ด็อยท์เชิสมูเซอุม
48°07′48″N 11°35′00″E / 48.13000°N 11.58333°E
อาคารหลักในมิวนิก ด้านหน้าคือสะพานโบชบรึคเคอข้ามแม่น้ำอีซาร์ | |
ก่อตั้ง | 28 มิถุนายน ค.ศ. 1903 |
---|---|
ที่ตั้ง | |
ประเภท | |
ขนาดผลงาน | 28,000 |
จำนวนผู้เยี่ยมชม | 1.5 ล้าน |
เว็บไซต์ | Deutsches Museum |
ด็อยท์เชิสมูเซอุม (เยอรมัน: Deutsches Museum – พิพิธภัณฑ์เยอรมัน) มีชื่อเต็มว่า พิพิธภัณฑ์เยอรมันแห่งผลงานชิ้นเอกทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (เยอรมัน: Deutsches Museum von Meisterwerken der Naturwissenschaft und Technik) ตั้งอยู่ในเมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี เป็นพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ถือว่าใหญ่ที่สุดในโลก[1] ด้วยมีวัตถุจัดแสดงกว่า 28,000 ชิ้น ในสาขาต่าง ๆ ของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกว่า 50 สาขา มีจำนวนผู้เข้าเยี่ยมชมเฉลี่ย 1.5 ล้านครั้งต่อปี
พิพิธภัณฑ์เยอรมันแห่งนี้ก่อตั้งโดยสมาคมวิศวกรรมแห่งเยอรมนี (VDI) เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1903 (พ.ศ. 2446) ริเริ่มโดยออสการ์ ฟอน มิลเลอร์ ปัจจุบันมีฐานะเป็นองค์กรมหาชน และเป็นสมาชิกแห่งสมาคมไลบ์นิทซ์ (Leibniz-Gemeinschaft) ในฐานะศูนย์วิจัย
มูเซอุมอินเซิล
[แก้]อาคารหลักของพิพิธภัณฑ์เยอรมันตั้งอยู่บน "มูเซอุมอินเซิล" (เยอรมัน: Museuminsel – เกาะพิพิธภัณฑ์) ซึ่งเป็นเกาะขนาดเล็กกลางแม่น้ำอีซาร์ แม่น้ำสายหลักที่ไหลผ่านกลางเมืองมิวนิก เมื่อครั้งก่อนเกาะแห่งนี้ไม่เคยมีสิ่งปลูกสร้างตั้งอยู่เลยเนื่องจากมีน้ำท่วมตามฤดูกาล จนถึง ค.ศ. 1772 เมื่อมีการสร้างเขื่อนซึลเวนชไตน์ขึ้นบริเวณต้นแม่น้ำอีซาร์เพื่อป้องกันน้ำท่วม พื้นที่เกาะก็มีการปลูกสร้างค่ายทหารอีซาร์ขึ้น อย่างไรก็ตามได้เกิดน้ำท่วมอีกครั้งในปี ค.ศ. 1899 จึงก่อสร้างอาคารขึ้นใหม่ในลักษณะป้องกันน้ำท่วมได้ ในปี ค.ศ. 1903 สภาเทศบาลเมืองประกาศว่าจะมอบเกาะให้เป็นที่ตั้งด็อยท์เชิสมูเซอุมที่จะสร้างขึ้นใหม่ อนึ่งเดิมเกาะแห่งนี้มีชื่อว่า "โคห์เลินอินเซิล" (เยอรมัน: Kohleninsel – เกาะถ่าน) ภายหลังจึงเปลี่ยนชื่อเป็น มูเซอุมอินเซิล[2][3]
ประวัติ
[แก้]- ค.ศ. 1903 ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์
- ค.ศ. 1906 เปิดส่วนจัดแสดงชั่วคราวในพื้นที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติเดิมบนถนนมักซีมีเลียน
- ค.ศ. 1909 เปิดส่วนจัดแสดงเพิ่มเติมในพื้นที่ค่ายทหารเดิมบนเกาะกลางแม่น้ำอีซาร์ (ถนนเอร์ฮาร์ดท์)
- ค.ศ. 1911 งานฉลองขึ้นยอดอาคารจัดแสดง
- ค.ศ. 1925 เปิด “ด็อยท์เชิสมูเซอุม” ในอาคารใหม่บนเกาะกลางแม่น้ำอีซาร์ และให้ชื่อเกาะว่า “เกาะพิพิธภัณฑ์”
- ค.ศ. 1928 วางศิลาฤกษ์อาคารหอสมุดและโถงกลาง
- ค.ศ. 1930 งานฉลองขึ้นยอดอาคารหอสมุดและโถงกลาง
- ค.ศ. 1932 เปิดหอสมุด
- ค.ศ. 1935 เปิดศูนย์คองเกรส (Kongresssaal)
- ค.ศ. 1944 อาคารพิพิธภัณฑ์ถูกทำลายไปกว่าร้อยละ 80 ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง
- ค.ศ. 1948 ฟื้นฟูและเปิดใช้งานพิพิธภัณฑ์อีกครั้ง
- ค.ศ. 1983 ส่วนจัดแสดงเครื่องกลและสมุทรศาสตร์ถูกไฟไหม้ทำลาย
- ค.ศ. 1984 เปิดส่วนจัดแสดงการบินและอวกาศ และปิดส่วนจัดแสดงบางส่วนชั่วคราวเนื่องจากเหตุลูกเห็บตกครั้งใหญ่ในมิวนิก
- ค.ศ. 1992 เปิด "พิพิธภัณฑ์การบินชไลส์ไฮม์" (Flugwerft Schleißheim) ในพื้นที่สนามบินโอเบอร์ชไลส์ไฮม์เดิม
- ค.ศ. 1995 เปิดสาขาของด็อยท์เชิสมูเซอุม ในเมืองบอนน์
- ค.ศ. 2003 เปิด "ศูนย์จัดแสดงการคมนาคม" (Verkehrszentrum) ในเมืองมิวนิก
- ค.ศ. 2006 เปิดโถงแห่งที่หนึ่งและสองของศูนย์จัดแสดงการคมนาคม ตั้งที่ถนนเทเรเซียนเฮอเฮ
- ตุลาคม ค.ศ. 2015 เริ่มโครงการปรับปรุงใหม่ครั้งใหญ่ตอนที่หนึ่ง ซึ่งจะมีไปถึง ค.ศ. 2025 มีการปิดส่วนจัดแสดงหลายส่วน
พื้นที่ส่วนจัดแสดงถาวรในปัจจุบัน
[แก้]- การบินและอวกาศ
- เกษตรกรรม
- ถ้ำอัลตามิราจำลองจากสเปน แสดงภาพเขียนสมัยก่อนประวัติศาสตร์
- วิทยุสมัครเล่น
- วิทยาศาสตร์การบิน
- ดาราศาสตร์
- การก่อสร้างสะพาน
- เซรามิก
- เคมี
- การวัดเวลา
- คอมพิวเตอร์
- การประมวลภาพดิจิทัล
- พลังไฟฟ้า
- เทคโนโลยีทางพลังงาน
- สิ่งแวดล้อม
- ภูมิมาตรศาสตร์
- แก้ว
- ประวัติด็อยท์เชิสมูเซอุม
- วิศวกรรมชลศาสตร์
- ส่วนประกอบเครื่องจักร
- เครื่องมือเครื่องจักร
- การนำทางเดินเรือ
- ผลงานชิ้นเอก
- การเหมืองแร่
- โลหะวิทยา
- ไมโครอิเล็กทรอนิกส์
- แร่ น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ
- เพลง
- กระดาษ
- เภสัชกรรม
- ฟิสิกส์
- จักรกลให้พลัง
- การพิมพ์
- อุปกรณ์วิทยาศาสตร์
- ของเล่นทางเทคนิค
- โทรคมนาคม
- เทคโนโลยีสิ่งทอ
- การก่อสร้างอุโมงค์
- น้ำหนักและการวัด
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "The New York Times Travel Guide dated 10 Aug 2008 states that "this is the largest technological museum of its kind in the world."". Travel.nytimes.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ May 3, 2012.
- ↑ Pudor, Heinrich (1918). "Zur Geschichte der technischen Museen - Vierteljahrschrift für Sozial- und Wirtschaftsgeschichte". 14 (2/3): 356–375. JSTOR 20725016.
{{cite journal}}
: Cite journal ต้องการ|journal=
(help) - ↑ Bühler, Dirk (May 2009). Building a Masterpiece of Concrete-Technology: The Deutsches Museum in Munich (1906-1911). Proceedings of the Third International Congress on Construction History. Cottbus.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- Deutsches Museum (อังกฤษ)
- Deutsches Museum Flugwerft Schleißheim เก็บถาวร 2015-04-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ)
- Deutsches Museum Transport Centre (อังกฤษ)
- Deutsches Museum ในบอนน์ (อังกฤษ)