ชาง ยาง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ชาง ยาง
รูปปั้นของชาง ยาง
ภาษาจีน商鞅

ชาง ยาง (จีน: 商鞅; พินอิน: Shāng Yāng; ราว 390–338 ปีก่อนคริสตกาล) หรือ เว่ย์ ยาง (จีน: 衞鞅; พินอิน: Wèi Yāng)[1] ชื่อเดิมคือ กงซุน ยาง (จีน: 公孫鞅; พินอิน: Gōngsūn Yāng)[1] เป็นรัฐบุรุษและนักปฏิรูปแห่งรัฐฉิน (秦國) มีชีวิตอยู่ในยุครณรัฐ (戰國時代) ของจีนโบราณ นโยบายของเขาทำให้ฉินสามารถครองแผ่นดินจีนและผนวกแว่นแคว้นเข้าเป็นหนึ่งเดียวกันได้สำเร็จ เขากับศิษยานุศิษย์ยังฝากผลงานไว้ในตำราชื่อ ชาง-จฺวินชู (商君書) ซึ่งนักวิชาการสมัยใหม่เห็นว่า เป็นรากฐานแห่งหลักนิตินิยมของจีน (Chinese Legalism)[2]

ชีวิต[แก้]

ต้นชีวิต[แก้]

ชาง ยาง เกิดในรัฐเว่ย์ (衛國) ซึ่งอยู่ในความปกครองของราชวงศ์โจว (周朝) เขารับราชการในรัฐเว่ย์ แต่ภายหลัง ฉินเซี่ยวกง (秦孝公) ผู้ปกครองรัฐฉิน สนับสนุนให้เขาทิ้งตำแหน่งในรัฐเว่ย์มาเป็นที่ปรึกษาราชการในรัฐฉิน[3]

การปฏิรูป[แก้]

ระหว่างรับราชการในรัฐฉิน ชาง ยาง ริเริ่มการปฏิรูปหลายประการที่ช่วยให้รัฐฉินเกิดความเข้มแข็งในทางทหารและการรวมศูนย์อำนาจ หาน เฟย์ (韓非) นักประวัติศาสตร์แห่งยุครณรัฐ ระบุว่า ชาง ยาง ได้เสนอทฤษฎีเกี่ยวกับการปรับปรุงกฎหมาย (定法) และการปฏิบัติต่อปวงชนอย่างเสมอหน้ากัน (一民) ชาง ยาง เชื่อในหลักนิติธรรมและให้ความสำคัญแก่ความรักชาติยิ่งกว่าความรักญาติ เขาทำข้อเสนอสองประการเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในรัฐฉิน ข้อเสนอแรกมีขึ้นเมื่อ 356 ปีก่อนคริสตกาล ว่าด้วยการปรับปรุง ประชุมกฎหมาย (法经) ของหลี่ คุย (李悝) ที่ใช้มานาน การยึดอสังหาริมทรัพย์ของชนชั้นขุนนางมาแจกจ่ายให้ทหารตามความชอบในสงคราม การปรับปรุงโครงสร้างยศทหารโดยแบ่งออกเป็น 20 ชั้นตามผลงาน และการส่งเสริมเกษตรกรรมในที่ดินรกร้างว่างเปล่าเพื่อช่วยให้เศรษฐกิจเฟื่องฟู โดยใช้แรงงานของผู้อพยพเข้าเมือง เพราะพลเมืองหลักเกณฑ์เข้ากองทัพสิ้นแล้ว ข้อเสนอที่สองมีขึ้นเมื่อ 350 ปีก่อนคริสตกาล ว่าด้วยการแบ่งปันที่ดินด้วยระบบใหม่ที่มีมาตรฐาน และการปฏิรูปภาษีอากร

แนวคิดของชาง ยาง ยังเป็นที่เลื่อมใสของจักรพรรดิฮั่นอู่ (漢武帝) ในสมัยหลัง[4]

การเสียชีวิต[แก้]

การปฏิรูปของชาง ยาง แม้ทำให้รัฐฉินรุ่งเรือง แต่ก็ทำให้ประโยชน์ของชนชั้นขุนนางเสื่อมถอย จึงไม่เป็นที่สบอารมณ์ของชนชั้นปกครองเสมอมา[5] นอกจากนี้ ครั้งหนึ่ง ฉินฮุ่ยเหวินจฺวิน (秦惠文君) บุตรชายของฉินเซี่ยวกง กระทำความผิด ชาง ยาง ให้ลงโทษไม่ไว้หน้าเพื่อรักษากฎหมาย ทำให้ฉินฮุ่ยเหวินจฺวินผูกใจเจ็บ[6]

เมื่อฉินเซี่ยวกงถึงแก่กรรมแล้ว ฉินฮุ่ยเหวินจฺวินขึ้นสืบตำแหน่งต่อ และไม่รอช้าที่จะแก้แค้น ฉินฮุ่ยเหวินจฺวินกล่าวหาว่า ชาง ยาง เป็นกบฏ และสั่งประหารทั้งโคตร ชาง ยาง หนีไปขอหลบซ่อน ณ โรงพักแรมแห่งหนึ่ง แต่เจ้าของบอกปัด เพราะกฎหมายที่ชาง ยาง บัญญัติไว้เองระบุว่า ห้ามรับคนที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้ตามสมควรเข้าพักอาศัย ที่สุดแล้ว ชาง ยาง ถูกจับกุม และถูกประหารด้วยวิธีเชอเลี่ย (車裂) คือ ผูกร่างกายเข้ากับรถเทียมสัตว์ห้าคัน แล้วเร่งให้สัตว์ลากไปในทิศทางต่าง ๆ จนร่างฉีกขาดเป็นชิ้น ๆ[7][8] ส่วนครอบครัวของเขาก็ถูกประหารสิ้นตามคำสั่งของฉินฮุ่ยเหวินจฺวิน[5]

แม้จงเกลียดชาง ยาง เพียงไร ฉินฮุ่ยเหวินจฺวินก็ยังปฏิรูปบ้านเมืองตามแนวทางของชาง ยาง ต่อไป แต่เบนเป้าหมายจากการผนวกภาคกลางไปยึดครองรัฐฉู่ (蜀國) และรัฐปา (巴國) ในภาคใต้แทน[9]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 Antonio S. Cua (ed.), 2003, p. 362, Encyclopedia of Chinese Philosophy [1]
  2. Pines, Yuri, "Legalism in Chinese Philosophy", The Stanford Encyclopedia of Philosophy (Winter 2014 Edition), Edward N. Zalta (ed.), 1.1 Major Legalist Texts, http://plato.stanford.edu/archives/win2014/entries/chinese-legalism/
  3. pg 79 of Classical China
  4. Creel 1970, What Is Taoism?, 115
  5. 5.0 5.1 商君列传 (vol. 68), Records of the Grand Historian, Sima Qian
  6. pg 80 of Classical China, ed. William H. McNeill and Jean W. Sedlar, Oxford University Press, 1970. LCCN: 68-8409
  7. 和氏, Han Feizi, Han Fei
  8. 东周列国志, 蔡元放
  9. Steven F. Sage 1992. p.116. Ancient Sichuan and the Unification of China. https://books.google.com/books?id=VDIrG7h_VuQC&pg=PA116

บรรณานุกรม[แก้]

  • Zhang, Guohua, "Shang Yang"[ลิงก์เสีย]. Encyclopedia of China (Law Edition), 1st ed.
  • Xie, Qingkui, "Shang Yang" เก็บถาวร 2007-05-09 ที่ archive.today. Encyclopedia of China (Political Science Edition), 1st ed.
  • 国史概要 (第二版) ISBN 7-309-02481-8
  • 戰國策 (Zhan Guo Ce), 秦第一