey Lophocebus kipunji: A new species of African monkey". Science. สืบค้นเมื่อ 2011-12-14.
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 "สารคดีบันลือโลก 20 มิถุนายน 2559 Wild Africa ส่องไพร: หุบเขาแห่งแอฟริกา". นาว26. June 20, 2016. สืบค้นเมื่อ June 22, 2016.
  6. 6.0 6.1 "Tanzanian monkey goes up a notch". บีบีซี. May 11, 2006. สืบค้นเมื่อ June 22, 2016.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Rungwecebus kipunji ที่วิกิสปีชีส์