นักเป่าปี่แห่งฮาเมิลน์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาพวาดนักเป่าปี่ใน ค.ศ. 1592 คัดลอกจากกระจกสีโบสถ์ฮาเมิลน์

นักเป่าปี่แห่งฮาเมิลน์ นักเป่าขลุ่ยแห่งฮาเมิลน์ นักจับหนูแห่งฮาเมิลน์ (เยอรมัน: der Rattenfänger von Hameln) เป็นตัวละครในตำนานเมืองฮาเมิลน์ (ฮาเมลิน) รัฐนีเดอร์ซัคเซิน ประเทศเยอรมนี

ตำนานนี้มีที่มาจากสมัยกลาง เป็นเรื่องราวของนักเป่าปี่สวมชุดหลากสีผู้ใช้ปี่วิเศษขับไล่หนูออกจากเมือง[1] แต่เมื่อชาวเมืองปฏิเสธที่จะจ่ายค่าจ้างให้เขา นักเป่าปี่ตอบโต้ด้วยการเป่าปี่ล่อหลอกเด็กออกจากเมืองเหมือนตอนไล่หนู เรื่องราวฉบับนี้แพร่หลายเป็นคติชนและพบในงานเขียนของโยฮัน ว็อล์ฟกัง ฟ็อน เกอเทอ พี่น้องตระกูลกริมม์และรอเบิร์ต บราวนิง วลี "นักเป่าปี่" (pied piper) กลายเป็นอุปลักษณ์ของบุคคลที่ดึงดูดผู้ติดตามด้วยเสน่ห์และสัญญาลวง[2]

มีทฤษฎีที่ขัดแย้งจำนวนมากเกี่ยวกับนักเป่าปี่แห่งฮาเมิลน์ บางส่วนเสนอว่านักเป่าปี่เป็นสัญลักษณ์แทนความหวังของชาวเมืองฮาเมิลน์ซึ่งเผชิญกับกาฬโรค การขับไล่หนูออกจากเมืองจึงเป็นการรักษาชีวิตชาวเมืองจากโรคระบาด[3]

แหล่งข้อมูลแรกสุดของตำนานนี้มาจากเมืองฮาเมิลน์เอง โดยอยู่ในรูปหน้าต่างกระจกสีของโบสถ์เมืองฮาเมิลน์ราวปี ค.ศ. 1300 แม้ว่าโบสถ์ถูกทำลายในปี ค.ศ. 1660 แต่ยังคงหลงเหลือบันทึกเรื่องราวนี้[4]

เรื่องย่อ[แก้]

ในปี ค.ศ. 1284 ขณะที่เมืองฮาเมิลน์กำลังถูกฝูงหนูรังควาน มีนักเป่าปี่สวมชุดหลายสีอ้างตนเป็นนักจับหนูเสนอจะแก้ปัญหาให้กับนายกเทศมนตรี นายกเทศมนตรีจึงสัญญาจะจ่ายค่าจ้างเป็นเงิน 1,000 กิลเดอร์ นักเป่าปี่ตกลงและเริ่มเป่าปี่ของตน ล่อหนูทั้งหมดให้ลงไปจมน้ำตายในแม่น้ำเวเซอร์[5]

แม้นักเป่าปี่จะทำสำเร็จ แต่นายกเทศมนตรีกลับปฏิเสธที่จะจ่ายค่าจ้างเต็มจำนวน (บางแหล่งระบุว่าค่าจ้างลดเหลือ 50 กิลเดอร์) ยิ่งไปกว่านั้นยังกล่าวหานักเป่าปี่ว่าเขาเองเป็นคนนำหนูเข้ามาเพื่อกรรโชกทรัพย์ นักเป่าปี่โกรธจัดแล้วประกาศจะแก้แค้นก่อนจะออกจากเมืองไป ต่อมาในวันนักบุญยอห์นและเปาโลที่ผู้ใหญ่อยู่ในโบสถ์ นักเป่าปี่กลับมาในชุดสีเขียวแบบนักล่าและเริ่มเป่าปี่อีกครั้ง คราวนี้ล่อให้เด็ก 130 คนออกจากเมืองไปพร้อมกับเขาก่อนจะหายเข้าไปในถ้ำและไม่มีใครพบเห็นทั้งหมดอีกเลย

เรื่องราวหลังจากนี้แตกต่างไปตามแต่ละฉบับ ฉบับหนึ่งบรรยายว่ามีเด็กรอดชีวิต 3 คนคือเด็กขาเสีย เด็กหูหนวกและเด็กตาบอด ซึ่งเด็กเหล่านี้เล่าให้ชาวเมืองฟังถึงเรื่องที่เกิดขึ้น[5] ฉบับหนึ่งระบุว่านักเป่าปี่นำเด็กไปยังเนินเขาคอพเพิลแบร์ก[6] ภูเขาคอพเพิลแบร์ก[7] หรือทรานซิลเวเนีย ฉบับหนึ่งเล่าว่านักเป่าปี่พาเด็กลงไปในแม่น้ำเวเซอร์ก่อนจะจมน้ำตายทั้งหมดเหมือนเช่นฝูงหนู บางฉบับกล่าวว่านักเป่าปี่ส่งตัวเด็กกลับบ้านหลังได้รับค่าจ้างในที่สุด[5][8]

ในเมืองฮาเมิลน์มีถนนชื่อ Bungelosenstrasse ("ถนนที่ไร้เสียงกลอง") ซึ่งเชื่อว่าเป็นสถานที่สุดท้ายที่พบเห็นเด็ก หลังจากนั้นเป็นต้นมา มีการห้ามเล่นดนตรีและเต้นรำบนถนนสายนี้[9][10]

เบื้องหลัง[แก้]

หลักฐานแรกของตำนานนักเป่าปี่คือกระจกสีของหน้าต่างโบสถ์ฮาเมิลน์ประมาณปี ค.ศ. 1300 มีการกล่าวถึงกระจกสีนี้ในบันทึกหลายแหล่งในคริสต์ศตวรรษที่ 14–17[11] กระจกสีเสียหายเมื่อโบสถ์ฮาเมิลน์ถูกทำลายในปี ค.ศ. 1660 แต่ภายหลังได้รับการบูรณะขึ้นใหม่[4] บันทึกของเมืองฮาเมิลน์เริ่มต้นด้วยตำนานนักเป่าปี่ โดยข้อความในปี ค.ศ. 1384 ระบุว่า "เป็นเวลา 100 ปีแล้วที่เด็ก ๆ ของพวกเราจากไป"[12][13]

อย่างไรก็ตามการศึกษาตลอดหลายศตวรรษยังไม่มีความเห็นพ้องถึงคำอธิบายที่รองรับตำนานนี้ นอกจากนี้เรื่องราวของหนูถูกแต่งเติมเข้าไปในฉบับ ค.ศ. 1559 และไม่ปรากฏในฉบับก่อนหน้านั้น[14]

ทฤษฎี[แก้]

ภาพนักเป่าปี่นำเด็ก ๆ ออกจากเมืองฮาเมิลน์ วาดโดยเคต กรีนอะเวย์เพื่อประกอบบทกวี "The Pied Piper of Hamelin" ของรอเบิร์ต บราวนิง

สาเหตุตามธรรมชาติ[แก้]

ทฤษฎีจำนวนหนึ่งเสนอว่าเด็กอาจเสียชีวิตจากสาเหตุตามธรรมชาติอย่างโรคภัยหรือความอดอยาก[15] และนักเป่าปี่เป็นสัญลักษณ์ของความตาย ทฤษฎีนี้ยังเกี่ยวข้องกับระบำมรณะซึ่งเป็นอุปมานิทัศน์ทั่วไปของความตายในสมัยกลาง นอกจากนี้มีการตีความว่าเด็กถูกล่อลวงโดยพวกลัทธินอกศาสนาหรือนอกรีตไปยังป่าใกล้เมืองคอพเพินบรึกก่อนทั้งหมดจากถูกดินถล่มหรือหลุมยุบ[16]

การย้ายถิ่น[แก้]

ทฤษฎีการย้ายถิ่นมาจากแนวคิดประชากรล้นในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 13 ส่งผลให้บุตรคนโตต้องแยกออกไปตั้งถิ่นฐานใหม่[17] ว็อล์ฟกัง มีเดอร์เสนอในหนังสือ The Pied Piper: A Handbook ว่ามีหลักฐานว่าผู้คนจากฮาเมิลน์มีส่วนช่วยก่อตั้งบางส่วนของทรานซิลเวเนีย[18] เอมิลี เจราร์ดอธิบายคล้ายกันในรายงาน The Land Beyond the Forest ว่า "แนวคิดที่เป็นที่นิยมของชาวเยอรมันในทรานซิลเวเนียนั้น จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากเด็กที่สูญหายแห่งฮาเมิลน์ ผู้เดินทางไกลไปจนถึงทรานซิลเวเนีย"[19]

ทฤษฎีคล้ายกันนี้ยังปรากฏบนเว็บไซต์ของเมืองฮาเมิลน์ ซึ่งบรรยายว่าเด็ก ๆ แห่งฮาเมิลน์อาจเป็นประชาชนที่ต้องการย้ายถิ่นไปยังโมราเวีย ปรัสเซียตะวันออก พอเมอเรเนียและรัฐอัศวินทิวทัน และสันนิษฐานว่าคำว่า "เด็ก" ในที่นี้มีความหมายเดียวกับ "บุตรแห่งเมืองนั้น" หรือ "ผู้มาจากเมืองนั้น"[20] เออร์ซุลา ซอตเตอร์สนับสนุนทฤษฎีการย้ายถิ่นเช่นกัน โดยอ้างอิงงานของเยือร์เกิน อูดอล์ฟที่เสนอว่าหลังเดนมาร์กพ่ายแพ้ในยุทธการที่บอร์นฮือเวดในปี ค.ศ. 1227 เดนมาร์กได้ถอนตัวจากตอนใต้ของทะเลบอลติก บรรดามุขนายกและขุนนางแห่งพอเมอเรเนีย บรานเดนบวร์ก อุกเคอร์มาร์กและพริกนิตซ์จึงเสนอให้ชาวเยอรมันย้ายเข้ามาอยู่ ซึ่งมีผู้คนจากนีเดอร์ซัคเซินและเวสต์ฟาเลียหลายพันคนเข้ามาอาศัย ทั้งนี้ยังพบชื่อสถานที่แบบเวสต์ฟาเลียปรากฎในพื้นที่นั้น[21]

ความขัดแย้งศาสนาคริสต์–ลัทธินอกศาสนา[แก้]

มีข้อสังเกตถึงรายงานท้องถิ่นทั้งหมดที่ระบุวันเกิดเหตุเป็นวันที่ 26 มิถุนายน ซึ่งตรงกับการฉลองวันกลางฤดูร้อนของลัทธินอกศาสนา การที่เด็กถูกพาตัวไปยังคอพเพินหรือเนิน ซึ่งธรรมเนียมท้องถิ่นบางแห่งในเยอรมนีมีการฉลองวันกลางฤดูร้อนด้วยการก่อกองไฟบนเนินเขา นำไปสู่ข้อสันนิษฐานว่าเชมันลัทธินอกศาสนาอาจลวงเด็กไปทำพิธีฉลองวันกลางฤดูร้อนก่อนจะเกิดเรื่องร้าย[22]

อื่น ๆ[แก้]

บางทฤษฎีเชื่อมโยงการหายตัวไปของเด็กเข้ากับอุปาทานหมู่อย่างโรคชอบเต้น ทั้งนี้มีการระบาดของโรคชอบเต้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 13 ครั้งหนึ่งเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1237 เมื่อกลุ่มเด็กขนาดใหญ่เดินทางจากเมืองแอร์ฟวร์ทไปยังอาร์นชตัทโดยกระโดดโลดเต้นไปตลอดทาง[23] เหตุการณ์นี้มีความคล้ายคลึงกับตำนานนักเป่าปี่ซึ่งเกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกัน[24]

บางส่วนเสนอว่าเด็กอาจเดินทางออกจากเมืองฮาเมิลน์เพื่อจาริกแสวงบุญ ทำสงครามหรือแม้แต่เป็นสงครามครูเสดเด็กครั้งใหม่แต่ไม่ได้กลับมาอีกเลย ชาวเมืองจึงอาจสร้างตำนานนักเป่าปี่ขึ้นเพื่อปกปิดความจริงจากศาสนจักรหรือผู้ปกครอง[25]

วิลเลียม แมนเชสเตอร์เสนอในหนังสือ A World Lit Only by Fire ว่าตำนานนี้เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1484 และตั้งข้อสังเกตว่านักเป่าปี่อาจเป็นโรคใคร่เด็ก[26]

อ้างอิง[แก้]

  1. Hanif, Anees (3 January 2015). "Was the Pied Piper of Hamelin real?". ARY News. สืบค้นเมื่อ 6 June 2015.
  2. "Pied piper – Definition and More from the Free Merriam-Webster Dictionary". Merriam-webster.com. สืบค้นเมื่อ 7 December 2011.
  3. "Deutungsansätze zur Sage: Ein Funken Wahrheit mit einer Prise Phantasie". Stadt Hameln (ภาษาเยอรมัน). สืบค้นเมื่อ 29 December 2017.
  4. 4.0 4.1 "Kirchenfenster". Marktkirche St. Nicolai Hameln (ภาษาเยอรมัน). สืบค้นเมื่อ 29 December 2017.
  5. 5.0 5.1 5.2 Ashliman, D. L. (บ.ก.). "The Pied Piper of Hameln and related legends from other towns". University of Pittsburgh. สืบค้นเมื่อ 29 December 2017.
  6.  Chisholm, Hugh, บ.ก. (1911). "Hameln" . สารานุกรมบริตานิกา ค.ศ. 1911. Vol. 12 (11 ed.). สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์. p. 876.
  7. Wallechinsky, David; Wallace, Irving (1975–1981). "True Story The Pied Piper of Hamelin Never Piped". The People's Almanac. Trivia-Library.Com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-06-05. สืบค้นเมื่อ 4 September 2008.
  8. "Die wohl weltweit bekannteste Version". Stadt Hameln (ภาษาเยอรมัน). สืบค้นเมื่อ 29 December 2017.
  9. Cuervo, Maria J. Pérez (19 February 2019). "The Lost Children of Hamelin". The Daily Grail. สืบค้นเมื่อ 1 April 2019.
  10. Pearson, Lizz (18 February 2005). "On the trail of the real Pied Piper". BBC. สืบค้นเมื่อ 1 April 2019.
  11. Reader's Digest (2003). Reader's Digest the Truth about History: How New Evidence is Transforming the Story of the Past. Reader's Digest Association. p. 294. ISBN 978-0-7621-0523-6.
  12. Kadushin, Raphael. "The grim truth behind the Pied Piper". www.bbc.com (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2020-09-03.
  13. Asher, Jay; Freeburg, Jessica (2017). Piper. New York: Razorbill. ISBN 978-0448493688. Researching earliest mentions of the Piper, we found sources quoting the first words in Hameln's town records, written in the Chronica ecclesiae Hamelensis of AD 1384: 'It is 100 years since our children left.'
  14. "Der Rattenfänger von Hameln". Museum Hameln (ภาษาเยอรมัน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-06-07. สืบค้นเมื่อ 29 December 2017.
  15. Wolfers, D. (April 1965). "A Plaguey Piper". The Lancet. 285 (7388): 756–757. doi:10.1016/S0140-6736(65)92112-4. PMID 14255255.
  16. Hüsam, Gernot (1990). Der Koppen-Berg der Rattenfängersage von Hameln [The Koppen hill of Pied Piper of Hamelin legend]. Coppenbrügge Museum Society.
  17. Borsch, Stuart J (2005). The Black Death in Egypt and England: A Comparative Study. University of Texas Press. p. 57. ISBN 0-292-70617-0..
  18. Mieder, Wolfgang (2007). The Pied Piper: A Handbook. Greenwood Press. p. 67. ISBN 978-0-313-33464-1.
  19. Gerard, Emily (1888). The Land Beyond the Forest: Facts, Figures, and Fancies from Transylvania. Harper & Brothers. p. 30.
  20. "The Legend of the Pied Piper". Rattenfängerstadt Hameln. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 July 2011. สืบค้นเมื่อ 3 September 2008.
  21. Sautter, Ursula (27 April 1998). "Fairy Tale Ending". Time International. p. 58.
  22. Kadushin, Raphael (3 September 2020). "The grim truth behind the Pied Piper". www.bbc.com (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2022-02-16.
  23. Marks, Robert W. (2005). The Story of Hypnotism. Kessinger Publishing. ISBN 978-1-4191-5424-9.
  24. Schullian, D. M. (1977). "The Dancing Pilgrims at Muelebeek". Journal of the History of Medicine and Allied Sciences. Oxford University Press. 32 (3): 315–9. doi:10.1093/jhmas/xxxii.3.315. PMID 326865.
  25. Bučková, Tamara. "Wie liest man ein Buch, ein Theaterstück oder einen Film?! Rattenfäger von Hameln 'Nur' eine Sage aus der Vergangenheit?" (PDF) (ภาษาเยอรมัน). สืบค้นเมื่อ 29 December 2017.
  26. Manchester, William (2009). A World Lit Only by Fire: The Medieval Mind and the Renaissance – Portrait of an Age. Little, Brown. p. 63. ISBN 978-0-316-08279-2.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]