ด็อยท์เชิสมูเซอุม

พิกัด: 48°07′48″N 11°35′00″E / 48.13000°N 11.58333°E / 48.13000; 11.58333
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

48°07′48″N 11°35′00″E / 48.13000°N 11.58333°E / 48.13000; 11.58333

พิพิธภัณฑ์ด็อยท์เชิสมูเซอุม
อาคารหลักในมิวนิก ด้านหน้าคือสะพานโบชข้ามแม่น้ำอีซาร์
อาคารหลักในมิวนิก ด้านหน้าคือสะพานโบชบรึคเคอข้ามแม่น้ำอีซาร์
แผนที่
ก่อตั้ง28 มิถุนายน ค.ศ. 1903
ที่ตั้ง
ประเภท
ขนาดผลงาน28,000
จำนวนผู้เยี่ยมชม1.5 ล้าน
เว็บไซต์Deutsches Museum

ด็อยท์เชิสมูเซอุม (เยอรมัน: Deutsches Museumพิพิธภัณฑ์เยอรมัน) มีชื่อเต็มว่า พิพิธภัณฑ์เยอรมันแห่งผลงานชิ้นเอกทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (เยอรมัน: Deutsches Museum von Meisterwerken der Naturwissenschaft und Technik) ตั้งอยู่ในเมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี เป็นพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ถือว่าใหญ่ที่สุดในโลก[1] ด้วยมีวัตถุจัดแสดงกว่า 28,000 ชิ้น ในสาขาต่าง ๆ ของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกว่า 50 สาขา มีจำนวนผู้เข้าเยี่ยมชมเฉลี่ย 1.5 ล้านครั้งต่อปี

พิพิธภัณฑ์เยอรมันแห่งนี้ก่อตั้งโดยสมาคมวิศวกรรมแห่งเยอรมนี (VDI) เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1903 (พ.ศ. 2446) ริเริ่มโดยออสการ์ ฟอน มิลเลอร์ ปัจจุบันมีฐานะเป็นองค์กรมหาชน และเป็นสมาชิกแห่งสมาคมไลบ์นิทซ์ (Leibniz-Gemeinschaft) ในฐานะศูนย์วิจัย

มูเซอุมอินเซิล[แก้]

ภาพถ่ายทางอากาศแสดงมูเซอุมอินเซิล ที่ตั้งของด็อยท์เชิสมูเซอุม

อาคารหลักของพิพิธภัณฑ์เยอรมันตั้งอยู่บน "มูเซอุมอินเซิล" (เยอรมัน: Museuminselเกาะพิพิธภัณฑ์) ซึ่งเป็นเกาะขนาดเล็กกลางแม่น้ำอีซาร์ แม่น้ำสายหลักที่ไหลผ่านกลางเมืองมิวนิก เมื่อครั้งก่อนเกาะแห่งนี้ไม่เคยมีสิ่งปลูกสร้างตั้งอยู่เลยเนื่องจากมีน้ำท่วมตามฤดูกาล จนถึง ค.ศ. 1772 เมื่อมีการสร้างเขื่อนซึลเวนชไตน์ขึ้นบริเวณต้นแม่น้ำอีซาร์เพื่อป้องกันน้ำท่วม พื้นที่เกาะก็มีการปลูกสร้างค่ายทหารอีซาร์ขึ้น อย่างไรก็ตามได้เกิดน้ำท่วมอีกครั้งในปี ค.ศ. 1899 จึงก่อสร้างอาคารขึ้นใหม่ในลักษณะป้องกันน้ำท่วมได้ ในปี ค.ศ. 1903 สภาเทศบาลเมืองประกาศว่าจะมอบเกาะให้เป็นที่ตั้งด็อยท์เชิสมูเซอุมที่จะสร้างขึ้นใหม่ อนึ่งเดิมเกาะแห่งนี้มีชื่อว่า "โคห์เลินอินเซิล" (เยอรมัน: Kohleninselเกาะถ่าน) ภายหลังจึงเปลี่ยนชื่อเป็น มูเซอุมอินเซิล[2][3]

ประวัติ[แก้]

ด็อยท์เชิสมูเซอุม เมื่อราวคริสต์ทศวรรษ 1930
  • ค.ศ. 1903 ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์
  • ค.ศ. 1906 เปิดส่วนจัดแสดงชั่วคราวในพื้นที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติเดิมบนถนนมักซีมีเลียน
  • ค.ศ. 1909 เปิดส่วนจัดแสดงเพิ่มเติมในพื้นที่ค่ายทหารเดิมบนเกาะกลางแม่น้ำอีซาร์ (ถนนเอร์ฮาร์ดท์)
  • ค.ศ. 1911 งานฉลองขึ้นยอดอาคารจัดแสดง
  • ค.ศ. 1925 เปิด “ด็อยท์เชิสมูเซอุม” ในอาคารใหม่บนเกาะกลางแม่น้ำอีซาร์ และให้ชื่อเกาะว่า “เกาะพิพิธภัณฑ์”
  • ค.ศ. 1928 วางศิลาฤกษ์อาคารหอสมุดและโถงกลาง
  • ค.ศ. 1930 งานฉลองขึ้นยอดอาคารหอสมุดและโถงกลาง
  • ค.ศ. 1932 เปิดหอสมุด
  • ค.ศ. 1935 เปิดศูนย์คองเกรส (Kongresssaal)
  • ค.ศ. 1944 อาคารพิพิธภัณฑ์ถูกทำลายไปกว่าร้อยละ 80 ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง
  • ค.ศ. 1948 ฟื้นฟูและเปิดใช้งานพิพิธภัณฑ์อีกครั้ง
  • ค.ศ. 1983 ส่วนจัดแสดงเครื่องกลและสมุทรศาสตร์ถูกไฟไหม้ทำลาย
  • ค.ศ. 1984 เปิดส่วนจัดแสดงการบินและอวกาศ และปิดส่วนจัดแสดงบางส่วนชั่วคราวเนื่องจากเหตุลูกเห็บตกครั้งใหญ่ในมิวนิก
  • ค.ศ. 1992 เปิด "พิพิธภัณฑ์การบินชไลส์ไฮม์" (Flugwerft Schleißheim) ในพื้นที่สนามบินโอเบอร์ชไลส์ไฮม์เดิม
  • ค.ศ. 1995 เปิดสาขาของด็อยท์เชิสมูเซอุม ในเมืองบอนน์
  • ค.ศ. 2003 เปิด "ศูนย์จัดแสดงการคมนาคม" (Verkehrszentrum) ในเมืองมิวนิก
  • ค.ศ. 2006 เปิดโถงแห่งที่หนึ่งและสองของศูนย์จัดแสดงการคมนาคม ตั้งที่ถนนเทเรเซียนเฮอเฮ
  • ตุลาคม ค.ศ. 2015 เริ่มโครงการปรับปรุงใหม่ครั้งใหญ่ตอนที่หนึ่ง ซึ่งจะมีไปถึง ค.ศ. 2025 มีการปิดส่วนจัดแสดงหลายส่วน

พื้นที่ส่วนจัดแสดงถาวรในปัจจุบัน[แก้]

อุปกรณ์ทดลองของอ็อทโท ฮานและฟริทซ์ ชทราสมัน ที่นำไปสู่การค้นพบนิวเคลียร์ฟิชชันในปี ค.ศ. 1938
ภายในเรือดำน้ำ U 1 จากสมัยกองทัพเรือจักรวรรดิเยอรมัน
เครื่องบินพาณิชย์ ยุงเกอร์ส (Junkers) F13
  • การบินและอวกาศ
  • เกษตรกรรม
  • ถ้ำอัลตามิราจำลองจากสเปน แสดงภาพเขียนสมัยก่อนประวัติศาสตร์
  • วิทยุสมัครเล่น
  • วิทยาศาสตร์การบิน
  • ดาราศาสตร์
  • การก่อสร้างสะพาน
  • เซรามิก
  • เคมี
  • การวัดเวลา
  • คอมพิวเตอร์
  • การประมวลภาพดิจิทัล
  • พลังไฟฟ้า
  • เทคโนโลยีทางพลังงาน
  • สิ่งแวดล้อม
  • ภูมิมาตรศาสตร์
  • แก้ว
  • ประวัติด็อยท์เชิสมูเซอุม
  • วิศวกรรมชลศาสตร์
  • ส่วนประกอบเครื่องจักร
  • เครื่องมือเครื่องจักร
  • การนำทางเดินเรือ
  • ผลงานชิ้นเอก
  • การเหมืองแร่
  • โลหะวิทยา
  • ไมโครอิเล็กทรอนิกส์
  • แร่ น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ
  • เพลง
  • กระดาษ
  • เภสัชกรรม
  • ฟิสิกส์
  • จักรกลให้พลัง
  • การพิมพ์
  • อุปกรณ์วิทยาศาสตร์
  • ของเล่นทางเทคนิค
  • โทรคมนาคม
  • เทคโนโลยีสิ่งทอ
  • การก่อสร้างอุโมงค์
  • น้ำหนักและการวัด

อ้างอิง[แก้]

  1. "The New York Times Travel Guide dated 10 Aug 2008 states that "this is the largest technological museum of its kind in the world."". Travel.nytimes.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ May 3, 2012.
  2. Pudor, Heinrich (1918). "Zur Geschichte der technischen Museen - Vierteljahrschrift für Sozial- und Wirtschaftsgeschichte". 14 (2/3): 356–375. JSTOR 20725016. {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help)
  3. Bühler, Dirk (May 2009). Building a Masterpiece of Concrete-Technology: The Deutsches Museum in Munich (1906-1911). Proceedings of the Third International Congress on Construction History. Cottbus.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

วิทยาศาสตร์
ประวัติศาสตร์