ข้ามไปเนื้อหา

ข้อต่อกลีโนฮิวเมอรัล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ข้อต่อกลีโนฮิวเมอรัล
(Glenohumeral joint)
ข้อต่อกลีโนฮิวเมอรัลของไหล่ข้างขวา
รายละเอียด
ตัวระบุ
ภาษาละตินarticulatio humeri
MeSHD012785
TA98A03.5.08.001
TA21764
FMA25912
อภิธานศัพท์กายวิภาคศาสตร์

ข้อต่อกลีโนฮิวเมอรัล (อังกฤษ: Glenohumeral joint) หรือข้อต่อไหล่ (อังกฤษ: Shoulder joint) เป็นข้อต่อที่สำคัญที่สุดของบริเวณไหล่ และเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเคลื่อนไหวของต้นแขน ข้อต่อนี้เป็นข้อต่อซินโนเวียล (Synovial joint) ชนิดเบ้า (ball and socket) โดยมีแอ่งกลีนอยด์ (glenoid fossa) ของกระดูกสะบัก ทำหน้าที่เป็นเบ้ารองรับส่วนหัวของกระดูกต้นแขน และยังมีโครงสร้างของเอ็นรอบกระดูกและกล้ามเนื้อกลุ่มโรเตเตอร์ คัฟฟ์ (rotator cuff muscles) คอยค้ำจุน ข้อต่อนี้จึงเป็นข้อต่อที่มีอิสระในการเคลื่อนไหวมากที่สุดในร่างกายมนุษย์


โครงสร้างของข้อต่อ

[แก้]

แคปซูลข้อต่อ

[แก้]

ข้อต่อกลีโนฮิวเมอรัลมีโครงสร้างของแคปซูลข้อต่อคล้ายกับข้อต่อชนิดอื่นๆ กล่าวคือมีชั้นของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันชั้นนอก ส่วนชั้นในจะบุด้วยเยื่อซินโนเวียล (synovial membrane) ที่สร้างซินโนเวียล ฟลูอิด (synovial fluid) ที่ช่วยในการเคลื่อนไหวของข้อต่อ นอกจากนี้โดยรอบของแอ่งกลีนอยด์ จะนูนขึ้นมาเป็นขอบของกระดูกอ่อน ซึ่งเรียกว่า กลีนอยด์ ลาบรัม (glenoid labrum) ขอบนี้จะช่วยลดการเสียดสีระหว่างพื้นผิวของกระดูก ทำให้การเคลื่อนไหวของข้อต่อเป็นไปอย่างราบรื่น นอกจากนี้ในแคปซูลข้อต่อยังมีเอ็นจากปลายด้านยาวของกล้ามเนื้อไบเซ็ปส์ เบรกิไอ (long head of biceps brachii) พาดขึ้นมาเพื่อไปเกาะที่ปุ่มเหนือแอ่งกลีนอยด์ (supraglenoid tubercle) บนกระดูกสะบัก รอบเอ็นดังกล่าวก็จะมีปลอกหุ้มเอ็น (tendon sheath) ซึ่งเป็นเยื่อซินโนเวียลรอบเอ็นที่ช่วยลดแรงเสียดทานจากการเคลื่อนไหวของเอ็นภายในแคปซูลข้อต่อ

เอ็นรอบข้อต่อ

[แก้]
เอ็นรอบข้อต่อกลีโนฮิวเมอรัล

เนื่องจากข้อต่อกลีโนฮิวเมอรัลมีลักษณะของแคปซูลข้อต่อที่ค่อนข้างหลวม ประกอบกับเป็นข้อต่อที่มีการเคลื่อนไหวมาก ดังนั้นความเสถียรของข้อต่อจึงต่ำและมีโอกาสเลื่อนหลุดได้ง่าย จึงจำเป็นต้องมีเอ็นรอบข้อต่อเพื่อรักษาความเสถียรของข้อต่อ ซึ่งได้แก่

  • เอ็นกลีโนฮิวเมอรัล (Glenohumeral ligaments) เป็นเอ็นที่อยู่ทางด้านหน้าของข้อต่อ ซึ่งสามารถแยกออกได้เป็นสามส่วนด้วยกัน คือเอ็นส่วนบน เอ็นส่วนกลาง และเอ็นส่วนล่างของข้อต่อ โดยเอ็นนี้จะยึดเกาะระหว่างกลีนอยด์ ลาบรัม และปุ่มเหนือแอ่งกลีนอยด์ ไปยังส่วนคอของกระดูกต้นแขน
  • เอ็นคอราโคฮิวเมอรัล (Coracohumeral ligament) เป็นเอ็นที่อยู่ทางด้านบนของข้อต่อ โดยจะพาดจากฐานของคอราคอยด์ โพรเซส (coracoid process) บนกระดูกสะบัก ไปยังทางด้านหน้าปุ่มใหญ่บนกระดูกต้นแขน (greater tubercle of humerus)
  • เอ็นทรานสเวิร์สฮิวเมอรัล (Transverse humeral ligament) เป็นเอ็นที่พาดระหว่างปุ่มใหญ่และปุ่มเล็กบนกระดูกต้นแขน จึงทำให้ร่องระหว่างปุ่มทั้งสอง (intertubercular groove) มีลักษณะเป็นทางผ่านให้เอ็นของปลายด้านยาวของกล้ามเนื้อไบเซ็ปส์ เบรกิไอ สอดเข้าไปได้

ถุงรอบข้อต่อ

[แก้]

ถุงรอบข้อต่อ (Joint bursae) เป็นถุงของเยื่อซินโนเวียลที่กั้นระหว่างกระดูกกับเอ็นหรือกล้ามเนื้อรอบข้อต่อ เพื่อลดการเสียดสีและทำให้การเคลื่อนไหวของข้อต่อสะดวกมากขึ้น ถุงข้อต่อจะพบได้มากในข้อต่อที่มีการเคลื่อนไหวมากและหลายทิศทาง เช่นข้อมือ ข้อต่อสะโพก รวมทั้งข้อต่อกลีโนฮิวเมอรัลด้วย สำหรับในข้อต่อนี้จะมีถุงรอบข้อต่อที่สำคัญสองจุด คือ

หลอดเลือดและเส้นประสาท

[แก้]

ข้อต่อกลีโนฮิวเมอรัลจะได้รับเลือดผ่านทางหลอดเลือดแดงรอบกระดูกต้นแขน (Circumflex humeral arteries) และแขนงที่มาจากหลอดเลือดแดงเหนือกระดูกสะบัก (Suprascapular artery) ที่อยู่ใกล้เคียง ขณะที่เส้นประสาทโดยรอบข้อต่อ ได้แก่เส้นประสาทเหนือกระดูกสะบัก (Suprascapular nerve) เส้นประสาทรักแร้ (Axillary nerve) และเส้นประสาทอกแนวข้าง (Lateral pectoral nerve)

การเคลื่อนไหว

[แก้]

ข้อต่อกลีโนฮิวเมอรัลจัดว่าเป็นข้อต่อที่เคลื่อนไหวได้มากที่สุดในร่างกายมนุษย์ ทั้งนี้โดยอาศัยการทำงานของกล้ามเนื้อโดยรอบทั้งจากไหล่ ต้นแขน และผนังช่องอกด้านหน้า การเคลื่อนไหวของต้นแขนรอบข้อต่อนี้ ได้แก่ การงอแขน (flexion) การเหยียดแขน (extension) การกางแขน (abduction) การหุบแขน (adduction) การหมุนแขน (rotation) รวมทั้งการหมุนควง (circumduction)

การบาดเจ็บของข้อต่อ

[แก้]

ข้อต่อกลีโนฮิวเมอรัลอาจเกิดภาวะเลื่อนหลุดจากตำแหน่งเดิม หรือที่เรียกว่าไหล่หลุด (shoulder dislocation) ได้ง่ายหากได้รับการกระทบกระเทือน จากโครงสร้างของข้อต่อกลีโนฮิวเมอรัล จะพบว่าบริเวณของข้อต่อที่เสี่ยงต่อการเลื่อนหลุดมากที่สุด คือบริเวณด้านใต้ของข้อต่อ เนื่องจากไม่มีเอ็นรอบข้อต่อหรือกล้ามเนื้อมารองรับมากนัก ดังนั้นเมื่อไหล่ได้รับการกระแทกจากทางด้านบนในขณะที่แขนกางออกเต็มที่ หรือแขนได้รับแรงดึงมากๆ ส่วนหัวของกระดูกต้นแขนอาจเลื่อนหลุดออกจากแอ่งกลีนอยด์ไปทางด้านใต้ต่อตำแหน่งเดิม และอาจไปกดทับเส้นประสาทใกล้เคียง เช่น เส้นประสาทรักแร้ ทำให้ไม่สามารถยกแขนได้ตามปกติ

รูปประกอบเพิ่มเติม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  • Gray's anatomy for students. Drake, RL., Vogl, W. and Mitchell, AWM.
  • Clinically Oriented Anatomy, 5th ed. Keith L. Moore and Arthur F. Dalley.