จอห์น บราวน์
จอห์น บราวน์ | |
---|---|
เกิด | 9 พฤษภาคม ค.ศ. 1800 |
เสียชีวิต | 2 ธันวาคม ค.ศ. 1859 |
สุสาน | หลุมฝังศพ "จอห์น บราวน์ ฟาร์ม" |
บุตร | 20 คน |
จอห์น บราวน์ (อังกฤษ: John Brown) (9 พฤษภาคม พ.ศ. 2343 - 2 ธันวาคม พ.ศ. 2402) เป็นนักต่อสู้เพื่อการเลิกทาสชาวอเมริกัน ผู้ซึ่งได้สนับสนุนและลงมือก่อการกบฏ โดยใช้ความรุนแรงและอาวุธ เป็นหนทางเพื่อหยุดยั้งภาวะทาสที่เกิดขึ้นในสมัยของเขา จอห์น บราวน์ยังเป็นผู้นำการสังหารหมู่ที่ห้วยพอตตาวาโทมี่ (Pottawatomie Massacre) ในปี พ.ศ. 2399 ที่เขตแฟรงคลิน (Franklin County) รัฐแคนซัส อันเป็นหนึ่งในหลายๆ การต่อสู้ระหว่างฝ่ายมีทาสกับฝ่ายเลิกทาสในแคนซัส ที่เรียกรวมกันว่าแคนซัสนองเลือด (Bleeding Kansas) และมีชื่อจากการบุกโจมตีที่ไม่ประสบความสำเร็จ ที่ฮาร์เปอร์ เฟอรรี่ (Harpers Ferry) ในปี พ.ศ. 2402
แม้ประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น ได้ประณาม จอห์น บราวน์ ว่าเป็น "คนบ้าคลั่งหลงผิด" แต่นายบราวน์ได้รับการขนานนามเป็นหนึ่งใน "คนอเมริกันในศตวรรษที่ 19 ที่เป็นที่โต้แย้งอย่างมากที่สุด" [1]ความพยายามของเขาที่จะสร้างขบวนการปลดแอกทาสแอฟริกันในปี 2402 ที่ ฮาร์เปอร์ เฟอรรี่ รัฐเวอร์จิเนีย ทำให้คนทั้งประเทศอเมริกาในขณะนั้นตะลึง เขาถูกนำไปขึ้นศาลด้วยข้อหากระทำการกบฏต่อรัฐ เวอร์จิเนีย กระทำการฆาตกรรมชาวใต้ 5 คนที่เห็นด้วยกับการมีทาส และกระทำการปลุกระดมให้เหล่าทาสกบฏแข็งข้อ และในท้ายที่สุด เขาถูกตัดสินโทษด้วยการแขวนคอ โดยที่กลุ่มชาวใต้ของอเมริกาซึ่งสนับสนุนการมีทาสอ้างว่า การกบฏของเขานั้นเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเลิกทาสและเป็นสิ่งที่พรรครีพับลิกัน (Republican Party) ต้องการ นักประวัติศาสตร์เห็นด้วยว่า การโจมตี ฮาร์เปอร์ เฟอรรี่ ในปี 2402 นั้น เป็นจุดเริ่มที่ขยายผลไปสู่สงครามกลางเมืองอเมริกา (American Civil War) ในปีถัดมา
นายบราวน์เริ่มเป็นที่รู้จักทั่วไปเมื่อเขานำกลุ่มอาสาสมัครกลุ่มเล็กจำนวนหนึ่งเข้าร่วมต่อสู้ในวิกฤตการณ์แคนซัสนองเลือด เขาแตกต่างไปจากชาวเหนืออื่นๆ ซึ่งในขณะนั้นเพียงแค่ต่อต้าน กลุ่มนิยมการมีทาสอย่างสงบ นายบราวน์เรียกร้องให้ใช้ความรุนแรง เพื่อตอบโต้กลุ่มนิยมการมีทาสในทางใต้ของอเมริกา และเนื่องจากความไม่พอใจต่อแนวทางสันติของกลุ่มสนับสนุนการเลิกทาสในขณะนั้น มีคนได้ยินเขาประกาศว่า "คนพวกนี้ดีแต่พูด สิ่งที่เราต้องคือการกระทำจริงๆ - ทำจริงๆ!" [2] และที่แคนซัสนี้เอง นายบราวน์และพวกได้ฆ่ากลุ่มชาวใต้ที่นิยมการมีทาส ที่เป็นที่รู้จักกันในชื่อ การสังหารหมู่พอตตาวาโทมี่ ในเดือน พฤษภาคม 2399 เพื่อตอบโต้การโจมตีโรงแรมและหนังสือพิมพ์ของพวกนิยมการมีทาสที่ เมือง ลอว์เรนซ์ ซึ่งเป็นเมืองศูนย์กลางอุดมการณ์เลิกทาสในขณะนั้น และต่อมาในปี 2402 นายบราวน์ได้นำพวกเข้าบุกคลังแสง ที่ฮาร์เปอร์ เฟอรรี่ รัฐ เวอร์จิเนีย ที่เป็นที่รู้จักกันในปัจจุบันว่าคือ เวสต์เวอร์จิเนีย (West Virginia) นั่นเอง ในการโจมตีครั้งนี้ เขาได้ยึดอาวุธของรัฐบาล คน 7 คนซึ่งรวมถึงคนดำที่เป็นไท 1 คนด้วย เสียชีวิต และมีผู้บาดเจ็บอย่างน้อย ๆ 10 คน อย่างไรก็ตาม การบุกโจมตีครั้งนี้ประสบความล้มเหลว ภายในเวลา 36 ชั่วโมง คนของนายบราวน์ได้หลบหนี ถูกฆ่า หรือถูกจับโดยชาวไร่ท้องถิ่น ทหารอาสา และนาวิกโยธินสหรัฐ ภายใต้การนำของพันเอก (ยศในขณะนั้น) โรเบิร์ต อี. ลี ผู้ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นแม่ทัพของฝ่ายสมาพันธรัฐอเมริกา (ฝ่ายใต้) สุดท้ายนายบราวน์โดนจับโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ ถูกนำไปขึ้นศาลในข้อหากบฏต่อรัฐเวอร์จิเนีย และได้รับโทษแขวนคอที่เมือง ชาร์ลสทาวน์ รัฐเวอร์จิเนีย ซึ่งเหตุการณ์นี้ถือเป็นตัวเร่งที่สำคัญที่ทำให้เกิดสงครามกลางเมืองใน 16 เดือนถัดมา
ช่วงเวลาที่นายบราวน์โดนแขวนคอสำหรับความพยายามก่อการกบฏเลิกทาสในปี 2402 โบสถ์ได้ตีระฆัง มีการยิงปืนใหญ่สดุดีเกียรติ และมีพิธีรำลึกถึงเขาทั่วเขตเหนือของประเทศ นักเขียนชื่อดัง เช่น อีเมอร์สัน และ ธอร์โรได้ร่วมกับชาวเหนือจำนวนมากในการสดุดีนายบราวน์ [3]
นักประวัติศาสตร์เห็นพ้องกันว่า จอห์น บราวน์มีบทบาทมากในการจุดชนวนสงครามกลางเมืองอเมริกา [4] ตัวเขา การกระทำ และกลยุทธ์ต่างๆของเขาในช่วงก่อนสงครามกลางเมืองในฐานะนักต่อสู้เพื่อการเลิกทาสนั้น ทำให้เขาเป็นคนที่ถูกถกเถียงมากมาจนถึงปัจจุบัน บางครั้ง จอห์น บราวน์ถูกมองว่าเป็นวีรบุรุษผู้ยอมตายเพื่อความเชื่อของตนและเป็นผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล และบางครั้งคนก็มองว่า นายบราวน์เป็น คนบ้า และผู้ก่อการร้าย ตัวอย่างเช่น นักเขียนคนหนึ่งชื่อ บรูซ โอลดส์ บอกว่าเขาเป็นพวกบ้าคลั่งที่มีอาการทางจิต นักเขียนอีกคน ชื่อ สตีเฟน บี โอตส์ ชมเชยนาย บราวน์ว่าเป็น ผู้หยั่งรู้ความจริงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคนั้น นาย เดวิด เอส เรย์โนลด์ส ยกย่องให้เขาเป็น "บุรุษผู้สังหารระบบทาส จุดชนวนสงครามกลางเมือง และเริ่มปลูกจิตสำนึกสิทธิมนุษยชน" นาย ริชาร์ด โอเวน บอยเออร์ กล่าวว่า นายบราวน์เป็น คนอเมริกันที่ยอมสละชีวิตของตัวเอง เพื่อที่คนอเมริกันอีกนับล้านจะได้เป็นไทแก่ตน และสำหรับ นาย เค็น ชาวเดอร์ เขามองว่าในแง่หนึ่ง จอห์น บราวน์ เป็น บุรุษผู้ยิ่งใหญ่ แต่ก็ถือว่าเขาเป็น บิดาแห่งการก่อการร้ายในอเมริกาด้วยเช่นกัน [5]
จอห์น บราวน์มีสมญาว่า โอซาวาโทมีบราวน์ โอลด์แมนบราวน์ กัปตันบราวน์ และโอลด์บราวน์แห่งแคนซัส ชื่ออื่นๆ ของเขายังรวมถึง เนลสัน ฮอว์กินส์ ชูเบล มอร์แกน และ ไอแซค สมิธ ภายหลัง เพลง "จอห์น บราวน์ส บอดี้" ซึ่งเป็นชื่อเดิมของ the Battle Hymn of the Republic ได้กลายมาเป็นเพลงมาร์ชสำหรับสงครามฝ่ายสหภาพ (ฝ่ายเหนือ) ในสงครามกลางเมืองอเมริกา
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Frederick J. Blue in American Historical Review (April 2006) v. 111 p 481-2.
- ↑ Rhodes, James Ford (1892). History of the United States from the Compromise of 1850. Original from Harvard University: Harper & Brothers. pp. 385.
- ↑ David Potter, The Impending Crisis, pages 378-379
- ↑ David Potter, The Impending Crisis, pages 356-384 - Potter said the emotional effect of Brown's raid was greater than the philosophical effect of the Lincoln-Douglas debates, and that his raid revealed a deep division between North and South.
- ↑ David S. Reynolds, John Brown, Abolitionist: The Man Who Killed Slavery, Sparked the Civil War, and Seeded Civil Rights (2005) ; Ken Chowder, "The Father of American Terrorism." American Heritage (2000) 51 (1) : 81