ข้ามไปเนื้อหา

ฉินเซี่ยวกง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ฉินเซี่ยวกง (秦孝公)
ครองราชย์361–338 ปีก่อนคริสตกาล
ประสูติ382 ปีก่อนคริสตกาล
พระราชบุตร
พระนามเต็ม
พระราชบิดาฉินเซี่ยนกง (秦獻公)
ช่วงเวลา
เหตุการณ์สำคัญปฏิรูปการเมือง การทหาร และเศรษฐกิจ

ฉินเซี่ยวกง (จีน: 秦孝公; พินอิน: Qín Xiào Gōng; 382–338 ปีก่อนคริสตกาล) พระนามเดิมว่า ฉฺวี เหลียง (渠梁) ทรงเป็นผู้ปกครองรัฐฉิน (秦國) ตั้งแต่ 361 ถึง 338 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งตรงกับยุครณรัฐ (戰國) ในประวัติศาสตร์จีน ทรงเป็นที่รู้จักเพราะได้ชาง ยาง (商鞅) แห่งรัฐเว่ย์ (衛國) ซึ่งเป็นรัฐบุรุษที่นิยมกฎหมาย มารับใช้[1] และทรงอนุญาตให้ชาง ยาง ปฏิรูปการเมือง การทหาร และเศรษฐกิจขนานใหญ่ในรัฐฉิน แม้การปฏิรูปดังกล่าวจะถูกขุนนางรัฐฉินจำนวนมากวิพากษ์วิจารณ์และคัดค้านอย่างรุนแรง แต่ฉินเซี่ยวกงก็ทรงสนับสนุนชาง ยาง อย่างเต็มที่ และการปฏิรูปก็ช่วยให้รัฐฉินได้เป็นรัฐมหาอำนาจอันโดดเด่นในท่ามกลางหมู่รณรัฐทั้งเจ็ด

ประวัติ

[แก้]

ฉินเซี่ยวกงทรงขึ้นครองราชย์ในรัฐฉินสืบต่อจากฉินเซี่ยนกง (秦獻公) พระบิดา เมื่อ 361 ปีก่อนคริสตกาล ขณะนั้น ฉินเซี่ยวกงมีพระชนม์ 21 ชันษา และมีพระปณิธานปรารถนาจะนำพารัฐฉินกลับสู่ความรุ่งโรจน์ในอดีตเหมือนครั้งรัชกาลของฉินมู่กง (秦穆公) ที่รัฐฉินได้เป็นหนึ่งในกลุ่มห้าอธิราช (五霸) ดังนั้น ฉินเซี่ยวกงจึงทรงออกประกาศรับผู้มีความสามารถมาช่วยสร้างบ้านเมืองให้แข็งแกร่ง โดยทรงให้คำมั่นจะประทานรางวัลเป็นตำแหน่งชั้นสูงและที่ดินหลายผืน ชาง ยาง แห่งรัฐเว่ย์ ตกลงใจมาถวายตัวตามประกาศนี้ หลังจากที่ไปรัฐอื่นแล้วถูกปฏิเสธมาตลอด

ผู้ทูลเสนอชาง ยาง ต่อฉินเซี่ยวกง คือ Jing Jian และชาง ยาง ได้เข้าเฝ้าฉินเซี่ยวกงสองครั้งเพื่อเสนอแนวคิดเกี่ยวกับการปกครองโดยอิงหลักการลัทธิขงจื๊อ ลัทธิเต๋า และสำนักอื่น ๆ แต่ไม่ถูกพระทัยฉินเซี่ยวกงนัก ในการเข้าเฝ้าครั้งที่สาม ชาง ยาง ทูลเสนอแนวคิดการปกครองแบบเข้มงวดโดยอิงหลักการนิยมกฎหมาย ซึ่งทำให้ฉินเซี่ยวกงสนพระทัย ฉินเซี่ยวกงทรงอภิปรายเรื่องดังกล่าวกับชาง ยาง ถึงสามวันสามคืน จนบรรลุเป็นร่างแผนการปฏิรูป มีการนำแผนดังกล่าวไปปฏิบัติใน 363 ปีก่อนคริสตกาล แต่ขุนนางรัฐฉินหลายคนคัดค้านอย่างรุนแรง[2] กระนั้น ฉินเซี่ยวกงก็ทรงสนับสนุนแผนของชาง ยาง และทรงรับรองว่า การปฏิรูปจะเป็นไปตามแผนอย่างแน่แท้

การปฏิรูปของชาง ยาง ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหลายขนานในรัฐฉิน รัฐฉินกลายเป็นรัฐที่ใช้กฎหมายควบคุมเข้มงวด และนิยมการใช้กำลังทหาร ถึงบีบคั้นขั้นกดขี่[3] มีการบังคับให้ประชากรโยกย้ายถิ่นฐานเพื่อให้การเกษตรขยายพื้นที่[4] และมีการมอบรางวัลหรือลงโทษราษฎรตามผลงานด้านทหารและกสิกรรม[5]

ครั้น 366 ปีก่อนคริสตกาล กองทัพรัฐฉินเอาชนะกองกำลังร่วมของรัฐหาน (韓國) กับรัฐเว่ย์ (衞国) ได้ในการรบที่ฉือเหมิน (石门)[6] ทหารและข้าราชการรัฐฉินได้ปูนบำเหน็จตามจำนวนศีรษะข้าศึกที่ตัดมาได้[7] นอกจากนี้ รัฐฉินยังเดินหน้ายึดที่ดินจากรัฐเว่ย์ ทำให้รัฐเว่ย์ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากรัฐจ้าว (趙國) เพื่อให้อยู่รอด ความพ่ายแพ้และสูญเสียนี้ทำให้รัฐเว่ย์เสื่อมถอยลงอย่างหนัก

ฉินเซี่ยวกงทรงครองรัฐฉิน 24 ปีจนสิ้นพระชนม์เมื่อ 338 ปีก่อนคริสตกาล สิริพระชนม์ 44 ชันษา ผู้สืบราชสมบัติต่อ คือ ฉินฮุ่ยเหวินหวัง (秦惠文王) พระโอรส เมื่อฉินเซี่ยวกงสิ้นพระชนม์แล้ว ฉินเซี่ยวกงทรงได้รับการเฉลิมพระนามว่า "เซี่ยว" (孝; "กตัญญู")

ฉินเซี่ยวกงทรงเป็นผู้ปกครองคนสุดท้ายของรัฐฉินที่มีตำแหน่งว่า "กง" (公; "พระยา") ผู้ปกครองถัดจากนั้นได้รับการเรียกขานว่า "หวัง" (王; "กษัตริย์")

เหตุการณ์สืบเนื่อง

[แก้]

การปฏิรูปในรัชสมัยฉินเซี่ยวกงเป็นการวางรากฐานอันแข็งแรงให้แก่รัฐฉิน ก่อให้เกิดการหลอมรวมแผ่นดินจีนเป็นหนึ่งในอนาคตกาลภายใต้การนำของฉินฉื่อหฺวังตี้ (秦始皇帝) แห่งราชวงศ์ฉิน (秦朝) ผู้เป็นเชื้อสายของฉินเซี่ยวกงเอง[8]

อ้างอิง

[แก้]
  1. [1] เก็บถาวร 2012-07-09 ที่ archive.today Harvard University reference page for a 2006 class called Moral Reasoning; includes a useful map
  2. Records of the Grand Historian, by Sima Qian, translated by Burton Watson, chapter "Basic Annals of Qin." Pub. Chinese University of Hong Kong (1993), pp. 23-24
  3. [2] Herbert Giles, Chinese Biographical Dictionary on Shang Yang (Wei Yang)
  4. [3] National Institute of Informatics (Japan) English-language abstract of Japanese article by Ochi Shigeaki
  5. [4] Encyclopædia Britannica article on Shang Yang
  6. The Cambridge History of Ancient China (1999/2007), v. 1, p. 618 (ch. "Warring States Political History" by Mark Edward Lewis)
  7. The Cambridge History of Ancient China (1999/2007), v. 1, p. 612 (ch. "Warring States Political History" by Mark Edward Lewis)
  8. [5] เก็บถาวร 2000-10-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนUniversity of Cumbria article

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]