ข้ามไปเนื้อหา

จินี (เด็กป่าเถื่อน)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จินี
เกิดราว พ.ศ. 2500
อาคาเดีย รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐ
มีชื่อเสียงจากเหยื่อทารุณกรรมเด็กและหัวข้อวิจัยเกี่ยวกับการได้มาซึ่งภาษา

จินี (อังกฤษ: Genie, เกิดเมื่อราว พ.ศ. 2500) เป็นนามแฝงที่ใช้เรียกเด็กป่าเถื่อนชาวอเมริกันคนหนึ่งซึ่งถูกทารุณกรรม ทอดทิ้ง และถูกโดดเดี่ยวจากสังคม สถานการณ์ของเธอถูกบันทึกอย่างเด่นชัดโดยเฉพาะในเรื่องของภาษาศาสตร์และจิตวิทยาเด็กที่ผิดปกติ[1][2][3] เมื่อครั้งที่เธอยังเป็นเด็กเล็ก เธอถูกพ่อของเธอมองว่าเธอปัญญาอ่อน ด้วยความเชื่อนี้ พ่อของเธอจึงต้องการแยกเธอให้โดดเดี่ยวจากสังคม จึงเป็นเหตุให้พ่อของเธอขังเธอไว้คนเดียวในห้องตั้งแต่อายุ 20 เดือน โดยพ่อของเธอได้ผูกตัวเธอ รวมถึงแขนและขาของเธอติดกับโถส้วมหรือเปล และได้สั่งห้ามไม่ให้คนในครอบครัวพูดคุยหรือมีปฏิสัมพันธ์กับเธอ รวมทั้งได้ให้เธออดอาหารอย่างรุนแรง[4]

หลายปีต่อมาหลังจากที่ชีวิตของจินีได้พบกับแสงสว่าง เหล่านักจิตวิทยา นักภาษาศาสตร์ และนักวิทยาศาสตร์ได้นำกรณีของเธอมาศึกษาเกี่ยวกับพัฒนาการของมนุษย์ในหลายด้านอย่างละเอียด เมื่อมีการพิจารณาว่าเธอยังไม่ได้เรียนรู้ภาษาใด ๆ เลย นักภาษาศาสตร์จึงเห็นว่าการศึกษากรณีของเธอเป็นโอกาสที่จะได้รับข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับกระบวนการควบคุมทักษะการเรียนรู้ภาษาและทดสอบทฤษฎีและสมมติฐานที่ใช้ระบุสมมติฐานช่วงอายุวิกฤตซึ่งเป็นช่วงอายุที่มนุษย์เรียนรู้ที่จะเข้าใจและใช้ภาษา ตลอดเวลาที่เหล่านักวิทยาศาสตร์ศึกษาเกี่ยวกับกรณีของเธอ เธอได้มีพัฒนาการโดยรวมทั้งทางร่างกายและทางจิตใจที่ดียิ่งขึ้น เธอมีพัฒนาการทางการสื่อสารโดยใช้อวัจนภาษาที่ดีมาก แต่เมื่อการศึกษากรณีของเธอสิ้นสุดลง เธอก็ยังคงแสดงพฤติกรรม ลักษณะนิสัย และบุคลิกภาพส่วนมากเช่นเดียวกับคนที่โดดเดี่ยวทางสังคม แต่เธอก็ยังคงเรียนรู้ที่จะเข้าใจและใช้ภาษาระหว่างที่นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการทดสอบเธอ แต่ในที่สุด เธอก็ไม่สามารถเรียนรู้ภาษาที่หนึ่งได้อย่างสมบูรณ์[5]

ทางการได้จัดให้จินีเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเด็กลอสแอนเจลิส โดยทีมแพทย์และนักจิตวิทยาได้เฝ้าดูแลเธอเป็นเวลาหลายเดือน และการวางแผนการครองชีพที่ตามมาของเธอก็ได้กลายเป็นเรื่องถกเถียงที่ยืดเยื้อ เมื่อปลายเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2514 เธอได้ออกจากโรงพยาบาลมาอยู่อาศัยกับครูที่โรงพยาบาลของเธอ แต่อีกครึ่งเดือนต่อมา ทางการได้นำเธอไปอยู่กับครอบครัวของนักวิทยาศาสตร์ที่มุ่งหน้าไปยังทีมวิจัย ซึ่งเธออาศัยอยู่มาเกือบสี่ปี หลังจากนั้น กลางปี พ.ศ. 2518 เมื่อเธออายุครบ 18 ปี เธอก็ได้กลับไปอยู่กับแม่ของเธอ ซึ่งสองสามเดือนต่อมาแม่ของเธอก็ตัดสินใจว่าไม่สามารถดูแลเธอได้ดีพอ ทางการจึงย้ายเธอไปอยู่ที่สถาบันสำหรับผู้ใหญ่ที่พิการซึ่งไม่มีใครที่เธอรู้จัก ส่งผลให้สุขภาพกายและสุขภาพจิตของเธอเสื่อมโทรมลงเป็นอย่างมาก[4][6] และทักษะภาษาและทักษะทางพฤติกรรมของเธอที่เคยเรียนรู้ก็ถดถอยอย่างรวดเร็ว[4]

รายการอ้างอิง

[แก้]
  1. Reynolds & Fletcher-Janzen 2004, p. 428.
  2. Waltz, Mitzi (2013). Autism: A Social and Medical History. Basingstoke, Hampshire, United Kingdom: Palgrave Macmillan. ISBN 978-0-230-52750-8. OCLC 821693777.
  3. Pinker 2007, pp. 296–297.
  4. 4.0 4.1 4.2 "Secret of the Wild Child". NOVA. ฤดูกาล 22. ตอน 2. PBS. March 4, 1997. OCLC 57894649. PBS (United States), BBC (United Kingdom). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 9, 2012. สืบค้นเมื่อ February 12, 2009.
  5. Curtiss 1977.
  6. Rymer 1994, pp. 151–155.