จากเหมาถึงโมซาร์ท
จากเหมาถึงโมซาร์ท | |
---|---|
ภาพปกดีวีดีวางจำหน่าย ค.ศ. 2001 เป็นภาพของสเติร์น กับ ฉู่ เหว่ยหลิง | |
กำกับ | เมอร์เรย์ เลิร์นเนอร์ |
นักแสดงนำ | ไอแซก สเติร์น เดวิด กอลับ หลี เต๋อลุ่น |
กำกับภาพ | เดวิด บริดเจส นิค โนว์แลนด์ |
ตัดต่อ | ทอม ฮาเนอเคอ |
วันฉาย | 31 ธันวาคม ค.ศ. 1979 |
ความยาว | 114 นาที |
ประเทศ | สหรัฐอเมริกา |
ภาษา | ภาษาอังกฤษ ภาษาจีนกลาง |
ข้อมูลจาก IMDb |
จากเหมาถึงโมซาร์ท (อังกฤษ: From Mao to Mozart: Isaac Stern in China) เป็นภาพยนตร์สารคดีโดยเมอร์เรย์ เลิร์นเนอร์ ผู้กำกับชาวอเมริกัน เกี่ยวกับการเผยแพร่วัฒนธรรมตะวันตกเข้าไปในประเทศจีนในช่วงปลายทศวรรษ 1970 หลังสิ้นสุดการปฏิวัติวัฒนธรรม เป็นการติดตามถ่ายทำการเดินทางของไอแซก สเติร์น นักไวโอลินระดับโลก และครูสอนดนตรีที่ได้รับเชิญให้เดินทางท่องเที่ยวไปตามสถานที่ต่างๆ ในประเทศจีน เพื่อ "แลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม" ช่วงเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1979 เป็นเวลาสามสัปดาห์ [1] และโดยที่ไม่ได้ตั้งใจไว้ตั้งแต่แรก สเติร์นได้จัดแสดงคอนเสิร์ต บรรยายชั้นเรียนดนตรีคลาสสิก และจัดเวิร์กช็อปให้กับเยาวชนจีนจากเมืองต่างๆ ตามรายทาง [2]
ชื่อภาพยนตร์ "จากเหมาถึงโมซาร์ท" มาจากฉากการพูดคุยกันระหว่างสเติร์น กับหลี เต๋อลุ่น ผู้อำนวยเพลงวงเซ็นทรัลฟิลฮาร์โมนิกออร์เคสตรา เมื่อพบกันครั้งแรก หลีได้วิเคราะห์ดนตรีของโมซาร์ทให้สเติร์นฟัง โดยวิธีการเปรียบเทียบแบบมาร์กซิสต์ของเหมา เจ๋อตง [3] หลีได้เปิดเผยในบทสัมภาษณ์พิเศษที่รวมอยู่ในดีวีดีฉบับปี 2001 ว่า จริงๆ แล้วเขาไม่ได้คิดอย่างนั้น แต่เนื่องจากบรรยากาศทางการเมืองของจีนในปี 1979 ขณะถ่ายทำภาพยนตร์ ซึ่งปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีน ทำให้เขาต้องพูดถึงทุกเรื่องไปในเชิงสนับสนุนลัทธิเหมา [3]
ภาพยนตร์ได้ถ่ายทำการแสดงของไอแซก สเติร์น ร่วมกับหลี เต๋อลุ่น และการฝึกซ้อม สาธิตการเล่นดนตรีของนักดนตรีระดับเยาวชนหลายคน ในเวลาต่อมาสเติร์นได้สนับสนุนให้เด็กหลายคนได้รับการศึกษาในต่างประเทศ และกลายเป็นนักดนตรีคลาสสิกในระดับนานาชาติ เช่น หวัง เจี้ยน (Jian Wang) เด็กชายนักเชลโลวัย 11 ปี [4] ฉู่ เหว่ยหลิง (Vera Tsu) เด็กหญิงนักไวโอลินวัย 11 ปี [5] และชุน ผาน (Pan Chun) เด็กชายนักเปียโนวัย 8 ปี [6]
ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม ประจำปี 1980 [7] และเข้าฉายในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ประจำปี 1981 [8]
หลังการเสียชีวิตของสเติร์นในปี 2001 ได้มีการผลิตภาพยนตร์เรื่องนี้จำหน่ายในรูปแบบดีวีดี โดยเพิ่มเติมภาพการแสดงดนตรีร่วมกันอีกครั้งของสเติร์นกับหลี เต๋อลุ่น ในยี่สิบปีหลังเหตุการณ์ในภาพยนตร์ พร้อมกับบทสัมภาษณ์สามนักดนตรีเยาวชน ที่มีชื่อเสียงในระดับโลกไปแล้ว [3]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Isaac Stern’s Great Leap Forward Reverberates New York Times, 1 Jul 2009
- ↑ From Mao to Mozart : Isaac Stern in China (1) เก็บถาวร 2005-11-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เสรี พงศ์พิศ, ผู้จัดการ, 4 พฤศจิกายน 2547
- ↑ 3.0 3.1 3.2 From Mao to Mozart : Isaac Stern in China (2) เก็บถาวร 2005-11-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เสรี พงศ์พิศ, ผู้จัดการ, 11 พฤศจิกายน 2547
- ↑ "Jian Wang: An Extraordinary Journey". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-01-02. สืบค้นเมื่อ 2010-12-31.
- ↑ "Vera Tsu". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-11-12. สืบค้นเมื่อ 2010-12-31.
- ↑ http://www.pianocompetition.kz/index.php?id=55
- ↑ "NY Times: From Mao to Mozart: Isaac Stern in China". NY Times. สืบค้นเมื่อ 2008-11-26.
- ↑ "Festival de Cannes: From Mao to Mozart: Isaac Stern in China". festival-cannes.com. สืบค้นเมื่อ 2009-06-07.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- From Mao to Mozart ที่อินเทอร์เน็ตมูวีเดตาเบส
- From Mao to Mozart full version viewable on YouTube.