บิชต์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มกุฎราชกุมารแห่งรัฐมุฮัมมาเราะฮ์ (Emirate of Muhammara) ในฉลองพระองค์ชุดบิชต์ ภาพปี ค.ศ. 1923

บิชต์ (อาหรับ: بِشْت ; พหูพจน์: بِشُوت, บิชูต์ และ بْشُوت, อิบชูต์) ในภาษาถิ่นอาหรับบางภาษาเรียกว่า มิชละห์ (อาหรับ: مِشْلَح) หรือ อะบาอ์ (อาหรับ: عَبَاء) เป็นเสื้อคลุมแบบดั้งเดิมของผู้ชายที่ได้รับความนิยมในโลกอาหรับ สวมใส่โดยทั่วไปมาเป็นเวลาหลายพันปี[1]

ในภาพวาดของชาวคริสต์และชาวฮีบรูโบราณ ชาวลิแวนต์สวมใส่บิชต์ในสมัยที่พระเยซูทรงพระชนม์ชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้คนในดินแดนศักดิ์สิทธิ์

บิชต์เป็นเสื้อคลุมตัวนอกอย่างหลวม ๆ ที่สวมทับชุดเษาบ์ (อาหรับ: ثَوْب)

สัญลักษณ์ของความเป็นอาหรับ[แก้]

บิชต์มักจะสวมใส่เพื่อเป็นเกียรติในโอกาสพิเศษ เช่น งานแต่งงาน หรือเทศกาล เช่น วันอีด หรือสำหรับการละหมาดวันศุกร์ หรือการละหมาดญะนาซะห์ มักจะสวมใส่โดยเจ้าหน้าที่หรือนักบวช[2] รวมถึงหัวหน้าเผ่า กษัตริย์ และอิหม่าม โดยสวมทับเษาบ์, กานซุ (สวาฮีลี: kanzu) หรือทูนิก (อังกฤษ: tunic) เป็นเครื่องนุ่งห่มแสดงสถานะที่เกี่ยวข้องกับเชื้อพระวงศ์ ตำแหน่งทางศาสนา ความมั่งคั่ง และในโอกาสพิธีต่าง ๆ เช่นเดียวกับชุดทักซิโดสีดำ[3] ของตะวันตก[2][4][5]

นิรุกติศาสตร์[แก้]

รากศัพท์สามตัวอักษรของบิชต์ ถูกใช้อย่างแพร่หลายในกลุ่มภาษาเซมิติก รวมทั้งภาษาอาหรับ และทฤษฎีหนึ่งระบุว่าบิชต์ มาจากภาษาแอกแคดคำว่า bishtu ซึ่งแปลว่า "ความสูงส่ง" หรือ "ศักดิ์ศรี"[6] อีกชื่อเรียกของชุดคือ อะบาอ์ (อาหรับ: عَبَاء, อักษรโรมัน: abā) มาจากรากศัพท์สามตัวอักษรในภาษาอาหรับ ʿAyn-Bāʾ-Wāw ซึ่งเกี่ยวข้องกับ "การเติมเต็ม"

บันทึกทางประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดที่มีการกล่าวถึงบิชต์หรือเสื้อคลุมอาหรับอาจเป็นข้อความในหนังสือประวัติศาสตร์ของเฮอรอโดทัส นักประวัติศาสตร์ชาวกรีกในศตวรรษที่ห้าก่อนคริสต์ศักราช โดยในการอธิบายเครื่องแต่งกายของทหารอาหรับ:

“ทหารอาหรับสวมเสื้อคลุมยาวซึ่งผูกด้วยเข็มขัด มีธนูยาวคล้องอยู่ที่แขนขวาโดยกลับหัวลง”

นักวิจัยกล่าวว่าต้นกำเนิดทางภาษาของคำว่าบิชต์ ย้อนกลับไปที่ภาษาแอกแคด ซึ่งเป็นภาษาของผู้คนในดินแดนบาบิโลน โดยเป็นภาษาอาหรับถิ่นของชาวเซไมต์พื้นเมือง โดยมีความหมายในแง่ความมีเกียรติ ความโอ่อ่า ซึ่งบริบททางประวัติศาสตร์ยืนยันความหมายนี้ เจ้านาย ผู้ปกครอง ขุนนางและผู้อาวุโส ใช้สวมใส่ทุกยุคสมัยจนถือเป็นสัญลักษณ์แห่งศักดิ์ศรีและความสูงส่งในสังคม

การผลิต[แก้]

บิชต์ทำมาจากขนอูฐและขนแพะ โดยนำวัสดุมาปั่นเป็นเส้นใย จากนั้นจึงนำมาทอเป็นบิชต์ ผ้าสำหรับฤดูร้อนจะมีเส้นด้ายที่อ่อนนุ่ม ส่วนสำหรับฤดูหนาวจะมีขนที่หยาบกว่า โดยปกติจะเป็นสีดำ สีน้ำตาล สีเบจ สีครีม หรือสีเทา[2]

ในวัฒนธรรมประชานิยม[แก้]

ในช่วงท้ายของพิธีมอบรางวัลหลังการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 รอบชิงชนะเลิศ เชค ตะมีม บิน ฮะมัด อัษษานี เจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์ ทรงสวมบิชต์ให้ลิโอเนล เมสซิ กัปตันทีมชาติอาร์เจนตินา ก่อนการมอบถ้วยชนะเลิศ[7]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. *"Traditional & modern: The Saudi man's bisht". 7 พฤศจิกายน 2012.
  2. 2.0 2.1 2.2 Al-Mukhtar, Rima (7 พฤศจิกายน 2012). "Traditional & modern: The Saudi man's bisht". Arab News (ภาษาอังกฤษ).
  3. "Kate dusts off her Alexander McQueen tuxedo for stunning appearance". Evening Standard (ภาษาอังกฤษ). 13 ตุลาคม 2020. สืบค้นเมื่อ 15 ตุลาคม 2020.
  4. "Traditional & modern: The Saudi man's bisht". Arab News (ภาษาอังกฤษ). 7 พฤศจิกายน 2012. สืบค้นเมื่อ 15 ตุลาคม 2020.
  5. "A symbol of Arab identity". Gulf News (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 15 ตุลาคม 2020.
  6. Ali Fahmi khashim. الأكدية العربية [Akkadian Arabic Dictionary]. p. 140. ISBN 977-291-642-8.[ลิงก์เสีย]
  7. "Lionel Messi made to wear traditional Arab bisht for World Cup trophy lift". The Daily Telegraph. 18 December 2022. สืบค้นเมื่อ 18 December 2022.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

  • Bisht ที่ alrashidmall.com