มาตราตวง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

มาตราตวง เป็นมาตราที่นิยมก่อนการมีมาตราชั่ง และวัด โดยในสมัยโบราณนิยมใช้มาตราที่มีอยู่ในตัวเช่นมือ กำมือ ฟายมือ หรือใช้อุปกรณ์หาได้ง่ายๆ เช่นกะลามะพร้าว กระบุงสานจากไม้ไผ่ ซึ่งขนาดใหญ่เล็กแตกต่างกันไปในแต่ละที่แต่ละคน

ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 5 มีความคิดตั้งกระทรวงขึ้นเพื่อจัดการเกี่ยวกับการค้าขาย และจัดการเรื่องมาตรฐานการชั่งตวงวัดให้มีมาตรฐานเดียวกันทั้งในประเทศและการค้าระหว่างประเทศ โดยขอเป็นสมาชิกองค์กรระหว่างประเทศว่าด้วยการชั่งตวงวัดซึ่งได้รับการตอบรับเป็นสมาชิกในปี พ.ศ. 2455 (ค.ศ. 1912) และตราพระราชบัญญัติมาตรชั่งตวงวัด พ.ศ. 2466 เพื่อใช้กำหนดมาตรฐานการชั่ง ตวง วัดในประเทศ ให้สอดคล้องกัน

มาตราตวงในระบบเมตริก[แก้]

ในระบบเมตริก (เป็นชื่อเก่าของระบบหน่วย SI เปลี่ยนในการประชุมครั้งที่11 ของ CGPM ปี 1960) หน่วยวัดปริมาตรในระบบ SI (The International System of Units, SI) หน่วยแสดงปริมาตรจะใช้หนึ่งในเจ็ดหน่วยหลัก (SI Base Units) ของระบบ SI คือหน่วยแสดงปริมาณความยาวซึ่งมีชื่อว่าเมตร มาประกอบเข้าด้วยกัน ก็จะเป็น ลูกบาศก์เมตร (cubic metre, m^3) เช่น ใช้น้ำประปาไป 12 ลูกบาศก์เมตร (หรือทางประปาเรียกว่าใช้ไป 12 หน่วย) เป็นต้น หน่วยย่อยลงไปที่ใช้มาก คือ ลูกบาศก์เซนติเมตร, ซม^3 หรือ ซี.ซี. (cubic centimetre, cm^3) เช่น เบียร์กระป๋องมีความจุขนาด 330 ซม^3 เป๊บซี่หรือโค้กขนาด 325 ซม^3 แชมพูขนาด 400 ซี.ซี. น้ำปลา 700 ซม^3 เป็นต้น

สำหรับคำว่าลิตร (litre) เป็นหน่วยที่ใช้อยู่โดยกว้างขวาง ไม่ได้จัดเข้าในระบบหน่วย SI แต่สามารถใช้ร่วมกับระบบนี้ได้โดยใช้เงื่อนใขจากการตกลงกันของสมาชิก CIPM 50 ประเทศดังนี้

ความสัมพันธ์ระหว่างลิตรกับหน่วย SI เหล่านี้ คือ 1 L,l (1 ลิตร) = 1 l=1dm^3 = 10^3 cm^3= 10^-3 m^3 สัญลักษณ์ L และ l ใช้ได้ทั้ง 2แบบ เนื่องจากที่ประชุม CGPM (1979) เห็นว่าตัวเลขหนึ่ง 1 และตัวอักษรแอล l อาจทำให้สับสน

ก็มี ลิตร (litre หรือ liter, อังกฤษใช้ litre อเมริกันใช้ liter) สัญลักษณ์ใช้ l หรือ L (ตัวแอลเล็กหรือตัวแอลใหญ่) ใช้คำนำหน้าจากระบบ SI (SI prefixes) ซึ่งมีอยู่ตอนนี้ 20 ตัว เพื่อแสดงหน่วยใหญ่กว่าและ หน่วยย่อยลงมาของลิตร ตัวอย่างเช่น เดซิลิตร, ดล. (decilitre, dl) , เซนติลิตร, ซล. (centilitre, cl) , มิลลิลิตร, มล. (millilitre, ml) ซึ่งยังคงใช้กันมากในปัจจุบัน เช่น ระบุราคาน้ำมันเบนซิน ดีเซล แก๊สโซฮอล์ ว่าเป็นลิตรละเท่าไร บอกความจุของน้ำอัดลมในขวดเป็น 1.25 ลิตร, 2 ลิตร บอกความจุของวิสกี้ เบียร์ ไวน์ ในขวดเป็น l, dl, ml หรือ cl บอกความจุของแชมพูในขวดเป็น ml เป็นต้น

ความสัมพันธ์ของหน่วยเหล่านี้คือ 1 l (1 ลิตร) = 10 dl = 100 cl = 1000 ml

หน่วยที่ใหญ่กว่าลิตรก็มี เช่น เดคาลิตร, ดคล. (decalitre, dal) ซึ่งเท่ากับ 10 ลิตร เฮคโตลิตร (hectolitre, hl) ซึ่งเท่ากับ 100 ลิตร เป็นต้น

ระบบอังกฤษมี ลูกบาศก์ฟุต (ft^3) ลูกบาศก์นิ้ว (in^3) ซึ่ง 1 ft^3 = 28.317 l (ลิตร) = 28,317 cm^3 = 0.028317 m^3

1 in^3 = 1.6387 x 10^–5 m^3

หน่วยปริมาตรของต่างประเทศที่เราได้ยินกันยังมี แกลลอน (gallon) 1 แกลลอน = 4.546 ลิตร (British Imperial gallon) ส่วนแกลลอนของสหรัฐอเมริกา (U.S. gallon) ไม่เท่ากับของอังกฤษ กล่าวคือ 1 U.S. gallon = 3.785 ลิตร

สำหรับน้ำมันปิโตรเลียม ยังมีการใช้หน่วย บาร์เรล (barrel) โดยที่ 1 บาร์เรลเท่ากับประมาณ 158.9873 ลิตร และ 1 บาร์เรล = 35 แกลลอนอังกฤษ (เท่ากับ 159.11 ลิตร) ส่วนในสหรัฐอเมริกา 1 บาร์เรล = 42 แกลลอน (เท่ากับ 158.97 ลิตร)

สำหรับการตวงวัดเหล้าในบาร์ ยังมีการใช้ถ้วยตวงที่มีขีดบอกปริมาตรเป็น ออนซ์ (onze) ด้วย (ซึ่ง ออนซ์ มีที่ใช้ทั้งในแบบปริมาตรและแบบน้ำหนัก) และมีการใช้หน่วย ควอต (quart) ซึ่ง 1 ควอต = 32 ออนซ์ และ 1 แกลลอน = 4 ควอต

การตวงยา อาหาร และส่วนผสมในการทำอาหาร ยังอาจมีการใช้ หน่วย ช้อน ด้วย เช่น ให้รับประทานยาครั้งละ 1 ช้อนชา, 1 ช้อนโต๊ะ ซึ่ง 1 ช้อนโต๊ะ = 3 ช้อนชา

ในเรื่องการตวงเหล้า การตวงวัดในบาร์ การตวงวัดในเรื่องเกี่ยวกับการปรุงอาหาร ยังมีหน่วยอื่น ๆ บางอย่างด้วย เช่น ไพนท์ (Pint) เพค (Peck) บุเชล (Bushel) ถ้วยตวง (Cup) เป็นต้น และมีความสัมพันธ์กับหน่วยตวงอื่น ๆ เช่น 1 เพค = 8 ควอต 4 เพค = 1 บุเชล 1 ถ้วยตวง = 8 ออนซ์ เป็นต้น

มาตราตวงของไทยโบราณ[แก้]

มีการใช้ ทะนาน ถัง ตวงสิ่งของ ซึ่งเรามักจะคุ้นเคยกับเรื่องการตวงของแข็งมากกว่า เช่น เราคงทราบเรื่องการละเล่นของเด็กไทยอย่างหนึ่งที่มีเนื้อร้องตอนเล่น ว่า

 “รีรีข้าวสาร สองทะนานข้าวเปลือก
 เลือกท้องใบลาน เก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน
 คดข้าวใส่จาน พานเอาคนข้างหลังไว้” [1]

ทะนาน เป็นเครื่องตวงอย่างหนึ่ง ทำด้วยกะลามะพร้าว [2] โดยที่ 20 ทะนานเป็น 1 ถัง แล้วยังมี ทะนานหลวง ซึ่งเท่ากับ 1 ลิตรในระบบเมตริก ด้วย

นอกจาก ถัง แล้ว ยังมีอีกคำคือ สัด ซึ่ง สัด ก็เป็นภาชนะสานที่ใช้ตวงข้าว ส่วนถังนั้นสมัยโบราณทำด้วยไม้ คงมีการใช้ ถัง กับ สัด ปน ๆ กัน แต่ถัง กับ สัด มีขนาดไม่เท่ากัน ไม่ควรใช้แทนกัน ดังมีคำกลอนจากนิราศภูเขาทองของสุนทรภู่ [3] ตอนหนึ่ง ซึ่งนำคำ ถัง กับ สัด ไปเปรียบเทียบกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ไม่ยุติธรรม ว่า

“ จะยกหยิบธิบดีเป็นที่ตั้ง ก็ใช้ถังแทนสัดเห็นขัดขวาง

จึ่งจำลาอาวาสนิราศร้าง มาอ้างว้างวิญญาณ์ในสาคร”

มีข้อมูล พระราชบัญญัติ มาตราชั่งตวงวัด พ.ศ. 2466 (รัชกาลที่ 6)
มาตรา 13 ข้อ 2 วิธีประเพณี โดยระบุว่า นาม, อัตรา และ อักษรย่อ ตามลำดับ
  • เกวียนหลวง ให้เท่ากับ สองพันลิตร (กว.)
  • บั้นหลวง ให้เท่ากับ พันลิตร (บ.)
  • สัดหลวง ให้เท่ากับ ยี่สิบลิตร (ส.)
  • ทะนานหลวง ให้เท่ากับ หนึ่งลิตร (ท.)

(ทนาน เขียนตามที่ปรากฏใช้ในพระราชบัญญัตินี้ ปัจจุบัน พจนานุกรมใช้ ทะนาน)

ไม่มีระบุเกี่ยวกับถังว่าเป็นเท่าไร

ยังมีหน่วยโบราณอื่น ๆ ที่มีขนาดน้อยกว่า ทะนาน เป็นการวัดโดยประมาณ เช่น

  • 4 กำมือ (มุฏฐิ) = 1 ฟายมือ (กุฑวะ)
  • 2 ฟายมือ = 1 กอบมือ (ปัตถะ)
  • 2 กอบ = 1 ทะนาน (นาฬี หรือ นาลี) เป็นต้น[4]

ขนาด “ฟายมือ” คือ เต็มอุ้งมือ หรือ เต็มฝ่ามือที่ห่อเข้าไป

จะเห็นว่า หน่วยสำหรับการตวงก็มีมากพอสมควร ขึ้นอยู่กับความนิยม วัสดุรอบตัว ถัง กระบุง กะลา อวัยวะต่างๆ มือ แขน ซึ่งบางครั้งมีขนาดไม่แน่นอน อาจเกิดความไม่แน่ใจจนเกิดเป็นอุปสรรคในการวัดที่ดีพอสำหรับใช้งาน ควรเลือกใช้มาตราตวงที่มีมาตรฐานน่าเชื่อถือได้เพียงพอสำหรับการใช้งานนั้นๆ

หากจะหาปริมาตรตามหน่วยโบราณ เทียบกับหน่วยหลวง อาจคิดย้อนจาก

  • 1 หยิบมือ = 150 เมล็ดข้าวเปลือก
  • 4 หยิบมือ = 1 กำมือ = 600 เมล็ดข้าวเปลือก
  • 4 กำมือ = 1 ฟายมือ = 2,400 เมล็ดข้าวเปลือก
  • 2 ฟายมือ = 1 กอบมือ = 4,800 เมล็ดข้าวเปลือก
  • 4 กอบมือ = 1 ทะนาน = 19,200 เมล็ดข้าวเปลือก
  • 20 ทะนาน = 1 สัด = 384,000 เมล็ดข้าวเปลือก
  • 50 สัด = 1 บั้น = 19,200,000 เมล็ดข้าวเปลือก
  • 2 บั้น = 1 เกวียน หรือ 100 ถัง = 38,400,000 เมล็ดข้าวเปลือก

โดยเอาปริมาตรเมล็ดข้าวเปลือกเป็นเกณฑ์ (ไม่ทราบว่าเมล็ดข้าวเปลือกพันธุ์ใดที่โบราณใช้)

อ้างอิง[แก้]

  1. ผะอบ โปษะกฤษณะ, “การละเล่นของไทย”, สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ ฉบับอิเล็กทรอนิกส์, โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ , 2545
  2. ราชบัณฑิตยสถาน, “พจนานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2493” , พิมพ์ครั้งที่ 4, 2503
  3. สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, “ชีวิตและงานของสุนทรภู่”, พิมพ์ครั้งที่ 10, สำนักพิมพ์เสริมวิทย์บรรณาคาร, 2518
  4. สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส, “สารานุกรมพระพุทธศาสนา”, พิมพ์ครั้งที่ 2, มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2539
  • นิทัศน์ จิระอรุณ, “เรื่องของมาตราวัด”, ข่าวสารคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ปีที่ 11 ฉบับที่ 52, ต.ค. – ธ.ค. 2547, หน้า 1 - 4
  • ราชบัณฑิตยสถาน, “สารานุกรมไทย เล่ม 13” , พิมพ์ครั้งที่ 2, บริษัทรุ่งศิลป์การพิมพ์, 2524, หน้า 8470 - 8478
  • พระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พ.ศ. 2466,ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 40 หน้า 183 วันที่ 27 ธันวาคม
  • Bureau International des Poids et Measures,The International Sytem of Units (SI) , 8th edition 2006,Organisation Intergouvernementale de la Convention du Metre