ปะการังเทียม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
นักประดาน้ำกำลังก่อสร้างปะการังเทียมจากแท่งคอนกรีต

ปะการังเทียม (อังกฤษ: Artificial reef) เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นในรูปแบบต่าง ๆ อย่างมีแบบแผน เพื่อดัดแปลงสภาพของพื้นท้องทะเลให้อุดมสมบูรณ์ให้เหมือนสมัยก่อน โดยปะการังตามธรรมชาติมีการถูกทำลายและเหลือจำนวนน้อยลง โดยการจัดทำสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยหรือเรียกง่าย ๆ ว่า บ้านปลา เลียนแบบบริเวณที่มีกองหินใต้น้ำ ซากเรืออัปปาง หรือแนวปะการังธรรมชาติ โดยการใช้วัสดุที่แข็งแรง ทนทาน มีน้ำหนัก สามารถต้านทานกระแสน้ำได้ ราคาไม่แพง มีรูปแบบที่มีช่องเงาให้สัตว์น้ำกำบังหรือหลบซ่อนตัวได้ และนำไปวางรวมกลุ่มกันในบริเวณต่างๆ ตามแนวชายฝั่งที่เหมาะสม

วัสดุที่ใช้ก่อสร้างนั้นเป็นคอนกรีตล้วน เรียกว่า มาลีนไทด์ ซึ่งเป็นคอนกรีตที่ไม่ถูกกัดเซาะจากน้ำเค็ม โดยดำเนินการในหลายพื้นที่ อาทิ จังหวัดเพชรบุรี, ชุมพร, พังงา, ปัตตานี, นราธิวาส, ตราด, สุราษฎร์ธานี และในปี 2549 นี้ จะมีการดำเนินการจัดสร้างปะการังเทียมในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์และชลบุรี แต่ในบางท้องถิ่นไม่ได้มีสิ่งของดังกล่าวเสมอไป จึงต้องหาวัสดุอื่นมาทดแทน เช่น ยางรถยนต์ที่ไม่ใช้แล้ว เนื่องจากมีปริมาณเหลือใช้ค่อนข้างมาก จึงมีการนำมามัดรวมกันเป็นชุดๆ ชาวประมงท้องถิ่นสามารถทำได้เอง

ประโยชน์ของการจัดสร้างปะการังเทียม[แก้]

  • ช่วยตอบสนองการขยายตัวทางธุรกิจดำน้ำและมีประโยชน์ด้านการท่องเที่ยว
  • ป้องกันการกัดเซาะและพังทลายของชายฝั่ง และยังป้องกันการทำการประมงที่ผิดกฎหมายด้วย
  • การแก้ปัญหาด้านทรัพยากรทางทะเล สร้างสมดุลในธรรมชาติ ซึ่งสามารถใช้ปะการังเทียมมาเป็นมาตรการจัดการประมงชายฝั่ง ป้องกันเรืออวนลากอวนรุนเข้ามาแย่งพื้นที่ของชาวประมง
  • เพื่อดึงดูดสัตว์น้ำให้เข้ามาอยู่อาศัย ช่วยให้สัตว์น้ำมีแหล่งอาหาร-แหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ ใช้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำทะเล
  • ปะการังเทียมเป็นการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำโดยรวม มีสัตว์น้ำนานาชนิดอาศัยอยู่รวมกัน ทั้งกุ้ง,หอย, ปู และปลาหลายชนิดที่เป็นปลาประจำถิ่น เช่น กลุ่มปลากะพงหลายชนิดและปลาในแนวปะการังทั่วไป
  • ปะการังเทียมจะให้ประโยชน์กับชาวประมงพื้นบ้านในแนวน้ำตื้นค่อนข้างมากในด้านที่ช่วยเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำ ในบริเวณที่มีปลาอาศัยอยู่น้อย หรือไม่เคยมีปลามาก่อน

ประวัติการก่อตั้งโครงการปะการังเทียม[แก้]

นายสำราญ รักชาติ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่งกล่าวว่า กรมฯ ได้จัด “โครงการจัดสร้างปะการังเทียม” ขึ้นด้วยการนำวัสดุที่แข็งแรงทนทานมีน้ำหนักที่สามารถต้านทานกระแสน้ำได้มาวางรวมกันอย่างมีแบบแผนเพื่อดึงดูดสัตว์น้ำให้เข้ามาอยู่อาศัย ช่วยให้สัตว์น้ำมีแหล่งอาหาร-แหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ ใช้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำทะเล ซึ่งเป็นการบูรณาการความร่วมมือที่เด่นชัดระหว่าง 5 หน่วยงานได้แก่ กรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง กองทัพเรือ กรมประมงและกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี โดยทั้ง 5 หน่วยงานจะร่วมกันพิจารณาพื้นที่ที่เหมาะสมในจังหวัดที่ชาวประมงได้รับความเดือดร้อน จากปริมาณสัตว์น้ำที่น้อยลงโดยเร่งสร้างปะการังเทียม เพื่อเป็นแหล่งอาศัยใหม่ของสัตว์น้ำ

ผลจากการจัดตั้งโครงการปะการังเทียม[แก้]

จากผลการจัดสร้างปะการังเทียมที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2528 จนถึงปี 2552 มีการสร้างปะการังเทียมทั้งหมด 362 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 2,000 ตารางกิโลเมตร ทั้งในอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ยังผลให้บริเวณที่ไปจัดสร้างปะการังเทียม มีจำนวนทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ขึ้น สัตว์น้ำบางชนิดที่หายากก็กลับมีการพบเพิ่มมากขึ้น เช่น ปลาหมอทะเลขนาดใหญ่ ปลาช่อนทะเล ปลาผีเสื้อเทวรูป ปลาจะละเม็ดเทา ปลาดุกทะเล และปลาตะลุมพุก

ซั้งคืออะไร[แก้]

ซั้ง (อังกฤษ: Fish Aggregating Device) เรียกกันย่อๆ ว่า แฟ้ดส์ (FADs) หมายถึง อุปกรณ์ที่ทำให้ปลามาอยู่รวมกัน ซึ่งมีที่มาจากสิ่งของลอยน้ำต่างๆ โดยมีปลาเล็กปลาน้อยอาศัยร่มเงาอยู่ และจะมีปลาขนาดใหญ่กว่าติดตามหาอาหารไปด้วย เพื่อความสะดวกต่อการทำการประมง ของชาวประมงพื้นบ้านชายฝั่ง การวางซั้งก็จะเลียนแบบสิ่งของลอยน้ำ โดยใช้วัสดุต่างๆ มาผูกมัดรวมกัน เช่น เศษอวน, เชือกเก่า, ไม้ไผ่ และทางมะพร้าว เหล่านี้เป็นต้น เพียงแต่ซั้งจะถ่วงด้วยก้อนหิน หรือผูกติดกับโขดหินใต้น้ำ ไม่ให้ลอยออกไปจากจุดที่ต้องการ ซั้ง อาจจะมีส่วนของการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำได้น้อยกว่า ปะการังเทียม แต่ซั้งจะเป็นประโยชน์อย่างมากกับกิจกรรมของการตกปลา ซั้งไม่เพียงแต่จะมีประโยชน์ทางตรงแล้ว ยังมีประโยชน์ทางอ้อมด้วย คือป้องกันการทำการประมงของเรือขนาดใหญ่ เช่น เรืออวนลาก มาทำการประมงในเขตหวงห้ามได้อีกทางหนึ่งด้วย[1]

อ้างอิง[แก้]

  1. "มาดำน้ำจับปลา แต่เจอตลาดสดใต้ทะเล?! คนหัวครัว". สืบค้นเมื่อ 2024-03-20.