ข้ามไปเนื้อหา

ท่านผู้นำ & คนทำหนัง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ท่านผู้นำ & คนทำหนัง
ใบปิดภาพยนตร์
กำกับรอส แอดัม
โรเบิร์ต แคนแนน
เขียนบทรอส แอดัม
โรเบิร์ต แคนแนน
อำนวยการสร้างเชริล คราวน์
ลิซซี ฟรันเคอ
นิค แฟรเซอร์
ริชาร์ด โฮล์มส์
คริสตินา ยุงแบร์ย
แม็กกี มอนทีท
วิคทอเรีย สตีเวนสัน
เคท ทาวน์เซนด์
แซนดรา วิปแฮม
นักแสดงนำชเว อึน-ฮี
ชิน ซัง-อก
คิม จ็อง-อิล
ตัดต่อจิม เฮสชัน
ดนตรีประกอบแนทาน แฮลเพิร์น
ผู้จัดจำหน่ายญี่ปุ่น อะยะโปร
สหรัฐ แม็กโนเลียพิคเจอร์ส
ไทย ดอคิวเมนทรีคลับ
วันฉาย22 มกราคม 2559
(เทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์)
ความยาว98 นาที
ประเทศสหราชอาณาจักร สหราชอาณาจักร
ภาษาอังกฤษ
เกาหลี
ญี่ปุ่น
ข้อมูลจาก IMDb

ท่านผู้นำ & คนทำหนัง (อังกฤษ: The Lovers & The Despot) คือ ภาพยนตร์สารคดีกำกับโดย รอส แอดัม และ โรเบิร์ต แคนแนน เล่าเรื่องราวของ ชิน ซัง-อก และ ชเว อึน-ฮี ผู้กำกับภาพยนตร์และนักแสดงหญิงชาวเกาหลีใต้ ที่ถูกลักพาตัวไปประเทศเกาหลีเหนือในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1970 เพื่อให้ทำหน้าที่พัฒนาวงการภาพยนตร์เกาหลีเหนือตามความต้องการของ คิม จ็อง-อิล ลูกชายของ คิม อิล-ซ็อง ประธานาธิบดีเกาหลีเหนือในขณะนั้น โดยเรื่องราวในภาพยนตร์ถูกถ่ายทอดผ่านการให้สัมภาษณ์ของชเวและบุคคลที่แวดล้อมตัวเธอและเหตุการณ์ดังกล่าว เช่น ชิน ช็อง-คยุน กับ ชิน มยุง-คิม บุตรชายและบุตรสาวของชินและชเว ปีแยร์ รีซีย็อง นักสร้างภาพยนตร์ชาวฝรั่งเศสผู้อยู่ร่วมสมัยกับชิน จัง จิน-ซ็อง กวีชาวเกาหลีเหนือที่เคยทำงานให้กับ คิม จ็อง-อิล ฯลฯ นอกจากนั้น ภาพยนตร์ยังใช้ข้อมูลจากเทปบันทึกเสียงบทสนทนาระหว่าง ชิน ซัง-อก กับ คิม จ็อง-อิล ด้วย

ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล 3 รางวัลในปี พ.ศ. 2559 ได้แก่ รางวัล Greg Gund Memorial Standing Up ของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติคลีฟแลนด์ รางวัลภาพยนตร์สารคดีขนาดยาวยอดเยี่ยม ของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเอดินบะระ และรางวัลแกรนด์จูรี ของเทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์ ในสาขาสารคดีสายเวิร์ลด์ซีเนมา

เนื้อเรื่องย่อ

[แก้]

ชิน ซัง-อก และ ชเว อึน-ฮี คือผู้กำกับภาพยนตร์และนักแสดงหญิงชาวเกาหลีใต้ ที่มีชื่อเสียงอย่างมากในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1970 ทั้งคู่ร่วมงานภาพยนตร์ด้วยกันหลายเรื่องจนเกิดความสัมพันธ์ลึกซึ้งและแต่งงานกัน แต่เนื่องจากปัญหาหนี้สินจากงานภาพยนตร์และปัญหาชู้สาวของชิน ทำให้ทั้งคู่หย่าร้างกันและเข้าสู่ช่วงตกต่ำในเวลาต่อมา

ในปี พ.ศ. 2521 ชเวได้รับการติดต่อจากหญิงคนหนึ่งให้เดินทางไปฮ่องกงเพื่อไปเจรจาธุรกิจกับเศรษฐีผู้หนึ่งที่ต้องการเธอมาแสดงภาพยนตร์ เธอเดินทางไปตามคำเชิญดังกล่าว แต่แล้วก็ถูกลักพาตัวไปยังประเทศเกาหลีเหนือ (หญิงที่ติดต่อกับเธอในตอนแรกได้รับการเปิดเผยภายหลังว่าเป็นสายลับของเกาหลีเหนือ) เมื่อเดินทางไปถึงเกาหลีเหนือ เธอได้พบกับ คิม จ็อง-อิล ลูกชายของ คิม อิล-ซ็อง ประธานาธิบดีเกาหลีเหนือในขณะนั้น เธอให้สัมภาษณ์ในภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า คิม จ็อง-อิล ให้การต้อนรับเป็นอย่างดีและให้เกียรติเธออย่างมาก แต่ขณะเดียวกันก็ข่มขู่ว่า หากเธอทรยศก็จะถูกกำจัดทิ้งทันที

ไม่นานหลังจากการหายตัวไปของชเว ชินได้เดินทางไปฮ่องกงเพื่อตามหาเธอ แต่ก็ถูกลักพาตัวไปเกาหลีเหนือเช่นกัน โดยถูกกักขังและถูกปลูกฝังอุดมการณ์เกาหลีเหนืออยู่เป็นเวลา 4 ปี ก่อนที่จะถูกปล่อยตัวออกมา และได้พบกับชเวอีกครั้ง

หลังจากที่ชินได้รับอิสระอยู่ในประเทศเกาหลีเหนือ คิม จ็อง-อิล ได้ร้องขอให้ชินและชเวช่วยพัฒนาวงการภาพยนตร์เกาหลีเหนือให้อยู่ในระดับโลก เนื่องจากคิมมองว่า ภาพยนตร์เกาหลีเหนือในขณะนั้นคุณภาพต่ำเมื่อเทียบกับภาพยนตร์ของเกาหลีใต้ และมีแต่ภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อที่เน้นแต่การเชิดชูผู้นำและบีบน้ำตาผู้ชมมากเกินไป

ทั้งชินและชเวตกลงตามคำขอของ คิม จ็อง-อิล และได้ทำงานภาพยนตร์อีกครั้งหลังช่วงเวลาตกต่ำในเกาหลีใต้ โดยมี คิม จ็อง-อิล ที่คอยให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ทั้งคู่สร้างภาพยนตร์เกาหลีเหนือได้ 17 เรื่องภายใน 2 ปี ซึ่งเนื้อหาในภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้เปิดเผยว่าชินมีความสุขอย่างมากกับการได้ทำงานที่นั่น จนนำไปสู่ความเคลือบแคลงว่าแท้จริงแล้วชินอาจจะสมัครใจแปรพักตร์ไปอยู่กับเกาหลีเหนือเอง เพื่อหาโอกาสใหม่ ๆ ให้กับหน้าที่การงานของตน

แต่ขณะเดียวกัน ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็แสดงให้เห็นว่า ทั้งชเวและชินมีความต้องการที่จะหลบหนีออกจากเกาหลีเหนืออยู่ตลอดเวลา เนื่องจากทั้งคู่รู้สึกไม่ปลอดภัยและคิดเสมอว่าเมื่อไรที่ คิม จ็อง-อิล ไม่ต้องการพวกเขา พวกเขาก็อาจจะถูกกำจัดทิ้งได้

จนกระทั่งปี พ.ศ. 2529 ระหว่างที่ทั้งคู่พำนักในกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เพื่อไปสร้างภาพยนตร์ให้กับ คิม จ็อง-อิล ทั้งชเวและชินก็หลบหนีจากการควบคุมของเจ้าหน้าที่เกาหลีเหนือได้สำเร็จ

นอกจากเรื่องราวการถูกลักพาตัวของชินและชเวแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังแสดงให้เห็นผลกระทบทางการเมืองที่บุตรทั้งสองของชินและชเวได้รับหลังการปรากฏตัวของทั้งสองในเกาหลีเหนือ รวมถึงความเคลือบแคลงสงสัยในเจตนาของชินที่ยังคงอยู่ถึงปัจจุบัน

ผู้ให้ข้อมูลในภาพยนตร์

[แก้]

รางวัล

[แก้]
ปี รายการ รางวัล/สาขา ผู้ได้รับการเสนอชื่อ ผล
พ.ศ. 2559 เทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์ รางวัลแกรนด์จูรี สาขาสารคดี สายเวิร์ลด์ซีเนมา รอส แอดัม
โรเบิร์ต แคนแนน
ได้รับการเสนอชื่อ
เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติคลีฟแลนด์ รางวัล Greg Gund Memorial Standing Up รอส แอดัม
โรเบิร์ต แคนแนน
ได้รับการเสนอชื่อ
เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเอดินบะระ รางวัลภาพยนตร์สารคดีขนาดยาวยอดเยี่ยม รอส แอดัม
โรเบิร์ต แคนแนน
ได้รับการเสนอชื่อ

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  • Justin Chang. "Film Review: 'The Lovers and the Despot'". Variety. 12 March 2016. สืบค้นเมื่อ 23 สิงหาคม 2559. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]