ข้ามไปเนื้อหา

ฆาตกรล่องหน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ฆาตกรล่องหน
การฆ่า
จำนวนผู้เสียหายถูกฆ่า 5 คน, บาดเจ็บ 3 คน
ห้วงเวลาฆ่า22 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1946–3 พฤษภาคม ค.ศ. 1946
ประเทศสหรัฐ
รัฐรัฐเท็กซัส (เท็กซาร์คานา)
วันถูกจับยังไม่ถูกจับกุม

ฆาตกรล่องหน (อังกฤษ: Phantom Killer) ภูตล่องหนแห่งเท็กซาร์คานา (อังกฤษ: Texarkana Phantom) หรือ ฆาตกรใต้เงาจันทร์ (อังกฤษ: Moonlight Killer) เป็นสมญาที่ตั้งให้แก่ฆาตกรต่อเนื่องนิรนามรายหนึ่ง ซึ่งเชื่อว่าเขาได้ฆ่าคนจำนวนหนึ่งในเขตมหานครเท็กซาร์คานา (อังกฤษ: Texarkana metropolitan area) สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2489 (ค.ศ. 1946) สำหรับสมญา "ฆาตกรใต้เงาจันทร์" นั้นมีที่มาจากการที่ฆาตกรรายนี้มักปฏิบัติการฆ่าในคืนวันเพ็ญ

การก่อการ

[แก้]

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2489 (ค.ศ. 1946) ขณะที่ จิมมี ฮอลลิส (อังกฤษ: Jimmy Hollis) ชายวัยยี่สิบสี่ปี และแมรี ชีน ลาเรย์ (อังกฤษ: Mary Jeanne Larey) เพื่อนสาววัยสิบเก้าปีของจิมมี กำลังกระจู๋กระจี๋กันสองต่อสองบนรถที่จอดบนถนนนอกเขตมหานครเท็กซาร์คานา ปรากฏชายนายหนึ่งพร้อมปืนพกจู่โจมเข้าหาและบังคับให้ทั้งสองลงจากรถ ก่อนเอาปืนหวดศีรษะจิมมีจนสลบ และลวนลามแมรี ก่อนหลบหนีไปเมื่อเห็นแสงไฟจากรถคันหนึ่งที่กำลังแล่นเข้ามาในบริเวณ คู่รักทั้งสองให้ปากคำว่า ชายที่เข้ามาทำร้ายนั้นมีความสูงของร่างกายประมาณหนึ่งร้อยแปดสิบเซนติเมตร (หกฟุต) และสวมหมวกไอ้โม่ง

ต่อมาในยามเย็นของวันที่ 23 มีนาคม ปีเดียวกันนั้น ริชาร์ด กริฟฟิน (อังกฤษ: Richard Griffin) ชายวัยยี่สิบเก้าปี และพอลลี แอน มัวร์ (อังกฤษ: Polly Ann Moore) เพื่อนสาววัยสิบเจ็ดปีของริชาร์ด ขับรถยนต์ออกไปกระหนุงกระหนิงกันตามแถบชนบท และเช้าวันพรุ่งก็ถูกพบเป็นศพพร้อมกันในรถยนต์ซึ่งหยุดอยู่บนถนนชานเมืองเท็กซาร์คานา โบวีเคาน์ตี (อังกฤษ: Bowie County) รัฐเท็กซัส ส่วนหนึ่งของเขตมหานครเท็กซาร์คานา คู่รักทั้งสองถูกปืนลูกโม่ขนาดจุดสามสองยิงเข้าด้านหลังศีรษะ มีการพบรอยเลือดซ่านกระเซ็นบนพื้นห่างจากที่รถยนต์จอดไปหกเมตร หนึ่งกิโลเมตร (ยี่สิบฟุต) เจ้าหน้าที่สันนิษฐานว่าพวกเขาทั้งสองถูกฆ่านอกรถและถูกจับยัดกลับเข้าไปใหม่

ครั้นค่ำวันที่ 13 เมษายน ปีนั้น พอล มาร์ทิน (อังกฤษ: Paul Martin) ชายวัยสิบเจ็บปี และเบตที โจ บุกเคอร์ (อังกฤษ: Betty Jo Booker) เพื่อนสาววัยสิบห้าปีของพอล ขับรถยนต์ไปเที่ยวกันที่สวนสาธารณะสปริงเลก (อังกฤษ: Spring Lake Park) เมืองเท็กซาร์คานา โบวีเคาน์ตี รัฐเท็กซัส พอเช้าวันพรุ่ง ทั้งสองถูกพบเป็นศพในสวนนั้น โดยร่างของพอลอยู่ห่างจากรถยนต์ไปราวสองกิโลเมตร (หนึ่งจุดห้าไมล์) ส่วนร่างของเบตทีกองอยู่ริมขอนไม้ห่างจากรถยนต์ไปราวสองกิโลเมตร ห้าสิบเซนติเมตร (สองไมล์) คู่รักทั้งสองถูกปืนยืงจนพรุน เจ้าหน้าที่ได้กระสุนปืนลูกโม่ขนาดจุดสามสองเป็นจำนวนมากจากศพ หนังสือพิมพ์เท็กซาร์คานากาแซต (อังกฤษ: Texarkana Gazette) พาดหัวข่าวใหญ่โตขนานนามฆาตกรว่า "ภูตล่องหน" (อังกฤษ: the Phantom)

ในช่วงนี้ ราษฎรชาวเขตมหานครเท็กซาร์คานาต่างประหวั่นพรั่นพรึงกันถ้วนหน้า บ้านเรือนหลายบ้านจัดหาปืนผาหน้าไม้มาประจำไว้ บ้างก็ปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้แข็งแกร่งขึ้น และบ้างก็ไม่กล้าออกไปนอกเคหสถานในยามวิกาลอีก ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งด่านตรวจเพิ่มขึ้นในถนนเปลี่ยวและย่านที่คู่รักมักไปกระจู๋กระจี๋กัน กับทั้งยังเตรียมรับมือหากฆาตกรจะเปลี่ยนแผนการฆาตกรรมด้วย

วันที่ 4 พฤษภาคม ปีนั้น ปรากฏชายผู้หนึ่งบุกเข้าไปในบ้านนาหลังหนึ่งห่างจากมิลเลอร์เคาน์ตี (อังกฤษ: Miller County) รัฐอาร์คันซอ ในเขตมหานครเท็กซาร์คานา ไปเกือบยี่สิบกิโลเมตร (สิบสองไมล์) เขาหยุดอยู่ภายนอกบ้านและใช้ปืนยิงผ่านหน้าต่างห้องนั่งเล่นเข้าไปต้องชายวัยสามสิบหกปีนาม เวอร์จิล สตากส์ (อังกฤษ: Virgil Starks) ถึงแก่ความตายทันที ฝ่ายเคที สตากส์ (อังกฤษ: Katy Starks) ภรรยาวัยสามสิบห้าปีของเวอร์จิล อยู่บนห้องนอนได้ยินเสียงกระจกแตกก็ลงมาดู ถูกชายไม่ประสงค์ดีรายนั้นยิงซ้ำสองนัดต้องใบหน้าและปากของเคที นางพยายามควบคุมสติอารมณ์วิ่งหนีออกจากบ้านไปขอความช่วยเหลือจากเพื่อนบ้าน ชายผู้นั้นจึงเข้าไปตามตัวถึงในบ้านแต่ไม่พบเนื่องจากเคทีได้ออกไปแล้ว ทิ้งแต่รอยเท้าเปื้อนโคลนไว้บนพื้น ครั้นเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจมาถึงที่เกิดเหตุคนร้ายก็จากไปแล้ว จากการทดสอบทางยุทโธปกรณ์พบว่ากระสุนที่ได้จากศพของเวอร์จิลหาใช่กระสุนปืนลูกโม่ขนาดจุดสามสองไม่ แต่เป็นกระสุนปืนพกกึ่งอัตโนมัติขนาดจุดสองสอง อย่างไรก็ดี เชื่อกันว่าฆาตกรในคราวนี้เป็นคนเดียวกับคราวก่อน ๆ

ถึงวันที่ 6 พฤษภาคม ปีเดียวกัน ชายผู้หนึ่งถูกพบเป็นศพบนรางรถไฟทางตอนเหนือของเมืองเท็กซาร์คานา โบวีเคาน์ตี รัฐเท็กซัส ซึ่งสื่อมวลชนบางสำนักว่าเป็นศพของ เอิร์ล แม็กสแป็ดเดน (อังกฤษ: Earl McSpadden) โดยรายงานว่าเอิร์ลคือฆาตกรที่ได้รับสมญาว่า "ภูตล่องหน" และเขาฆ่าตัวตายในวันนั้น อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ชันสูตรศพรายงานในวันถัดมาว่า เอิร์ลถูกอาวุธมีคมแทงจนตาย ก่อนศพของเขาจะถูกลากมาวางบนรางรถไฟ ทำให้เชื่อกันอีกว่าเอิร์ลก็เป็นผู้เคราะห์ร้ายอีกรายหนึ่งในกรณีฆาตกรรมต่อเนื่องครั้งนี้

ผู้ต้องสงสัยรายใหญ่

[แก้]

ชายวัยยี่สิบเก้าปีนาม ยูเอบ สวินนีย์ (อังกฤษ: Youell Swinney) ซึ่งเป็นขโมยรถ และมีประวัติเคยทำของปลอม โจรกรรม และทำร้ายร่างกาย ถูกจับกุมตัวในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2489 (ค.ศ. 1946) ที่เขตมหานครเท็กซาร์คานา พร้อมด้วยภรรยาของเขา ภรรยาของยูเอลแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าสามีของตนคือฆาตกรที่ได้รับสมญาว่า "ภูตล่องหน" และเธอก็ได้ร่วมก่อการพร้อมกับสามีทุกครั้งด้วย แต่ปากคำที่นางให้การเกี่ยวกับฆาตกรรมนั้นมีข้อพิรุธเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงเติมแต่งไปเรื่อย ๆ จนที่สุดเจ้าหน้าที่ตำรวจลงความเห็นว่านางเป็นพยานที่รับฟังมิได้ ฝ่ายยูแอลนั้นถูกสอบปากคำโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจในเมืองเมืองเท็กซาร์คานา โบวีเคาน์ตี รัฐเท็กซัส แล้วยังถูกสอบอีกที่นครลิตเทิลรอก (อังกฤษ: Little Rock) รัฐอาร์คันซอ และในปีถัดมา เขาถูกศาลพิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิต ฐานขโมยรถยนต์และกระทำความผิดหลายกรรมหลายวาระ

กระทั่ง พ.ศ. 2513 (ค.ศ. 1970) ยูแอลขออุทธรณ์คดีของเขา โดยอ้างว่าเขาควรได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระเสีย เพราะในการพิจารณาคดีของเขาเมื่อ พ.ศ. 2490 (ค.ศ. 1947) นั้นไม่มีการจัดหาทนายความมาให้เขา ซึ่งศาลพิพากษาให้ปล่อยตัวเขาใน พ.ศ. 2517 (ค.ศ. 1974) เมื่อพิสูจน์พบว่าเขาไม่มีความผิดตามข้อกล่าวหา และยูแอลถึงแก่ชีวิตใน พ.ศ. 2537 (ค.ศ. 1994) [1]

นับว่ายูแอล สวินนีย์ เป็นผู้ต้องสงสัยรายใหญ่รายเดียวสำหรับคดีฆาตกรรมต่อเนื่องโดยฆาตกรล่องหน แต่คดีดังกล่าวก็ยังมิได้ข้อสรุปมาจนบัดนี้

ในวัฒนธรรมสมัยนิยม

[แก้]

ในหนังสือ "เคอร์รอเบอเรทิงเอวิเดินซ์" (อังกฤษ: Corroborating Evidence) เล่มสอง เขียนโดยวิลเลียม ที. ราสมูสเซน (อังกฤษ: William T. Rasmussen) และวางจำหน่ายครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2549 (ค.ศ. 2006) ได้นำเสนอความคล้ายกันระหว่างกรณีของฆาตกรล่องหนในเขตมหานครเท็กซาร์คานา กับกรณีของนักฆ่าจักรราศีในรัฐแคลิฟอร์เนีย

ใน พ.ศ. 2520 (ค.ศ. 1977) บริษัทอแมริกันอินเทอร์แนเชินนัลพิกเชอส์ (อังกฤษ: American International Pictures) จัดสร้างภาพยนตร์เรื่อง "เดอะทาวน์แดตเดรดเดดซันดาวน์" (อังกฤษ: The Town That Dreaded Sundown) เป็นภาพยนตร์เกี่ยวกับเหตุการณ์ฆาตกรรมครั้งนี้

เพลง "เท็กซาร์คานามูนไลต์" (อังกฤษ: Texarkana Moonlight) ของวงดนตรี "เดอะแบดดีเทกทีฟส์" (อังกฤษ: the Bad Detectives) มีเนื้อหาเกี่ยวกับเหตุการณ์ฆาตกรรมครั้งนี้

อ้างอิง

[แก้]
  1. Ancestry.com. Texas Death Index, 1903-2000 [database on-line]. Provo, UT, USA: The Generations Network, Inc., 2006.