ชุดโกโกวา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
"ชุดโกโกวา"
ซิงเกิลโดยต้องแต้ง
ภาษาไทย
วางจำหน่าย1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565
บันทึกเสียง2565
ผู้ประพันธ์เพลงต้องแต้ง
โปรดิวเซอร์
  • ต้องแต้ง
  • หรรมเดี่ยว น้าหรรม
มิวสิกวิดีโอ
"ชุดโกโกวา" ที่ยูทูบ

"ชุดโกโกวา" เป็นเพลงของต้องแต้ง ยูทูบเบอร์ในช่องต้องแต้ง แฟมิลี่ ทีวี (Tongtang Family TV) ซึ่งเป็นช่องสำหรับเด็กและครอบครัว[1] เผยแพร่ในฐานะเพลงประกอบละคร โดยต่อยอดมาจากละครคุณธรรม พ่อรักลูกไม่เท่ากัน…ไม่ซื้อชุดตุ๊กตา AEIOU ให้ ในช่องยูทูบดังกล่าว จนได้รับความนิยมเป็นมีมในติ๊กต็อกและเฟซบุ๊ก ต้องแต้งจึงนำมาแต่งต่อยอดเป็นเพลงและออกเผยแพร่เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565[2][3] โดยเนื้อเพลง มาแล้วลูกจ๋า ชุดโกโกวาที่หนูอยากได้ กลายเป็นวลีติดหูในช่วงเวลาหนึ่ง[1][2][3]

การประพันธ์[แก้]

ตุ๊กตาย็องฮี จากการโปรโมตซีรีส์ สควิดเกม เล่นลุ้นตาย ที่ชิบูยะ ประเทศญี่ปุ่น

เพลงนี้แต่งโดยทิพรยุทธ กองศรีมา หรือต้องแต้ง ยูทูบเบอร์ชาวจังหวัดอุบลราชธานี เจ้าของช่องต้องแต้ง แฟมิลี่ ทีวี (Tongtang Family TV)[1][4] ทำนองและเรียบเรียงโดยต้องแต้ง และหรรมเดี่ยว น้าหรรม เบื้องต้นต้องแต้งทำคลิปละครคุณธรรมเรื่อง พ่อรักลูกไม่เท่ากัน…ไม่ซื้อชุดตุ๊กตา AEIOU ให้ เนื้อหาคือลูกสาวทั้งสองต้องการสวมชุดเอี๊ยมสีส้มที่เรียกว่า "ชุดโกโกวา" มาจากซีรีส์เกาหลีเรื่อง สควิดเกม เล่นลุ้นตาย (2564) ซึ่งจะปรากฏตุ๊กตาหญิงชื่อ "ย็องฮี" (영희) มีลักษณะเด่นคือไว้ผมหน้าม้า มัดแกละสองข้าง สวมเสื้อคอปกสีเหลือง และชุดกระโปรงสีส้ม ทำหน้าที่เป็นตุ๊กตาสังหาร โดยจะร้องเพลง มูกุงฮวากดชี พีอ็อดซึมนีดา (무궁화꽃이 피었습니다) แปลว่า ดอกมูกุงฮวาจะบานแล้วนะ หากเพลงจบ แล้วผู้เข้าแข่งขันไม่หยุดนิ่ง ก็จะถูกสังหารทันที[2][3][4] ทว่าน้องสาวของต้องแต้งเรียกชื่อชุดเอี๊ยมนั้นว่า โกโกวาคิมิซึนิดา แต่พบว่ากระแสตอบรับดีในติ๊กต็อกจนกลายเป็นมีม เขาจึงนำคำ โกโกวา มาแต่งเป็นเพลง เพราะจำได้ง่าย[1][2][4]

ต้องแต้งนำคำ โกโกวาคิมิซึนิดา ดังกล่าวมาแต่งเป็นเพลง "ชุดโกโกวา" โดยใช้เวลาเพียง 10 นาที โดยบันทึกเนื้อเพลงลงกระดาษปฏิทินเพราะหากระดาษไม่เจอ ก่อนส่งเนื้อเพลงไปให้เพื่อนช่วยลงทำนอง[4] สิงโต นำโชคให้คำชมเชยว่า "[การแต่งเพลงของต้องแต้ง] เป็นความสดใหม่ของวงการเพลง"[1][5]

มิวสิกวิดีโอ[แก้]

ในมิวสิกวิดีโอเพลง ประกอบด้วยนักแสดงสี่คน คือ ทิพรยุทธ กองศรีมา หรือต้องแต้ง รับบทเป็นพ่อ, กฤษณา ชนนิยม หรือนกยูง ภรรยา รับบทเป็นแม่, ดาริกา กองศรีมา หรือใบหยก และวิกานดา กองศรีมา หรือปิ่นมุก ซึ่งเป็นน้องสาวรับบทเป็นลูกสาว[1] ต้องแต้งกล่าวว่า เป็นการถ่ายทำแบบง่าย ๆ ไม่มีทีมงาน[4]

เนื้อหาเป็นเรื่องราวที่ลูกสาวทั้งสองต้องการชุดของย็องซูจากซีรีส์ สควิดเกม เล่นลุ้นตาย หรือที่เรียกกันว่า "ชุดโกโกวา"[3] ทว่าพ่อมีเงินติดตัวเพียง 15 บาท ซึ่งไม่พอสำหรับการซื้อเสื้อแก่ลูกสาวทั้งสอง พร้อมกับสารภาพว่านำเงินไปใช้กับการดื่มสุราจนหมดแล้ว แต่จู่ ๆ พ่อก็นำชุดโกโกวามาให้ และหลุดปากมาว่านำชุดนี้มาจากวัด ลูก ๆ กลัวผีสิงสู่ในชุดเลยไม่กล้านำชุดมาใส่ แต่ครั้นแม่มาเห็นชุดโกโกวาวางพาดไว้อย่างนั้นจึงหยิบมาสวมใส่เลยถูกผีสิงเสียเอง สุดท้ายพ่อและลูกสาวช่วยแม่นำผีออกจากร่างได้[6]

ส่วนท่าเต้นประกอบในเพลง ต้องแต้งกล่าวว่าได้มาจากหลาน ซึ่งเป็นท่าเต้นง่าย ๆ เพียงท่าเดียว เพื่อให้เด็กเต้นตามได้โดยง่าย[1][4]

การตอบรับ[แก้]

เบื้องต้น ต้องแต้งมีเป้าประสงค์ให้เพลงนี้ เป็นเพลงสำหรับลดความเครียดในครอบครัว และให้คนในครอบครัวมีกิจกรรม "เต้น" ร่วมกัน[7] วันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 หรือสิบวันหลังการเผยแพร่ มียอดการรับชมในยูทูบมากถึง 10,222,033 ครั้ง[8] โดยมีศิลปินต่าง ๆ นำเพลง "ชุดโกโกวา" ไปทำใหม่หลากหลายรูปแบบ[9] รวมทั้งปลุกกระแสชุดเอี๊ยมสีส้มหรือที่เรียกว่า "ชุดโกโกวา" ขึ้นมาอีกครั้ง หลังกระแสของซีรีส์ สควิดเกม เล่นลุ้นตาย สร่างซาลงไป โดยมีดาราและนักแสดงออกมาแต่งกายด้วยชุดนี้อย่างคึกคัก[10]

วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 เอ้ BOTCASH หรือสัณหภาส บุนนาค ร่วมกับต้องแต้ง ได้รีมิกซ์เพลง "ชุดโกโกวา" ขึ้นใหม่ โดยการทำดนตรีใหม่ให้มีจังหวะสนุกสนานและแทรกดนตรีไทยเข้าไปด้วย[11]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 "เปิดใจ ต้องแต้ง เล่าที่มา เพลงดัง ชุดโกโกวา สุดฮิต". อีจัน. 8 Feb 2022. สืบค้นเมื่อ 15 Feb 2022.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 "ที่มาวลีฮิต! "มาแล้วลูกจ๋า โกโกวาที่หนูอยากได้" เพลงดังสุดเปรี้ยง ยอดวิวสูงถึง 4 ล้าน". ผู้จัดการออนไลน์. 7 Feb 2022. สืบค้นเมื่อ 15 Feb 2022.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 "เปิดที่มาชุดโกโกวาจากซีรีส์สควิดเกม ทำไมกลับมาฮิต". ไทยรัฐออนไลน์. 7 Feb 2022. สืบค้นเมื่อ 15 Feb 2022.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 "เปิดใจเจ้าของเพลงฮิต 'ชุดโกโกวา' เผยที่มาสุดอึ้งก่อนปัง ใช้เวลาแต่ง 10 นาที". ข่าวสดออนไลน์. 7 Feb 2022. สืบค้นเมื่อ 15 Feb 2022.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  5. Kanokwan Makmek (9 Feb 2022). "มาแล้วลูกจ๋า 'ชุดโกโกวา' เวอร์ชั่น 'DTK BOY BAND' ที่นำช่วงหนึ่งของเอ็มวี 'ลองรวย' มาตัดต่อใหม่". Workpoint Today. สืบค้นเมื่อ 15 Feb 2022.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  6. "มาแล้วลูกจ๋า... 'ชุดโกโกวา' ที่หนูอยากได้ ไวรัลดังในตอนนี้คืออะไร มาดู". The Bangkok Insight. 8 Feb 2022. สืบค้นเมื่อ 15 Feb 2022.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  7. "เปิดที่มาเพลงฮิตติดหู ชุดโกโกวา ไวรัลดังบนโลกโซเชียล". TNN Thailand. 8 Feb 2022. สืบค้นเมื่อ 15 Feb 2022.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  8. "โกโกวาคิมิซึนิดา! มาแล้วลูกจ๋า ชุดโกโกวาที่หนูอยากได้ ก้าวสู่ 10 ล้านวิว ใครจะไม่อยากได้". ทรูไอดี. 11 Feb 2022. สืบค้นเมื่อ 15 Feb 2022.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  9. "หลอนหูไปหมดแล้ว! ชุดโกโกวา รีมิกซ์ รวมทุกการ COVER มาแล้วลูกจ๋า ชุดโกโกวาที่หนูอยากได้ จัดเต็มทุกงานแสดง". ทรูไอดี. 10 Feb 2022. สืบค้นเมื่อ 15 Feb 2022.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  10. "ชุดโกโกวา กระแสแฟชั่นมาแรง คนดังแต่งเพียบ ไม่มีหลุดเทรนด์". กระปุกดอตคอม. 9 Feb 2022. สืบค้นเมื่อ 15 Feb 2022.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  11. "โกโกวารีมิกซ์! ชุดโกโกวา เอ้ BOTCASH Ft.TONGTANG FAMILY เวอร์ชั่นที่พูดไว้ใน โหนกระแส". ทรูไอดี. 15 Feb 2022. สืบค้นเมื่อ 15 Feb 2022.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)