นกหว้า

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
นกหว้า
ตัวผู้
ตัวเมีย
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Aves
อันดับ: Galliformes
วงศ์: Phasianidae
สกุล: Argusianus
Rafinesque, 1815[2]
สปีชีส์: A.  argus
ชื่อทวินาม
Argusianus argus
(Linnaeus, 1766)
ชนิดย่อย[2]
  • A. a. argus (Linnaeus, 1766)
  • A. a. grayi (Elliot, 1865)
ชื่อพ้อง[3]
  • Phasianus argus Linnaeus, 1766
  • Argusianus bipunctatus Wood, 1871
  • Argus bipunctatus Wood, 1871

นกหว้า (อังกฤษ: Great argus, Double-banded argus) เป็นไก่ฟ้าขนาดใหญ่ขนสีน้ำตาล หัวและคอเป็นสีฟ้า พบในป่าของเกาะบอร์เนียว, เกาะสุมาตรา และ คาบสมุทรมลายูในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชื่อวิทยาศาสตร์ของนกหว้าตั้งโดยคาโรลัส ลินเนียสซึ่งโยงถึงจุดคล้ายตาบนปีกจำนวนมาก โดยตั้งตามชื่อ อาร์กัส ยักษ์ร้อยตาในเทพปกรณัมกรีก [4]

เดิมทีนกหว้าเคยถูกให้มีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด โดยอีกชนิดหนึ่งนั้นใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Argusianus bipunctatus แต่ปัจจุบันได้ถูกรวมกันเป็นชนิดเดียวกัน ดังนั้นชื่อนี้จึงกลายเป็นชื่อพ้องไป[3]

เพราะการสูญเสียที่อยู่และถูกล่าเป็นอาหาร นกหว้าจึงจัดเป็นสิ่งมีชีวิตที่ถูกคุกคามความเสี่ยงต่ำ (NT) ในบัญชีแดงของสหภาพเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ และจัดอยู่ในบัญชีที่ 2 ของ CITES

ลักษณะ[แก้]

เป็นนกที่มีขนาดใหญ่ ตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะแตกต่างกันอย่างเด่นชัด สีขนตามตัวส่วนใหญ่ออกเป็นสีน้ำตาล ไม่มีเดือยที่ขา ตัวผู้มีขนาดตัวยาว 170-200 เซนติเมตร ขนาดของตัวเมียยาว 74-76 เซนติเมตร มีส่วนของหัวและลำคอเป็นหนังเกลี้ยงสีฟ้าคราม แต่มีแถบขนแคบๆ สีดำ พาดตามยาวจากเหนือจะงอยปากไปตลอดแนวสันคด แถบขนบนหัวของนกหว้าตัวผู้ จะมีลักษณะเป็นแผงขนหนาสีดำเข้มกว่าของตัวเมีย และตรงส่วนท้ายของกระหม่อม แผงขนจะยาวกว่าส่วนอื่น มีลักษณะเป็นขนหงอนตั้งเป็นสันขวานขึ้นมา ไม่เป็นพู่หงอนอย่างไก่ฟ้าและนกยูง แต่นกหว้าตัวเมียจะมีแถบขนบริเวณท้ายทอยลงมาเป็นเส้นขนยาวไม่เป็นระเบียบ สีขนไม่ดำเข้ม และเป็นแผงขนหนาอย่างตัวผู้ นอกจากนี้นกหว้าตัวผู้ยังมีขนปีกบินและขนหางใหญ่ยาวเป็นลักษณะเฉพาะเด่นสะดุดตา ขนปีกบินชุดในมีปลายเส้นขนแผ่กว้างเกือบเป็นรูปสี่เหลี่ยม แถบเส้นขนด้านในมีลวดลายเป็นดอกดวงขนาดใหญ่ ขอบนอกเป็นสีน้ำตาลดำเข้ม ข้างในเป็นสีเหลือบออกเหลืองแกมน้ำตาลเรียงเป็นแถวจากโคนถึงปลายทุกอัน ดอกลายนี้ปกติจะมองไม่เห็น แต่จะเห็นได้เวลาที่นกหว้าแพนปีกออกเต็มที่ สำหรับขนหางเฉพาะขนหางคู่กลางจะมีขนาดใหญ่และยาวกว่าขนหางถัดออกไปมาก ถึงประมาณ 4 เท่าลำตัว และมีลวดลายเป็นแต้มจุดประเล็ก ขอบสีน้ำตาลเข้มตรงกลางสีขาว กระจายอยู่ทั่วไป[5] ร้องดัง “ว้าว ว้าว”

การกระจายพันธุ์และถิ่นอาศัย[แก้]

พบในป่าของเกาะบอร์เนียว, เกาะสุมาตรา และ คาบสมุทรมลายูในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยพบทางภาคใต้ตั้งแต่ประจวบคีรีขันธ์ลงไปตลอดแหลมมลายู เป็นนกประจำถิ่นซึ่งค่อนข้างหายาก ชอบอาศัยอยู่ตามป่าทึบและป่าลึก ในระดับเชิงเขาจนกระทั่งถึงระดับความสูง 900 เมตรจากระดับน้ำทะเล

พฤติกรรม[แก้]

นกหว้าเป็นนกขี้อาย ปกติชอบอยู่โดดเดี่ยวนอกจากในฤดูผสมพันธุ์ หากินช่วงเช้าและก่อนค่ำ กินเมล็ดพืช ผลไม้ที่หล่นตามพื้นดิน แมลงและตัวหนอน เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ นกหว้าตัวผู้จะทำลานไว้สำหรับรำแพนขนปีกอวดตัวเมีย เรียกว่า “ ลานนกหว้า” ที่ลานนั้นมันจะรักษาความสะอาดอย่างดี เก็บกิ่งไม้ใบไม้ออกหมดตลอดเวลา หลังจากนั้นตัวผู้ก็จะร้องเรียกตัวเมีย เมื่อพบตัวเมีย ตัวผู้จะรำแพนขนปีกเพื่อดึงดูดใจตัวเมียก่อนผสมพันธุ์ เมื่อพ้นฤดูผสมพันธุ์แล้ว ตัวเมียจะแยกออกไปทำรังออกไข่ ตัวเมียจะสร้างรังหยาบๆ ด้วยกิ่งไม้เล็กบนพื้นดินใต้พุ่มไม้ทึบ ปูพื้นรังด้วยใบไม้ วางไข่เพียง 2 ฟองเท่านั้นโดยห่างกัน 2 วัน ไข่มีสีครีมหรือขาว ระยะฟักไข่ 26 วัน ลูกนกแรกเกิดสามารถลืมตาได้ มีขนอุยปกคลุมทั่วตัวและสามารถเดินตามแม่ไปหาอาหารได้ทันที

อ้างอิง[แก้]

  1. BirdLife International (2004). Argusianus argus. 2006 IUCN Red List of Threatened Species. IUCN 2006. Retrieved on 11 May 2006.
  2. 2.0 2.1 "Argusianus argus (Linnaeus, 1766)". itis. สืบค้นเมื่อ 5 May 2014.
  3. 3.0 3.1 Davison, G. W. H. and McGowan, Phil (2009). "Asian enigma: Is the Double-banded Argus Argusianus bipunctatus a valid species?". BirdingASIA. 12: 94.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  4. Parkes', K. S. (1992). "Distribution and taxonomy of birds of the world, in "Recent Literature"". Journal of Field Ornithology. 63 (2): 228–235.
  5. นกหว้า[ลิงก์เสีย] MyFirstBrain.com

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]