ข้ามไปเนื้อหา

ปลาชะโดอินเดีย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปลาชะโดอินเดีย
ปลาชะโดอินเดียในวัยโตเต็มวัย
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Perciformes
วงศ์: Channidae
สกุล: Channa
สปีชีส์: C.  diplogramme
ชื่อทวินาม
Channa diplogramme
(Day, 1865)
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ (สีแดง)
ชื่อพ้อง[1]
  • Channa diplogramma (Day, 1865)
  • Ophiocephalus diplogramma Day, 1865

ปลาชะโดอินเดีย (อังกฤษ: Malabar snakehead; ชื่อวิทยาศาสตร์: Channa diplogramme) ปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง ในวงศ์ปลาช่อน (Channidae)

ปลาชะโดอินเดีย มีลักษณะคล้ายกับปลาชะโด (C. micropeltes) ที่พบในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ โดยถูกค้นพบครั้งแรกและอนุกรมวิธานโดย ฟรานซิส เดย์ นักมีนวิทยาชาวอังกฤษ เมื่อปี ค.ศ. 1865 ในชื่อ Ophiocephalus diplogramma ซึ่งเก็บตัวอย่างแรก ได้จากใกล้ปากแม่น้ำโคชิน และถูกเข้าใจมาตลอดว่าเป็นชนิดเดียวกับปลาชะโด ทำให้ชื่อนี้กลายเป็นชื่อพ้องของปลาชะโดมาโดยตลอด

จนกระทั่งในปี ค.ศ. 2011 ได้มีการศึกษาใหม่โดยนักมีนวิทยาในยุคปัจจุบัน พบว่าแท้จริงแล้วเป็นชนิดใหม่ จึงได้ประกาศให้เป็นชนิดใหม่มานับแต่นั้น

ปลาชะโดอินเดีย มีลักษณะแตกต่างไปจากปลาชะโดอย่างมาก เช่น จำนวนก้านครีบ, เกล็ดข้างเส้นข้างลำตัว, จำนวนข้อกระดูกสันหลัง, ความยาวจากส่วนหัวไปยังทวาร และความลึกของลำตัว เป็นต้น รวมถึง รูปร่าง และสีสันลำตัวด้วย แต่โดยรวมแล้ว ปลาชะโดอินเดียจะมีลักษณะส่วนหัวและจะงอยปากด้านบนที่ลาดยาวกว่า เมื่อเทียบขนาดของส่วนหัวโดยวัดจากปลายปากไปยังช่องเปิดเหงือกเทียบกับความยาวลำตัวจะพบว่า ปลาชะโดอินเดียจะมีส่วนหัวยาวกว่าปลาชะโดเล็กน้อย และมีรูปร่างที่ป้อมสั้นกว่า

เมื่อยังเป็นลูกปลาวัยอ่อน (ราว 4-8 นิ้ว) ปลาชะโดอินเดียจะมีลายแถบสีคล้ำสองเส้นที่ข้างลำตัวที่บาง และจางกว่า และแถบสีเหลืองกลางลำตัวที่เห็นได้ชัดเจนในปลาชะโด แทบจะไม่เห็นเลยในปลาชะโดอินเดีย อีกทั้งครีบหางของปลาชะโดจะเป็นสีส้มเข้มเกือบแดง ขณะที่ปลาชะโดอินเดียจะเป็นสีส้มอ่อน ๆ เท่านั้น และเมื่อเป็นปลาโตเต็มวัย ปลาชะโดอินเดียลำตัวบริเวณด้านหลังมีสีซีดจางกว่า รวมทั้งลวดลายที่เป็นบั้ง ๆ บนลำตัวที่มีรูปแบบที่ชัดเจนกว่า โดยจะเป็นบั้งขนาดใหญ่สีขาวสลับดำ สีลำตัวเป็นสีส้มตลอดทั้งตัวโดยรวม ขณะที่ส่วนท้องเป็นสีขาว

ปลาชะโดอินเดีย เมื่อโตเต็มที่จะมีความยาวประมาณ 60 เซนติเมตร นับว่าเล็กกว่าปลาชะโดพอสมควร แต่มีการพัฒนาการของลวดลายและเจริญเติบโตเร็วกว่า และมีพฤติกรรมที่ดุร้ายก้าวร้าวน้อยกว่า

จัดเป็นปลาเฉพาะถิ่น ที่พบได้เฉพาะภาคตะวันตกเฉียงใต้ ของคาบสมุทรอินเดียเท่านั้น รวมถึงหลายแม่น้ำในรัฐเกรละ และบางแหล่งน้ำในรัฐทมิฬนาฑู ทางตอนใต้ของอินเดีย จัดเป็นปลาที่มีความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์จากการแพร่กระจายพันธุ์ที่จำกัด จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม และการคุกคามของมนุษย์ โดยพบได้ทั้งในน้ำจืด และน้ำกร่อยบริเวณปากแม่น้ำ

ปลาชะโดอินเดีย เป็นปลาที่เป็นปลาเศรษฐกิจในท้องถิ่น และเป็นปลาสวยงามที่ถือว่าหายาก และเพิ่งเข้าสู่วงการการค้าปลาสวยงามเมื่อไม่นานมานี้[2]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 จาก IUCN (อังกฤษ)
  2. หน้า 116-127, ชะโดอินเดีย Channa diplogramma. คอลัมน์ Rare Collection โดย RoF. นิตยสาร Aquarium Biz ปีที่ 3 ฉบับที่ 34: เมษายน 2013

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]