ข้ามไปเนื้อหา

ภูมิทัศน์เมือง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ภูมิทัศน์เมือง แม้จะเป็นคำที่ไม่คุ้นเคยโดยทั่วไป หรือมักใช้กันเฉพาะในวิชาชีพทางสถาปัตยกรรม แต่ความหมาย และความเข้าใจนั้น เป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว นั่นเป็นเพราะชีวิตผู้คนส่วนใหญ่ต่างดำรงชีพในสังคมเมืองที่ประสบพบเห็นความงามของเมืองจนชินตา อย่างไรก็ตามการสร้างความเข้าใจตามความหมาย และแนวคิดเกี่ยวกับภูมิทัศน์เมือง ย่อมช่วยให้เห็นคุณค่าของความงดงามของเมืองที่เกิดจากการใช้ธรรมชาติ และการสรรสร้างของมนุษย์ เพื่อปั้นแต่งเมืองแต่ละเมืองให้เกิดความสวยงามที่แตกต่างกัน คำว่า"ภูมิทัศน์เมือง" เป็นคำแปลที่มาจากศัพท์ภาษาอังกฤษว่า "Urban Landscape" หรือ "Townscape" ซึ่งเกิดจากการรวมกันของคำว่า Urban หรือ Town ที่แปลว่า "เมือง" ซึ่งเป็นเครื่องหมายที่ใช้แสดงลักษณะพื้นที่เมืองที่ถูกล้อมรอบด้วยกำแพง หรือเป็นพื้นที่ในเขตรัศมีที่แยกตัวจากพื้นที่ชนบท และมีแบบแผนของการจัดองค์กรภายใน และคำว่า Landscape ที่แปลว่า "ภูมิทัศน์" หมายถึง การรับรู้สภาพแวดล้อมภูมิประเทศทั้งที่ปรากฏตามจริง และภาพลักษณ์ในจิตใจที่รู้สึกได้ (เกริก กิตติคุณ, ภูมิทัศน์เมือง, หน้า 1-2)

ความหมายภูมิทัศน์เมือง

[แก้]

การ์ดอน คัลเลน (Gordon Cullen, 1961, p. 8) สถาปนิกผู้ศึกษาภูมิทัศน์เมือง ได้ให้ความหมายภูมิทัศน์เมืองว่า สิ่งแวดล้อตามเส้นทาง และพื้นที่นอกอาคารที่สามารถมองเห็นและรับรู้ได้ในเมือง ไม่ว่าเป็นลักษณะและรูปทรงที่โอบล้อมจุดที่เรายืนอยู่ โดยจะมีการเปลี่ยนแปลงการรับรู้ภูมิทัศน์เมืองจากการเคลื่อนที่จากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่งภายในเมือง หรือ ศิลปะการสร้างเมืองที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้สายสัมพันธ์ทางสายตาระหว่างมนุษย์กับสภาพแวดล้อมในเมือง ที่เน้นการรับรู้สภาพแวดล้อมโดยการมองเห็น และการสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมที่ตอบรับและสอดคล้องกับการรับรู้ของผู้คนโดยผ่านทางการจัดวางองค์ประกอบทางกายภาพในสภาพแวดล้อมของเมือง เป็นศูนย์กลางของกิจกรรมในเมือง และในบางครั้ง จุดสังเกตและจุดศูนย์รวมก็รวมอยู่ในสถานที่เดียวกัน

เควิน ลินซ์ (Kevin Lynch, 1977, p. 46) สถาปนิกชาวอเมริกันนักวางผัง ได้ให้นิยาม ภูมิทัศน์เมือง ว่าเป็นการรวมองค์ประกอบในการรับรู้ของเมืองจากผู้พบเห็น ซึ่งประกอบด้วยองค์ประกอบหลัก 5 อย่าง คือ ทางสัญจร (Paths) ขอบเขต (Edges) ย่าน (Districts) จุดศูนย์รวม (Nodes) และจุดหมายตา (Landmarks) โดยองค์ประกอบทั้ง 5 ประการ จะสร้างมโนทัศน์ในการรับรู้เมืองของผู้สังเกต หากสภาพแวดล้อมของเมืองมีการจัดองค์ประกอบที่เหมาะสม ก็จะทำให้เกิดจินตภาพที่ชัดเจนและ ส่งผลให้เมืองนั้นๆมีความน่าประทับใจต่อผู้พบเห็นในที่สุด

อาชิฮารา โยชิโนบุ (Ashihara Yoshinobu,Translated by Lynne E. Riggs, 1983, p. 39) ให้ความหมายของภูมิทัศน์เมือง คือ ภาพรวมของเมืองซึ่งเกิดจากองค์ประกอบทางกายภาพต่างๆซึ่งปรากฏแก่สายตา และก่อให้เกิดผลทางอารมณ์และความรู้สึกแก่ผู้รับรู้องค์ประกอบ โดยคุณลักษณะของภูมิทัศน์เมืองถูกกำหนดขึ้นจากความสัมพันธ์ระหว่างถนนและกลุ่มอาคารในพื้นที่เมือง ซึ่งองค์ประกอบสำคัญที่กำหนดคุณลักษณะของภูมิทัศน์เมืองในปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อภูมิทัศน์เมือง ได้แก่ วัสดุที่ใช้ (Materials) ขนาดสัดส่วน (Proportions) และเส้นรอบรูป (Profiles) หรือ เส้นขอบที่มองจากด้านหน้าอาคาร และด้านข้างอาคาร

อาจกล่าวได้ว่า ภูมิทัศน์เมือง คือ “การรวมเข้าด้วยกันระหว่างสภาพทางธรรมชาติ และงานสร้างสรรค์ของมนุษย์ โดยการออกแบบหรือปรับปรุงคุณภาพทางทัศนียภาพในสภาพแวดล้อมที่เป็นส่วนของเมือง เพื่อให้เกิดความร่มรื่น สวยงาม มีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันในแต่ละเมือง”

องค์ประกอบภูมิทัศน์เมือง

[แก้]

จากอดีตการเลือกที่ตั้งของเมืองตามจุดมุ่งหมายเพื่อการป้องกันการรุกรานจากข้าศึกศัตรู การสร้างเมืองโดยอาศัยสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ จึงถูกกำหนดเป็นปัจจัยแรกขององค์ประกอบเมือง ต่อมาเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงจากชนบทไปสู่ความเป็นเมือง และเกิดการขยายตัวจากศูนย์กลางเมืองไปชานเมืองมากขึ้น สภาพแวดล้อมของเมืองถูกกำหนดตามสิ่งที่มนุษย์สร้าง โดยมีโครงข่ายคมนาคมขนส่งเป็นตัวเชื่อมโยงชุมชนต่างๆองค์ประกอบของเมือง มีปัจจัยที่หลากหลายทั้งทางกายภาพ และสังคมตามสิ่งปลูกสร้างทางสถาปัตยกรรมของพื้นที่เมืองและพื้นที่ว่าง อันก่อให้เกิดสภาพภูมิทัศน์ในแต่ละเมืองที่แตกต่างกัน โดยได้แบ่งประเภทขององค์ประกอบภูมิทัศน์ ดังนี้

1. องค์ประกอบภูมิทัศน์เมือง ตามลักษณะสภาพแวดล้อมทางภูมิประเทศของเมือง (Natural Environment)

2. องค์ประกอบภูมิทัศน์เมือง ตามสภาพแวดล้อมทางที่มนุษย์สร้างสรรค์ (Manmade Build Environment) ได้แก่ สภาพแวดล้อมของเมืองที่เกิดขึ้นจากการกระทำของมนุษย์ และสิ่งปลูกสร้างของชุมชนที่อยู่โดยรอบพื้นที่ของเมือง

เมื่อพิจารณาในแง่ของการวิเคราะห์ถึงความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบของเมือง และประเมินเงื่อนไขขององค์ประกอบโดยพิจารณาจากรูปทรงทางผังเมือง ลักษณะและตำแหน่งที่ตั้ง ซึ่งองค์ประกอบสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติของเมืองจากปัจจัยสภาพภูมิประเทศ และสภาพทางธรรมชาติ (Landform and Nature) โดยการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างสภาพภูมิประเทศกับภูมิทัศน์เมือง และสถาปัตยกรรมใน 3 รูปแบบ ได้แก่ (Spreiregen, Paul D., 1965, page 51-52)

1. ภูมิทัศน์เมืองที่ตอบรับกับสภาพภูมิประเทศทั้งในเชิงสุนทรียภาพและประโยชน์ใช้สอย

2. การประเมินความสัมพันธ์ และผลกระทบระหว่างงานสถาปัตยกรรมในเมืองกับพื้นที่ธรรมชาติ

3. การตัดสินใจว่าพื้นที่ใดควรปล่อยให้คงอยู่ตามธรรมชาติ เพื่อช่วยเสริมสร้างคุณค่าให้กับเมือง

ความสัมพันธ์ขององค์ประกอบเมืองตามสภาพแวดล้อมที่มนุษย์สร้างสรรค์ (Manmade Build Environment) จากการประเมินเงื่อนไขขององค์ประกอบโดยพิจารณาจากรูปลักษณะของงานสถาปัตยกรรม ทางสัญจร และตำแหน่งของที่ตั้งตามสภาพแวดล้อมในชุมชนเมือง ได้แบ่งองค์ประกอบเมืองทางกายภาพที่มนุษย์สร้างสรรค์ 7 องค์ประกอบ ได้ดังนี้ (วรรณศิลป์ พีรพันธุ์, 2538, หน้า 5-18)

1. การวางผังเมือง (Urban Planning)

2. เส้นทางคมนาคม (Routes)

3. พื้นที่เมือง และพื้นที่ว่าง (Urban Spaces and Open Spaces)

4. กระสวนและลักษณะของเนื้อเมือง (Pattern, Grain and Texture)

5. ย่านของเมือง (The Districts of a City)

6. ปัจจัยเชิงนามธรรม (Nonphysical Aspects)

7. รายละเอียดประกอบเมือง (Details)

ภาพลักษณ์ หรือจินตภาพของเมือง (Image of the city) เควิน ลินซ์สถาปนิกชาวอเมริกัน (Kevin Lynch, 1977, Pages 47 - 48) ได้ศึกษาองค์ประกอบของเมือง ที่ได้จากการสังเกต ที่ประกอบด้วย เอกลักษณ์ (Identity) โครงสร้าง (Structure) และความหมาย (Meaning) ส่วนประกอบทั้งสามต่างมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด สิ่งต่างๆที่ก่อให้เกิดจินตภาพได้ชัดเจนต้องมีคุณสมบัติด้านเอกลักษณ์ และโครงสร้างอย่างชัดเจนปรากฏเป็นร่องรอยในความทรงจำแก่ผู้พบเห็น โดยเป็นมโนภาพของเมืองด้านความงามที่มีลักษณะเฉพาะอันชัดเจน แตกต่างไปจากเมืองอื่น อันชวนให้ระลึกถึงและจดจำได้ง่าย ซึ่งจะมีลักษณะแตกต่างกันออกไป ตามลักษณะทางกายภาพ เศรษฐกิจและสังคม รวมถึงผู้คนและกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเมืองนั้นๆ โดย Kevin Lynch พบว่ามีองค์ประกอบทางกายภาพของเมือง (The City Image and Its Elements) ที่ผู้คนมักใช้ในการสร้างจินตภาพขึ้นในใจระหว่างตนเอง และสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับเมือง ให้แนวคิดองค์ประกอบในการรับรู้ของเมือง ทำให้ได้ภาพของเมืองในการค้นหาสภาพแวดล้อมทางกายภาพของเมืองจากผู้พบเห็นที่ช่วยให้ผู้คนใช้ในการสร้างมโนภาพของตัวเองเกี่ยวกับเมือง ตามองค์ประกอบพื้นฐาน 5 ประการดังนี้ (วิมลสิทธิ์ หรยางกูล, 2537, 157-161)

1. เส้นทาง (Path) ทางสัญจร เป็นช่องทางการเคลื่อนที่ใช้สัญจรไปมา เช่น ถนน ทางรถไฟ ทางด่วน ทางเท้า เป็นต้น เส้นทางเหล่านี้เป็นส่วนที่มีความสำคัญมากต่อการเดินทางของผู้คนในเมือง ในขณะที่ผู้คนเคลื่อนไหวผ่านเส้นทาง ผู้คนมีโอการสเห็นส่วนต่างๆของเมืองตามเส้นทาง และเกิดความสัมพันธ์กับองค์ประกอบอื่นๆของเมือง

2. เส้นขอบ (Edge) เส้นขอบ หรือ ขอบเขต เป็นองค์ประกอบที่มีลักษณะกำหนดขอบเขตของบริเวณที่ไม่ได้ใช้เป็นเส้นทางตามทัศนะของผู้สังเกต อาจปรากฏเป็นเส้นกั้นจากส่วนหนึ่งไปอีกส่วนหนึ่ง ที่เป็นแนวกั้นตามธรรมชาติ เช่น ชายฝั่งทะเล หรือ ริมฝั่งแม่น้ำ และแนวกั้นที่แสดงขอบเขตที่มนุษย์สรรสร้างขึ้น เช่น กำแพงเมือง คูเมือง

3. ย่าน (Districts) เป็นบริเวณพื้นที่ชุมชนที่มีขนาดของพื้นที่ตามลักษณะเฉพาะของชุมชน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเมือง มีเอกลักษณ์ของบริเวณอันเกิดจากลักษณะเฉพาะร่วมกันของบริเวณที่ผู้สังเกตเข้าสู่ภายในเมืองได้ โดยแต่ละพื้นที่จะมีสภาพความเป็นอยู่ที่แตกต่างกันตามโครงสร้างทางสังคม วิถีชีวิตของชุมชนจะแสดงลักษณะกิจกรรมของผู้คนที่ปรากฏเป็นย่านที่มีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันในเมือง

4. ชุมทาง (Node) จุดศูนย์รวม หรือ ชุมทาง มักเป็นจุดศูนย์กลางของเส้นทาง เช่น บริเวณสี่แยก หรือ ชุมทางสถานีขนส่งต่างๆ ชุมทางสถานีรถไฟใต้ดิน อาจเป็นสถานที่ซึ่งมีกิจกรรมหนาแน่นบริเวณจัตุรัสใจกลางเมือง จุดศูนย์รวมจึงเป็นจุดเด่นเฉพาะตัวของย่านในเมือง เกิดความสัมพันธ์กับเส้นทางต่างๆที่รวมกันเป็นชุมทางเมื่อมาถึงและเดินทางเชื่อมต่อไปยังที่อื่นๆ

5. ภูมิสัญลักษณ์ (Landmark) จุดสังเกต หรือ จุดหมายตา เป็นจุดอ้างอิง หรือ ภูมิสัญลักษณ์ที่ใช้เป็นจุดหมายตา แตกต่างจากชุมทาง ที่บุคคลไม่สามารถเข้าสู่ภายในจุดหมายตาได้ โดยทำหน้าที่เป็นสัญญาณชี้แนะสำหรับสภาพแวดล้อม เช่น ป้าย อาคารสำคัญๆ อนุสาวรีย์ เป็นต้น ภาพแสดง 5 องค์ประกอบหลักตามจินตภาพเมือง (Image of the city) ของลินซ์ (เกริก กิตติคุณ, 2552, หน้า 27.)

ภาพแสดงจินตภาพในการรับรู้พื้นที่บริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ ของนักท่องเที่ยว (เกริก กิตติคุณ, 2552, หน้า 29.)

การวิเคราะห์ภูมิทัศน์เมือง

[แก้]

Larry W. Canter (บัณฑิต จุลาศัย, 2547, หน้า 109) สรุปเทคนิคสำหรับการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมทางด้านสุนทรียภาพไว้ 5 วิธี ดังนี้

1.การใช้แบบสอบถาม 2.การบรรยายพร้อมภาพประกอบ 3.การใช้หุ่นจำลอง 4.การใช้เทคนิคภาพซ้อน 5.การสร้างภาพโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์

การคาดการณ์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น (เกริก กิตติคุณ, ภูมิทัศน์เมือง,หน้า 72) เป็นการคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นระหว่างการก่อสร้างโครงการและเมื่อโครงการแล้วเสร็จ เพื่อการประเมินผลกระทบที่จะมีต่อสุนทรียภาพของเมือง โดยการคาดการณ์เพื่อการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในเรื่องของสุนทรียภาพที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างที่ก่อผลกระทบต่อชุมชน ทั้งนี้รายงานการศึกษาเพื่อวิเคราะห์ผลกระทบที่จะมีต่อภูมิทัศน์ของเมือง โดยการสร้างภาพจำลอง (Simulation) ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การวาดภาพเพื่อแสดงโครงการที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่พร้อมคำอธิบายแสดงถึงการวิเคราะห์สภาพปัญหาของพื้นที่โครงการ และเปรียบเทียบสภาพพื้นที่จริงก่อนโครงการก่อสร้างที่ยังไม่เกิดขึ้น กับสภาพพื้นที่จริงหลังโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ เพื่อแสดงให้เห็นภาพจำลองจากการวาดรูปมุมมองแสดงทัศนียภาพโดยรวมของโครงการแล้วว่าไม่ได้ส่งผลกระทบทางสุนทรียภาพ การสร้างหุ่นจำลอง (Mass Model) ที่ถูกต้องตามมาตราส่วน เพื่อเปรียบเทียบผลกระทบทางการมองเห็นเสมือนว่าโครงการได้ก่อสร้างแล้วเสร็จในพื้นที่ การใช้ภาพที่สร้างสรรค์จินตนาการด้วยเทคนิคคอมพิวเตอร์ เพื่อสร้างภาพสามมิติของโครงการ และภาพเคลื่อนไหว (3D Animation) เพื่อแสดงให้เห็นภาพรวมของโครงการกับพื้นที่โดยรอบ ส่วนวิธีการที่ใช้กันมากที่สุด และได้ผลการการวิเคราะห์ทัศนียภาพของเมืองอย่างง่าย คือ การสร้างภาพจำลองซ้อนทับภาพถ่าย (Photomontage) โดยใช้หลักการถ่ายภาพโครงการ และภาพพื้นที่บริเวณโดยรอบ แล้วนำมาสร้างภาพจำลองซ้อนทับภาพถ่าย โดยมีวัตถุประสงค์ของการสร้างภาพจำลอง คือ เพื่อทำให้เกิดความเข้าใจ (Comprehension) ได้ว่าโครงการที่จะเกิดในอนาคตเป็นอย่างไร เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือได้ (Credibility) ว่าถูกต้องตามความเป็นจริง และปราศจากอคติ (Lack of Bias) ไม่โน้มเอียงไปในทางที่จะทำให้เกิดความสวยงามหรือน่าเกลียดเกินความเป็นจริง โดยใช้คุณสมบัติของภาพจำลองที่สามารถเป็นตัวแทนของโครงการในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง มองภาพเหมือนจริง (Accuracy) และมองเห็นภาพได้ชัดเจน (Visual Clarity) อยู่ในขอบเขตของความจริง มีความถูกต้อง และสามารถตรวจสอบได้ (Legitimacy) โดยเฉพาะในกรณีที่มีข้อสงสัยในด้านความน่าเชื่อถือ จะต้องสามารถอธิบายได้

แนวทางการจัดการภูมิทัศน์เมือง

[แก้]

แนวทางการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน ควรคำนึงถึงเอกลักษณ์ของเมือง ทางด้านสิ่งแวดล้อม สังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจรวมเข้าด้วยกัน โครงการก่อสร้างที่ส่งผลกระทบในทางลบที่มีต่อภูมิทัศน์เมือง โดยไม่ได้คำนึงเอกลักษณ์เฉพาะและวิถีชีวิตของเมือง ได้ทำลายบรรยากาศการรับรู้ทางสุนทรียภาพที่ส่งผลกระทบต่อภูมิทัศน์เมือง ทั้งนี้แนวทางการจัดการภูมิทัศน์เมืองที่เสริมสร้างการพัฒนาและการอนุรักษ์อย่างสอดคล้องกัน ควรยึดถือปฏิบัติ ดังนี้ (เกริก กิตติคุณ, ภูมิทัศน์เมือง,หน้า 82 – 93)

1.การบริหารจัดการในเชิงแผนและนโยบายของหน่วยงานในท้องถิ่น

การวางแผนเพื่อพัฒนาและอนุรักษ์ทัศนียภาพเมือง ควรเป็นแผนในระดับแผนปฏิบัติการที่มีความชัดเจนในการดำเนินงาน มีการกำหนดวัตถุประสงค์ ขั้นตอนกระบวนการดำเนินงาน ระยะเวลาของโครงการต่าง ๆ และการจัดตั้งงบประมาณ โดยมีหลายหน่วยงานที่รับผิดชอบเข้ามามีบทบาทในการดำเนินงาน อันจะทำให้การจัดเตรียมงบประมาณเพื่อใช้ในการดำเนินงานทั้งหมดจากรัฐบาล รวมทั้งแหล่งเงินทุนภายในและจากต่างประเทศ จากกองทุนเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาในด้านต่าง ๆ โดยควรเน้นที่การศึกษาค้นคว้าวิจัย เพื่อเสนอแนะวิธีการการพัฒนาสภาพภูมิทัศน์เมือง มากกว่านำมาใช้ในการของบประมาณเพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางกายภาพ

2.การสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนที่มีต่อสภาพภูมิทัศน์เมือง

เพื่อบรรลุผลที่ได้จากการการวางแผน ควรได้รับการสนองตอบจากชุมชน และสังคมท้องถิ่น โดยไม่ทำให้ขีดความสามารถที่จะสนองตอบต่อความจำเป็นต้องการในอนาคตเสียไป โดยการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการอนุรักษ์และพัฒนาสภาพภูมิทัศน์เมืองให้เกิดขึ้น แนวทางการจัดการสภาพภูมิทัศน์เมือง ควรให้ความสำคัญต่อสิทธิของประชาชนในท้องถิ่น และเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับนโยบายและแผนงานที่ชุมชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ตลอดจนเผยแพร่ความรู้ด้านการอนุรักษ์แก่ประชาชน ทำได้โดยให้ความรู้และการศึกษาทั้งในโรงเรียน และนอกระบบ มีการฝึกอบรม รวมไปถึงการประชาสัมพันธ์การจัดทำแนวทางหรือคู่มือการพัฒนาภูมิทัศน์เมือง ทั้งนี้กระบวนการมีส่วนร่วมนับว่าเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาในทุกระดับตั้งแต่ระดับองค์กรหน่วยงานของรัฐ จนถึงในระดับชุมชนขนาดเล็ก การพัฒนาสภาพภูมิทัศน์เมือง ต้องใช้มิติของภาคประชาชนในการจัดการและการแก้ปัญหาร่วมกัน กระบวนการมีส่วนร่วมก่อให้เกิดพลังของทุกฝ่ายในการร่วมกันคิด ร่วมกันทำ และผลจากการมีส่วนร่วมของประชาชน สามารถนำไปสู่การพัฒนาชุมชนที่มีประสิทธิภาพ

3.การบังคับใช้กฎหมายที่เป็นกลไกของรัฐเพื่ออนุรักษ์และพัฒนาสภาพภูมิทัศน์เมือง

มาตรการทางกฎหมายที่บังคับใช้เพื่อควบคุมภูมิทัศน์เมืองที่มีคุณค่าให้คู่ควรแก่การอนุรักษ์ และส่งเสริมการพัฒนาภูมิทัศน์เมืองให้เป็นไปตามหลักการสุนทรียภาพโดยคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของโครงการก่อสร้างที่จะเกิดขึ้นทั้งของหน่วยงานของรัฐและเอกชน การบังคับใช้กฎหมายที่เป็นกลไกของรัฐ ที่ออกตามพระราชบัญญัติ และกฎกระทรวง รวมทั้งข้อบัญญัติของท้องถิ่น ที่บังคับใช้เฉพาะในขอบเขตพื้นที่การปกครองตามลักษณะความต้องการบังคับใช้ของท้องถิ่น การควบคุมเมืองเป็นไปตามผังที่ได้กำหนดไว้ในอนาคตของเมือง การวางและจัดทำผังเมือง ของกรมโยธาธิการและผังเมืองจะให้ความสำคัญกับมาตรการควบคุมทางกฎหมายผังเมืองที่ออกตามพระราชบัญญัติ และกฎกระทรวง รวมทั้งข้อบัญญัติของท้องถิ่น ที่บังคับใช้เฉพาะในขอบเขตพื้นที่การปกครองตามลักษณะความต้องการบังคับใช้ของท้องถิ่น รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมทางผังเมือง ได้แก่ พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 พระราชบัญญัติผังเมือง พ.ศ. 2518 พระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ พ.ศ. 2547 เป็นต้น และการใช้มาตรการควบคุมการบังคับใช้ทางกฎหมายทั้งในส่วนเทศบัญญัติ และข้อบังคับของท้องถิ่น เพื่อให้เป็นไปตามแผนการดำเนินงานของสภาพภูมิทัศน์ที่ได้กำหนดไว้

อ้างอิง

[แก้]
  • เกริก กิตติคุณ.ภูมิทัศน์เมือง . คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย. 2552
  • เกริก กิตติคุณ. ภูมิทัศน์เมืองในงานวางผัง. เอกสารประกอบการสอนวิชาผังบริเวณ : มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย, 2551
  • วรรณศิลป์ พีรพันธุ์. องค์ประกอบของเมือง. (ม.ป.ท.). 2538
  • วิมลสิทธิ์ หรยางกูร. พฤติกรรมมนุษย์กับสภาพแวดล้อม มูลฐานทางพฤติกรรมเพื่อการออกแบและวางแผน. พิมพ์ครั้งที่ 5 กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.2541
  • บัณฑิต จุลาศัย. การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมกับการออกแบบสถาปัตยกรรม .กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.2546
  • Ashihara Yoshinobu,Translated by Lynne E. Riggs. The Aesthetics Townscape. Cambridge : MIT Press. 1983
  • Gordon Cullen, David Gosling. Visions of urban design. London : Academy Editions, 1996
  • kevin Lynch. The image of the city. Cambridge : The MIT Press, 1977
  • Spreiregen, Paul D. Urban Design : the Architecture of Town and Cities. New York : McGraw-Hill Book Co. 1965