ครูครับ เราจะสู้เพื่อฝัน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ครูครับ เราจะสู้เพื่อฝัน
โปสเตอร์ภาพยนตร์
กำกับปีเตอร์ เวียร์
เขียนบทพอล ชูลมาน
อำนวยการสร้างพอล จังเกอร์ วิทท์
โทนี ธอมัส
นักแสดงนำโรบิน วิลเลียมส์
โรเบิร์ต ชอน เลโอนาร์ด
อีธาน ฮอว์ค
จอช ชาร์ลส์
เกล แฮนเซน
เจมส์ วอเทอร์สตัน
นอร์แมน ลอยด์
เมโลรา วอลเทอร์ส
ตัดต่อวิลเลียม เอ็ม. แอนเดอร์สัน
ดนตรีประกอบมัวริซ จาร์
ผู้จัดจำหน่ายทัชสโตนพิคเจอร์ส
วันฉายพ.ศ. 2532
ความยาว128 นาที
ประเทศสหรัฐอเมริกา
ภาษาอังกฤษ
ทุนสร้าง$16,400,400
ข้อมูลจาก IMDb
ข้อมูลจากสยามโซน

ครูครับ เราจะสู้เพื่อฝัน (อังกฤษ: Dead Poets Society) เป็นภาพยนตร์อเมริกันปี พ.ศ. 2532 (1989) กำกับโดยปีเตอร์ เวียร์ เนื้อเรื่องเกี่ยวกับชีวิตของนักเรียนในโรงเรียนเตรียมสำหรับชายล้วนที่เข้มงวดและมีแนวคิดแบบอนุรักษนิยม ในปี 1959 (พ.ศ. 2502) โดยเล่าเรื่องราวของอาจารย์สอนภาษาอังกฤษ ที่เป็นแรงบันดาลใจให้นักเรียนเปลี่ยนแปลงแนวทางชีวิตที่ตอบสนองความต้องการของสังคม มากกว่าความต้องการของตัวเอง ผ่านการสอนวรรณกรรมและบทกวี

พื้นเพของเรื่องนั้นเกิดขึ้นที่วิทยาลัยเวลตัน (ที่สมมติขึ้น) ในเมืองเวอร์มอนต์ และภาพยนตร์ถ่ายทำกันที่โรงเรียนเซนต์แอนดรูว์ เมืองมิดเดิลทาว์น รัฐเดลาแวร์ โดยบทภาพยนตร์มีเค้าโครงมาจากชีวิตของผู้แต่งขณะที่กำลังศึกษาอยู่ที่วิทยาลัยมอนต์โกเมอรีเบลล์ ซึ่งเป็นโรงเรียนเตรียมสำหรับชายล้วนในเมืองแนชวิลล์ รัฐเทนเนสซี ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังถูกนำไปทำเป็นนวนิยายโดยแนนซี เอช. ไคลน์บอม โดยมีเค้าโครงมาจากบทภาพยนตร์

เค้าโครงเรื่อง[แก้]

นีล เพอร์รี่ (โรเบิร์ต ชอน เลโอนาร์ด), ทอดด์ แอนเดอร์สัน (อีธาน ฮอว์ค), น็อกซ์ โอเวอร์สตรีท (จอช ชาร์ลส์), ชาร์ลี ดาลตัน (เกล แฮนเซน), ริชาร์ด แคเมรอน (ดีแลน คุสแมน), สตีเวน มีคส์ (อัลเลลอน รัจเจียร์โร) และเจราร์ด พิตส์ (เจมส์ วอเทอร์สตัน) คือนักเรียนชายทั้งเจ็ด ที่ศึกษาอยู่ในวิทยาลัยเวลตัน โรงเรียนเตรียมที่มีชื่อเสียง ซึ่งมีรากฐานอยู่บนหลักการสี่ข้อคือ จารีต, เกียรติ, วินัย และความเป็นเลิศ

ในวันแรกของปีการศึกษานั้น พวกเขาต้องเผชิญกับแผนการเรียนที่หนัก แต่เมื่อพวกเขาเข้าชั้นเรียนวิชาภาษาอังกฤษ ก็ได้พบกับอาจารย์จอห์น คีทติง (โรบิน วิลเลียมส์) ที่มีรูปแบบการสอนที่ไม่เหมือนกับอาจารย์คนอื่นๆ ในโรงเรียน อย่างเช่นการอนุญาตให้นักเรียนเรียกเขาว่า "O Captain! My Captain!" (ตามบทกวีของวอล์ม วิทแมนที่พรรณนาเกี่ยวกับอับราฮัม ลิงคอล์น) ถ้าพวกเขากล้าพอ นอกจากนี้เขายังทำสิ่งที่อาจารย์คนอื่นไม่เคยทำมาก่อน คือการพานักเรียนออกไปนอกชั้นเรียน เพื่อเรียนรู้ความหมายและแนวคิดของวลีละติน "carpe diem" (คาร์เปเดียม" เมื่อแปลความหมายตามบริบทหมายความว่า "ใช้ชีวิตให้เต็มที่") โดยพานักเรียนไปที่ห้องถ้วยรางวัลเพื่อดูรูปศิษย์เก่าของเวลตัน

ในคาบต่อมา อ.คีทติงให้นีลอ่านบทนำในตำราเรียนกวีของนักเรียน ซึ่งมีลักษณะเป็นเรียงความที่ราบเรียบ และไร้สีสันที่มีชื่อว่า "Understanding Poetry" ("เข้าใจในบทกวี") ซึ่งถูกประพันธ์ขึ้นโดย ดร. เจ อีแวนส์ พริทชาร์ด (ตัวละครสมมติขึ้น) ที่อธิบายว่าคุณภาพของงานกวีนั้นวัดได้โดยใช้หลักเกณฑ์มาพิจารณาเป็นคะแนน ซึ่งคีทติงมองว่าความคิดในการวิจารณ์วรรณกรรมโดยใช้มาตรทางคณิตศาสตร์เป็นความคิดที่เหลวไหล และสนับสนุนให้ลูกศิษย์ของเขาฉีกบทความนั้นออกจากตำราของพวกเขา นักเรียนของเขาลังเลที่จะทำตามในตอนแรก แต่ในที่สุดพวกเขาก็ฉีกเรียงความเหล่านั้นออกจากตำราด้วยความยินดี พร้อมๆ กับคีทติงที่ให้คำชมกับลูกศิษย์ที่ทำเช่นนั้น ซึ่งสร้างความประหลาดใจอย่างไม่เชื่อสายตาให้กับเพื่อนร่วมงานของคีทติงที่บังเอิญไปพบเห็น ในคาบเรียนต่อมา อ.คีทติงก็ให้นักเรียนของเขายืนบนโต๊ะของตัวเอง เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าให้มองโลกในมุมมองที่ต่างออกไป อย่างที่เฮนรี เดวิด ตูโรตั้งใจไว้เมื่อเขาเขียนไว้ว่า "จักรวาลนั้นกว้างใหญ่กว่าทัศนคติของเราที่มีต่อมัน" (ในวรรณกรรม Walden ที่ประพันธ์จากการจำศีลในป่าของตูโรเอง)

นีลได้ถามอ.คีทติ้งว่า ชมรมกวีไร้ชีพ (Dead Poets Society) คืออะไรหลังจากที่เขาได้ไปเจอหนังสือรุ่นของอ.เข้า และเล่าจุดประสงค์การก่อตั้งที่สุดแล้ว บรรดาลูกศิษย์ของคีทติงก็ตระหนักได้ว่า ผู้ใหญ่ควรที่เป็นผู้ชี้แนะแนวทางให้แก่เด็กๆ แต่การที่เด็กจะค้นหาตัวตนที่แท้จริงนั้น ต้องเข้าไปหาในจิตใจของตัวเองเท่านั้น จากความจริงข้อนั้น ทำให้เด็กๆ ตั้งชมรมวรรณกรรมที่คีทติงเคยเป็นสมาชิกขึ้นมาใหม่อย่างลับๆ โดยชมรมนั้นมีชื่อว่าชมรมกวีไร้ชีพ (Dead Poets Society) ทอดด์ก็ประสบกับการค้นพบตัวเองเช่นกัน หลังจากที่เขาไม่สามารถเขียนงานที่มีความคิดสร้างสรรค์ได้ อาจารย์ก็พาเขาเข้าสู่โลกแห่งวรรณกรรมที่ๆ การแสดงความคิดนั้นไม่มีกรอบล้อมรอบ ส่งผลให้เขาตระหนักถึงความสามารถที่เขามีในที่สุด แต่ดาลตัน หนึ่งในบรรดาลูกศิษย์ของคีทติง คิดแบบนอกกรอบเกินไปเมื่อเขาเผยแพร่บทความสนับสนุนให้เวลตันมีผู้หญิงเรียนด้วย โดยที่บทความนั้นสื่อถึงเหตุผลของการเปลี่ยนระบบว่า เพื่อที่นักเรียนชายจะได้มีความสุขจากผู้หญิงที่เข้ามาเรียนด้วย ซึ่งเมื่อทางคณาจารย์รู้เข้า ก็นำดาลตันไปทำโทษ (ด้วยการตี) และสอบสวน โดยดาลตันสารภาพและบอกว่าเขาทำคนเดียว

กระบวนการคิดแบบไร้กรอบนี้สร้างปัญหาให้กับนีล อีกหนึ่งคนในบรรดานักเรียน โดยเขาตัดสินใจที่จะเลือกสายอาชีพการแสดง ที่เขามีความสามารถและใจรัก แต่พ่อที่มีนิสัยเข้มงวดของนีล (เคิร์ทวูด สมิธ) นั้น อยากให้เขาประกอบวิชาชีพแพทย์มากกว่า คีทติงโน้มน้าวให้นีลไปบอกพ่อของเขาว่าเขารู้สึกอย่างไรก่อนที่จะแสดงในละครเวทีเรื่องฝัน ณ คืนกลางฤดูร้อน (Midsummer Night's Dream ประพันธ์โดยวิลเลียม เชกสเปียร์) ที่นีลแสดงเป็นพัค แต่นีลไม่กล้าที่จะไปบอกพ่อ จึงโกหกคีทติงไป โดยบอกว่าพ่อเขาไม่พอใจที่เขาจะไปแสดง แต่ก็ไม่ได้ห้ามตราบที่เขายังคงรักษาผลการเรียนดีไว้ได้ แต่ในที่สุด พ่อของนีลก็รู้ความจริงเข้า และแม้ว่าจะได้เห็นการแสดงของนีล พ่อของเขาก็ยังไม่ประทับใจและพานีลกลับบ้านแทนที่จะให้เขาได้ไปอยู่กับเพื่อนๆ

พ่อของนีลโกรธมากที่ลูกของเขาแสดงความขัดขืนต่อความต้องการของเขาอย่างชัดเจน เขาจึงจับลูกให้ลาออกจากเวลตันแล้วให้เขาเข้าไปเรียนในโรงเรียนเตรียมทหารเบรเดน เพื่อเตรียมความพร้อมให้นีลเข้าไปศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เพื่อประกอบวิชาชีพแพทย์ต่อไป เมื่อสำเร็๋จการศึกษา ในขณะที่นีลไม่สามารถทำใจกับเส้นทางที่พ่อเลือกให้เขาเดิน แต่ก็ไม่สามารถบอกความปรารถนาที่จะแสดงให้พ่อเขารู้ได้ ในที่สุดเขาจึงตัดสินใจฆ่าตัวตายโดยใช้ปืนลูกโม่ของพ่อ

ผลจากการฆ่าตัวตายของนีลทำให้อาจารย์ใหญ่ของเวลตัน โนแลนเริ่มการสอบสวนเพื่อหาสาเหตุของโศกนาฏกรรมครั้งนี้ ทำให้นักเรียนทุกคน ยกเว้นทอดด์ สารภาพว่า อ.คีทติงได้สอนอะไรพวกเขาไป แต่ท้ายที่สุดแล้ว เมื่อทอดด์โดนพ่อของเขาบังคับให้เซ็นชื่อลงไปในใบสารภาพว่าคีทติงเป็นคนผิด โดยถูกกล่าวหาว่าเป็นต้นเหตุให้เด็กๆ ชุบชีวิตชมรมกวีไร้ชีพขึ้นมาอีกครั้ง และถูกไล่ออกแม้ว่าพวกเด็กๆ จะเป็นคนริเริ่มเองก็ตาม

ในบทสรุปของภาพยนตร์ เด็กๆ กลับเข้าไปเรียนในชั้นเรียนภาษาอังกฤษ ที่มีโนแลน เป็นอาจารย์ชั่วคราว สอนแทนคีทติงที่ถูกไล่ออกไปแล้ว เขาให้นักเรียนอ่านเรียงความของพริทชาร์ดที่คีทติงบอกให้นักเรียนของเขาฉีกออกตั้งแต่ต้นเทอม ในขณะที่ชั้นเรียนดำเนินไปอย่างเอื่อยเฉื่อย คีทติงเข้ามาในห้องเพื่อเก็บของส่วนตัวออกไป ก่อนที่เขากำลังจะออกไปจากห้อง ทอดด์ได้กล่าวขอโทษที่ได้เซ็นใบสารภาพไป และบอกว่าที่ทำเช่นนั้น ก็เพราะโดนทางคณาจารย์บังคับ คีทติงจึงตอบไปว่าตนรู้เรื่องนี้อยู่แล้ว โนแลนเข้าขัดการสนทนาด้วยการสั่งให้ทอดด์นั่งลง และขอให้คีทติงออกไปทันที แต่เมื่อเขากำลังจะเดินออกไป เขาก็ชะงักเมื่อได้ยินทอดด์ตะโกนออกมาว่า "O Captain! My Captain!" แล้วก็ขึ้นมายืนบนโต๊ะ ตามคำที่คีทติงเคยสอนเขาให้มองโลกในมุมที่หลากหลาย

เมื่อเห็นเช่นนั้น โนแลนจึงโกรธเกรี้ยว แล้วสั่งทอดด์ให้นั่งลงและขู่ว่าจะไล่เขาออกถ้าเขาไม่ทำตาม แต่กลับมีนักเรียนที่ทำตามทอดด์เพิ่มขึ้นทีละคนๆ แต่ละคนก็เรียกคีทติงว่า "O Captain! My Captain!" ซึ่งแคเมรอนและนักเรียนอีกจำนวนเกือบครึ่งหนึ่งที่ไม่ทำตาม คีทติงเห็นจากสายตาลูกศิษย์ว่าในที่สุดสิ่งที่เขาต้องการสอนผ่านวรรณกรรมและบทกวี ได้เข้าไปอยู่ในใจของลูกศิษย์แล้ว คีทติงจึงกล่าวขอบคุณกับนักเรียนของเขาทั้งน้ำตา แล้วจึงเดินออกจากห้องไปเพื่อไม่ให้นักเรียนต้องเดือดร้อน

คำวิจารณ์และผลตอบรับ[แก้]

ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการวิจารณ์ในแง่บวก โดยนักวิจารณ์ชมว่าเนื้อเรื่องสามารถสื่อความหมายได้อย่างมีชีวิตชีวา และความลึกของตัวละครหลายๆ ตัว รวมถึงความสามารถในการแสดงของโรบิน วิลเลียมส์ แต่ก็มีคำวิจารณ์ในแง่ลบที่กล่าวว่าตอนจบของเรื่องนั้น มีความเป็นไปได้สูง ที่จะมีคนทำสิ่งที่แหกกฎเกณฑ์ไม่พร้อมเพรียงกันและแบ่งเป็นสองข้างเสมอ

Dead Poets Society ชนะรางวัลอะคาเดมีอวอร์ดสสาขาบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และโรบิน วิลเลียมส์ได้รับการเสนอเข้าชิงสาขาดารานำชายยอดเยี่ยม อีกทั้งยังได้การเสนอเข้าชิงสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม และภาพยนตร์ยอดเยี่ยมอีกด้วย นอกจากรางวัลออสการ์แล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังชนะรางวัลบาฟตาสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ซึ่งถือเป็นภาพยนตร์จากทัชสโตนพิคเจอร์สเรื่องแรกที่ได้รับการเสนอเข้าชิงรางวัลในสาขานี้

อ้างอิง[แก้]