มารี ลาโว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มารี ลาโว
เกิดมารี แคเทอริน ลาโว
10 กันยายน ค.ศ. 1801(1801-09-10)
เฟรนช์ควอเตอร์ นิวออร์ลีนส์ รัฐลุยเซียนา
เสียชีวิต15 มิถุนายน ค.ศ. 1881(1881-06-15) (79 ปี)
นิวออร์ลีนส์ รัฐลุยเซียนา
สุสานป่าช้าเซนต์หลุยส์ นิวออร์ลีนส์
สัญชาติอเมริกัน
อาชีพผู้ใช้เวทย์, นักบวชวูดู, หมอตำแย, พยาบาล
มีชื่อเสียงจากราชินีวูดูแห่งนิวออร์ลีนส์
คู่สมรสฌัก ปารี (1809–1820)
คริสต็อฟ กลาปียง
บุตรมารี ลาโวที่ 2

มารี แคเทอริน ลาโว (อักษรโรมัน: Marie Catherine Laveau; 10 กันยายน ค.ศ. 1801 – 15 มิถุนายน ค.ศ. 1881)[2][nb 1] เป็นแม่หมอวูดูชาวเครโอลลุยเซียนาผู้มีชื่อเสียงในเมืองนิวออร์ลีนส์ รัฐลุยเซียนา สหรัฐ เธอมีลูกสาวคนหนึ่งคือมารี ลาโวที่ 2 (Marie Laveau II; ค.ศ. 1827 – ราว ค.ศ. 1862) ได้สืบทอดคาถา บทสวด และเวทมนตร์ตามคติชาวอเมริกันพื้นเมืองและแอฟริกันจากมารดา เรียกว่าวูดูแบบนิวออร์ลีนส์อันเป็นที่รู้จักในลุยเซียนามาจนถึงทุกวันนี้[4]

ประวัติ[แก้]

ชีวิตช่วงต้น[แก้]

จากบันทึกทางประวัติศาสตร์ ระบุว่ามารี ลาโวเกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 10 กันยายน ค.ศ. 1801 ที่เฟรนช์ควอเตอร์ เมืองนิวออร์ลีนส์ รัฐลุยเซียนา ชีวประวัติระบุนามมารดามาร์เกอรีต อ็องรี (Marguerite Henry) หรือมาร์เกอรีต ดาร์ก็องเตล (Marguerite D'Arcantel) หญิงผิวสีลูกผสมผู้มีเชื้อสายอเมริกันพื้นเมือง แอฟริกัน และฝรั่งเศส[5] กับบิดาชื่อชาร์ล ลาโว ทรูโด (Charles Laveau Trudeau) ซึ่งเป็นนักสำรวจและนักการเมือง[6]

มารีสมรสครั้งแรกกับกับฌัก ปารี (Jacques Paris) หนึ่งในผู้อพยพผิวขาวชาวฝรั่งเศสซึ่งลี้ภัยการปฏิวัติเฮติช่วงปี 1791–1804[1] โดยคนผิวดำจากอดีตอาณานิคมแซ็ง-ดอแม็งก์ (Saint-Domingue) ของฝรั่งเศส[7] ซึ่งฌักอพยพเข้ามายังนิวออร์ลีนส์ใน ค.ศ. 1809 ทั้งสองสมรสกันในอาสนวิหารนักบุญหลุยส์ นิวออร์ลีนส์[1] ประกอบพิธีโดยคุณพ่ออันโตนีโอ เด เซเดยา (Antonio de Sedella) นักบวชกาปูชิน เป็นที่รู้จักในนามคุณพ่ออ็องตวน (Pere Antoine)[5] ฌัก ปารีตายใน ค.ศ. 1820[3] ทั้งสองมีบุตรสาวสองคนคือ เฟลีซีเต (Felicite) เกิดในปี ค.ศ. 1817 และอ็องเฌเล (Angele) เกิดในปี ค.ศ. 1820 ทว่าชื่อของทั้งสองหายไปจากบันทึกช่วง ค.ศ. 1820

หลังสามีคนแรกตาย เธอมีความสัมพันธ์กับคริสต็อฟ ดอมีนิก ดูว์มีนี เดอ กลาปียง (Christophe Dominick Duminy de Glapion) ชายผิวขาวเชื้อสายฝรั่งเศส เขาและเธอใช้ชีวิตด้วยกันจนเขาตายในปี ค.ศ. 1855[8] บางแห่งว่ามารีมีลูกทั้งหมด 15 คน (หรืออาจเป็นลูกและหลานรวมกัน 15 คน)[9] แต่หลักฐานจากสูติบัตรและใบรับรองศีลล้างบาปพบว่าทั้งสองมีบุตรด้วยกัน 7 คน[10] แต่มีบุตรสาวเพียงสองคนที่มีชีวิตพ้นวัยเด็กมาคือ มารี ยูชารีสต์ เอลัวส์ ลาโว (Marie Euchariste Eloise Laveau; 1827–1860-2) และมารี ฟีโลเมน กลาปียง (Marie Philomene Glapion; 1836–1897)[10] ซึ่งไม่ทราบว่าหนึ่งในสองคนนี้ ใครคือมารี ลาโวที่ 2

เสียชีวิต[แก้]

วันที่ 17 มิถุนายน ค.ศ. 1881 หนังสือพิมพ์ เดลีปีกายูน (Daily Picayune) ระบุว่ามารี ลาโวเสียชีวิตอย่างสงบ ณ บ้านของตนเอง[5] บ้างก็เล่าลือกันว่า ยังมีผู้พบเห็นเธอหลังตายไปแล้ว[1] หนึ่งในลูกสาวของเธอที่ชื่อมารี (ตามธรรมเนียมคริสตังฝรั่งเศสจะตั้งชื่อแรกของลูกสาวว่า มารี หากเป็นลูกชายจะตั้งชื่อแรกว่า โฌแซ็ฟ และตั้งชื่อกลางเป็นชื่อสามัญ) คาดว่ามารี ลาโวได้ถ่ายทอดวิชาเวทมนตร์คาถาแก่บุตรสาวเพื่อสืบทอดตำแหน่งราชินีวูดูหลังการตายของเธอ[4]

มารี ลาโวตายเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ. 1881 ขณะอายุ 79 ปี[11] ในช่วงเวลาดังกล่าวมีผู้หญิงที่ใช้ชื่อและสกุลซ้ำกับเธอจำนวนมาก และพบว่าอายุขณะตายนั้นขัดแย้งกับวันเกิดของเธอ[2]

เชิงอรรถ[แก้]

  1. มักมีการระบุปีเกิดของเธอว่าเกิดในปี ค.ศ. 1794 แต่ในบันทึกระบุว่าเกิดในปี ค.ศ. 1801[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 "Marie Laveau | History of American Women". History of American Women (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2012-07-01. สืบค้นเมื่อ 2018-07-06.
  2. 2.0 2.1 Marie Laveau The Mysterious Voudou Queen: A Study of Powerful Female Leadership in Nineteenth-Century New Orleans by Ina Johanna Fandrich
  3. 3.0 3.1 Loustaunau, Martha, Denmke. Marie Laveau. Salem Press Enclycopedia. p. 1. สืบค้นเมื่อ 9 February 2015.
  4. 4.0 4.1 "Marie Laveau: Separating fact from fiction about New Orleans' Voodoo queen". NOLA.com (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2018-07-06.
  5. 5.0 5.1 5.2 อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ Tallant, Robert 1946
  6. "Dictionary of Louisiana Biography - L - Louisiana Historical Association". www.lahistory.org (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-12-01. สืบค้นเมื่อ 2018-07-07.
  7. Vitelli, Dr. Romeo. "The Marie Laveau Phenomenon". archive.randi.org (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2018-07-06.
  8. Vitelli, Dr. Romeo. "The Marie Laveau Phenomenon". archive.randi.org (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2018-07-08.
  9. Ward, Martha. Voodoo Queen: The Spirited Lives of Marie Laveau (Jackson: University Press of Mississippi, 2004).
  10. 10.0 10.1 Morrow., Long, Carolyn (2006). A New Orleans voudou priestess : the legend and reality of Marie Laveau. Gainesville: University Press of Florida. ISBN 0813029740. OCLC 70292161.
  11. Long, Carolyn Morrow. A New Orleans Voudou Priestess: The Legend and Reality of Marie Laveau, Gainesville: University Press of Florida (2006), (ISBN 9780813029740).