ข้ามไปเนื้อหา

พญาโศก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ในพิธีศพระดับต่าง ๆ ของประเทศไทยนั้น เพลงพญาโศก ทางบรรเลงแบบดุริยางค์สากล จะใช้เป็นเพลงบรรเลงสำหรับการเชิญพระบรมศพ พระศพ ตลอดจนถึงศพของสามัญชนทั่วไป ไปยังสถานที่จะปลงศพ และยังใช้บรรเลงเมื่อเวลาประชุมเพลิงหรือวางดินฝังศพอีกด้วย (ในภาพ เป็นการเคลื่อนริ้วกระบวนพระราชอิสริยยศ อัญเชิญพระโกศพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551)
ทหารปืนใหญ่จากกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 1 กรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ ปฏิบัติหน้าที่ยิงสลุตเพื่อถวายพระเกียรติ­แก่พระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี จำนวน 21 นัด ตามจังหวะของเพลงพญาโศก (เพลงพญาโศกเริ่มบรรเลงในนาทีที่ 2:59)

พญาโศก เป็นชื่อเพลงไทยเพลงหนึ่งที่ใช้ในการร้องหรือบรรเลงประกอบอารมณ์โศกเศร้า และเป็นเพลงที่นิยมใช้บรรเลงในพิธีศพของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของศพเกียรติยศชั้นต่าง ๆ

ประวัติ

[แก้]

เพลงพญาโศก เป็นเพลงไทยเดิมที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยรวมอยู่ในเพลงเรื่องพญาโศก (ประกอบด้วยเพลงพญาฝัน, พญาโศก, ท้ายพญาโศก, พญาตรึก, พญารำพึง และพญาครวญ) ใช้ในการร้องหรือบรรเลงประกอบอารมณ์โศกเศร้า เพลงนี้มีทั้งเพลงอัตราจังหวะ 2 ชั้น และอัตราจังหวะ 3 ชั้น โดยเพลงพญาโศก 2 ชั้น นิยมบรรเลงเฉพาะเพลงพญาโศกเพียงเพลงเดียว แต่บางครั้งจะบรรเลงเป็นเพลงเรื่องทั้งชุด ส่วนเพลงพญาโศก 3 ชั้น นิยมบรรเลงแบบ "เดี่ยว" คือบรรเลงคนเดียวด้วยเครื่องดนตรีแต่ละชนิดตามแต่ถนัด เพื่ออวดฝีมือและทักษะการบรรเลงของนักดนตรีโดยเฉพาะ ซึ่งพระประดิษฐ์ไพเราะ (มี ดุริยางกูร) หรือครูมีแขก นักดนตรีไทยในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ริเริ่มประดิษฐ์เพลงพญาโศกทางบรรเลงเดี่ยวเป็นคนแรก

สำหรับการใช้เพลงพญาโศกร้องประกอบการแสดงโขนละคร จะใช้เพลงพญาโศก 2 ชั้น และต้องร้องในบทที่ตัวละครโศกเศร้าอยู่กับที่ เช่น ยืน นั่ง นอน เท่านั้น จะใช้ในบทที่เดินเคลื่อนที่ไปไม่ได้ นอกจากนี้ บทที่ร้องด้วยเพลงพญาโศกจะต้องเลือกฐานะของตัวละคร  โดยมากจะต้องใช้กับตัวละครที่เป็นกษัตริย์ เจ้านาย หรือผู้มีบรรดาศักดิ์ชั้นสูง

เพลงพญาโศกทางดุริยางค์สากล

[แก้]
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ผู้ทรงเรียบเรียงทำนองเพลงพญาโศก 2 ชั้น ให้เป็นทางบรรเลงแบบดุริยางค์สากล

ในปี พ.ศ. 2462 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ขณะทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวง ตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ ดำริว่า สมัยนั้นประเทศไทยยังใช้เพลงสโลว์มาร์ชของต่างชาติในการเคลื่อนพระบรมศพหรือพระศพพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง จึงทรงนำเพลงพญาโศก 2 ชั้น มาเรียบเรียงใหม่ตามแนวดุริยางค์สากล สำหรับให้วงโยธวาทิตใช้บรรเลงนำขบวน

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เมื่อได้ทรงฟังเพลงพญาโศกทางดุริยางค์สากลแล้ว ทรงโปรดเพลงนี้มาก และมีพระบรมราชวินิจฉัยว่าเป็นเพลงที่มีลีลาสง่า ยิ่งใหญ่ อารมณ์เศร้า และที่สำคัญมีความหนักแน่นในตัวเอง จึงเหมาะสมแก่การอวมงคลเป็นอย่างยิ่ง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้เพลงนี้เป็นเพลงบรรเลงนำริ้วกระบวนเชิญพระบรมศพ ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นงานแรก นอกจากนี้ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศให้เพลงพญาโศกเป็น "เพลงโศกประจำชาติ" ให้ใช้ในงานศพได้ตั้งแต่การพระราชพิธีพระบรมศพ พระศพเจ้านาย ตลอดจนถึงงานศพของสามัญชนทั่วไป

ภายหลังเมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสด็จไปรับราชการในตำแหน่งเสนาธิการทหารบก พระองค์จึงทรงพระนิพนธ์ทำนองเพลงเพิ่มเติม โดยนำเพลงต้นพญาโศกมาเรียบเรียงให้เป็นทำนองท่อนที่ 2 ต่อท้ายทำนองเพลงเดิม เพื่อให้บทเพลงมีความสมบูรณ์มากขึ้น จนเป็นที่นิยมใช้กันในการบรรเลงขณะเคลื่อนขบวนศพจนถึงปัจจุบัน

อ้างอิง

[แก้]
  • กนกวรรณ ทองตะโก (20 กุมภาพันธ์ 2014). "พญาโศก". สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. สืบค้นเมื่อ 9 ตุลาคม 2021.
  • กรมดุริยางค์ทหารบก (10 ตุลาคม 2017). "ขบวนพระบรมราชอิสริยยศ - เพลงพญาโศก". คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช. สืบค้นเมื่อ 9 ตุลาคม 2021.
  • น้าชาติ ประชาชื่น (18 ตุลาคม 2017). "คอลัมน์ รู้ไปโม้ด : พญาโศก". ข่าวสดออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 9 ตุลาคม 2021.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]