ข้ามไปเนื้อหา

ควิกไทม์อีเวนต์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
รูปแบบจำลองของการนำเสนอควิกไทม์อีเวนต์ในวิดีโอเกม โดยให้กดปุ่ม "X" ภายในเวลาที่กำหนด ผู้เล่นคือตัวละครที่อยู่ด้านขวาที่จะต้องหลบไม่ให้ลูกบอลชน

ในวิดีโอเกม ควิกไทม์อีเวนต์ (อังกฤษ: Quick time event) หรือ คิวทีอี (QTE) เป็นวิธีหนึ่งในบริบทของเกมการเล่นที่ผู้เล่นจะต้องกระทำการใด ๆ เพื่อที่จะควบคุมสิ่งนั้น ๆ ในเวลาสั้น ๆ หลังจากที่มีการปรากฏปุ่มหรือคำแนะนำอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะมีระยะเวลาจำกัดในการกระทำสิ่งนั้น ๆ มันจะอาจจะช่วยจำกัดการควบคุมของตัวละครในขณะคัตซีน (Cutscene) หรือลำดับในเกม ถ้าการกระทำการกดปุ่มนั้นติดขัดหรือไม่ได้เป็นไปตามที่เกมกำหนด มันก็มักจะจบลงด้วยการจบเกมทันที

คำว่า "ควิกไทม์อีเวนต์" ถูกนิยามโดย ยู ซูซูกิ (Yu Suzuki) ผู้กำกับเกมเชนมู (Shenmue) ซึ่งมีการใช้ระบบคิวทีอีเป็นส่วนประกอบหลักในเกม โดยมากแล้วจะเป็นการให้ผู้เล่นกดปุ่ม หรือบังคับปุ่มควบคุมทิศทาง ตามที่ปรากฏออกมาขณะนั้น ๆ ในเกมยุคหลัง ๆ มักจะมีระบบคิวทีอีเข้ามาร่วมเพื่อให้ผู้เล่นกดปุ่มเพื่อใช้การกระทำพิเศษตามแต่ละสถานการณ์ ซึ่งมักจะแสดงภาพกราฟิกของปุ่มบนคอนโทรลเลอร์ประจำเครื่องเกมของเกมนั้น ๆ เช่น เกมสำหรับเครื่องเพลย์สเตชันอาจแสดงภาพสัญลักษณ์ 4 แบบบนคอนโทรลเลอร์ (เอกซ์, โอ, สี่เหลี่ยมและสามเหลี่ยม) ในขณะที่เครื่องเอกซ์บอกซ์ จะใช้สัญลักษณ์ปุ่ม A, B, X และ Y แทน

ผู้ออกแบบเกมมักจะใช้คิวทีอีสำหรับแสดงท่าทางหรือการเคลื่อนไหวที่ซับซ้อนของตัวเอกในสถานการณ์พิเศษนั้น ๆ โดยผู้เล่นกดปุ่มเพียง 1-2 ปุ่ม เช่นในขณะที่ผู้เล่นต่อสู้กับศัตรู ระบบคิวทีอีจะปรากฏออกมาเพื่อให้ผู้เล่นได้ใช้ 'ท่าไม้ตายปิดท้าย' จัดการกับศัตรูในครั้งเดียว นอกจากนี้ยังนิยมใส่ระบบคิวทีอีมาในระหว่างคัทซีนของเกม ให้ผู้เล่นได้รู้สึกกดดันไปพร้อม ๆ กับตัวละครในเกมด้วย

แม้ว่าระบบคิวทีอีจะได้รับความนิยมในแง่ของฟังก์ชันพิเศษสำหรับตัวเกม แต่ผู้เล่นบางกลุ่มก็วิพากษ์วิจารณ์ว่าระบบนี้บางครั้งก็น่ารำคาญ[ต้องการอ้างอิง] เนื่องจากบางครั้งจังหวะการกดปุ่มปรากฏออกมาโดยไม่ทันตั้งตัว หรือกดปุ่มไม่ทันในเวลาที่กำหนด เป็นเหตุให้เกมโอเวอร์ และต้องกลับมาเล่นซ้ำแล้วซ้ำอีกจนกว่าจะกดได้ถูก ซึ่งทำให้การเล่นเกมขาดความต่อเนื่อง หรือจำกัดเวลาผู้เล่นที่ใช้ในการดำเนินการในช่วงเวลาที่สำคัญ