ข้ามไปเนื้อหา

ข้อต่อสเตอร์โนคลาวิคิวลาร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ข้อต่อสเตอร์โนคลาวิคิวลาร์
(Sternoclavicular articulation)
ข้อต่อสเตอร์โนคลาวิคิวลาร์ มุมมองจากทางด้านหน้า
รายละเอียด
ตัวระบุ
ภาษาละตินarticulatio sternoclavicularis
MeSHD013247
TA98A03.5.04.001
TA21750
FMA25883
อภิธานศัพท์กายวิภาคศาสตร์

ข้อต่อสเตอร์โนคลาวิคิวลาร์ (อังกฤษ: Sternoclavicular joint) ในกายวิภาคศาสตร์ของมนุษย์ หมายถึงข้อต่อที่อยู่ระหว่างปลายด้านกระดูกอกของกระดูกไหปลาร้า (Sternal end of clavicle) กับรอยเว้าคลาวิคิวลาร์ (clavicular notch) ที่อยู่บนส่วนแมนูเบรียมของกระดูกอก (manubrium of sternum) และบางส่วนของกระดูกซี่โครงชิ้นที่ 1 โดยที่พื้นผิวข้อต่อส่วนใหญ่จะอยู่ทางด้านปลายด้านกระดูกไหปลาร้า ข้อต่อนี้มีส่วนช่วยในการเคลื่อนที่ของไหล่และต้นแขนที่ต้องอาศัยการเคลื่อนไหวของกระดูกไหปลาร้า

โครงสร้างของแคปซูลข้อต่อ

[แก้]
ภาพวาดแสดงโครงสร้างพื้นฐานของแคปซูลข้อต่อ

แคปซูลข้อต่อ (Articular/joint capsule) เป็นพื้นที่รอยต่อระหว่างกระดูกที่สามารถทำให้เกิดการเคลื่อนไหวได้ โดยภายในจะเป็นโพรงแคบๆที่เรียกว่า โพรงข้อต่อ (articular cavity) ซึ่งจะมีของเหลวที่เรียกว่า ซินโนเวียล ฟลูอิด (Synovial fluid) คอยช่วยลดแรงเสียดทานระหว่างกระดูกเมื่อเกิดการเคลื่อนไหว เราเรียกข้อต่อที่มีโครงสร้างดังกล่าวว่า ข้อต่อแบบซินโนเวียล (Synovial joint) ข้อต่อสเตอร์โนคลาวิคิวลาร์เป็นข้อต่อแบบซินโนเวียลลักษณะหนึ่ง ซึ่งมีโครงสร้างของแคปซูลข้อต่อแบบอานม้า (saddle joint) โดยที่โพรงข้อต่อจะถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน โดยแผ่นของกระดูกอ่อนที่เรียกว่า แผ่นข้อต่อ (articular disc) ซึ่งเป็นลักษณะทั่วไปของข้อต่อแบบซินโนเวียล

เอ็นรอบข้อต่อ

[แก้]

ข้อต่อสเตอร์โนคลาวิคิวลาร์ จะมีเอ็น (ligaments) ที่ช่วยในการค้ำจุนข้อต่อให้มีความเสถียรมากยิ่งขึ้น ซึ่งได้แก่

  • เอ็นสเตอร์โนคลาวิคิวลาร์ด้านหน้า (Anterior sternoclavicular ligament) เป็นเอ็นที่ค่อนข้างใหญ่และคลุมพื้นที่ด้านหน้าของข้อต่อ และเอ็นนี้จะอยู่ทางด้านหลังของปลายด้านกระดูกอกของกล้ามเนื้อสเตอร์โนไคลโดมาสตอยด์ (Sternocleidomastoid muscle)
  • เอ็นสเตอร์โนคลาวิคิวลาร์ด้านหลัง (Posterior sternoclavicular ligament) มีลักษณะรูปร่างคล้ายกับเอ็นสเตอร์โนคลาวิคิวลาร์ด้านหน้า แต่จะคลุมทางด้านหลังของข้อต่อ ทางด้านหลังของเอ็นนี้จะเป็นกล้ามเนื้อสเตอร์โนไทรอยด์ (Sternothyroid muscle) และกล้ามเนื้อสเตอร์โนไฮออยด์ (Sternohyoid muscle)
  • เอ็นยึดระหว่างกระดูกไหปลาร้า (Interclavicular ligament) เป็นเอ็นเส้นเล็กที่ยึดระหว่างปลายด้านกระดูกอกของกระดูกไหปลาร้าทั้งสองข้าง และมีบางส่วนที่ติดกับขอบด้านบนของกระดูกอก
  • เอ็นระหว่างกระดูกไหปลาร้าและกระดูกซี่โครง (Costoclavicular ligament) เป็นเอ็นสั้นๆรูปสี่เหลี่ยมที่ยึดระหว่างพื้นผิวด้านล่างของกระดูกไหปลาร้า กับส่วนของกระดูกอ่อนและกระดูกซี่โครงชิ้นที่ 1

การเคลื่อนไหว

[แก้]

ข้อต่อสเตอร์โนคลาวิคิวลาร์มีส่วนช่วยในการเคลื่อนไหวของไหล่และต้นแขนผ่านทางการเคลื่อนไหวของกระดูกไหปลาร้า โดยข้อต่อนี้สามารถทำให้กระดูกไหปลาร้าเคลื่อนไหวในแนวต่างๆ ได้แก่

  • แนวดิ่ง ทำให้เกิดการยก (elevation) ของไหล่และแขน ตัวอย่างเช่น ในระหว่างที่มีการยกไหล่ขึ้นจนแขนตั้งฉากกับแนวระนาบ ข้อต่อนี้จะช่วยยกกระดูกไหปลาร้าให้ทำมุมได้ถึง 60 องศาจากแนวระดับ
  • แนวด้านหน้า-ด้านหลัง ทำให้มีการงอเข้า (protraction) หรือกางออก (retraction) ของไหล่ โดยข้อต่อนี้จะเคลื่อนไปจากแนวปกติได้ประมาณ 30 องศา การเคลื่อนไหวในลักษณะนี้ช่วยเพิ่มระยะของการเคลื่อนไหวของแขนให้กว้างมากขึ้นกว่าเดิม

นอกจากนี้ ข้อต่อสเตอร์โนคลาวิคิวลาร์ยังช่วยในการหมุนรอบแกนตามยาวของกระดูกไหปลาร้าได้เล็กน้อย

อ้างอิง

[แก้]
  • Clinically Oriented Anatomy, 4th ed. Keith L. Moore and Arthur F. Dalley.