ข้ามไปเนื้อหา

ขบวนการปาปัวเสรี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ธงของขบวนการปาปัวเสรี

ขบวนการปาปัวเสรี (อินโดนีเซีย: Organisasi Papua Merdeka, ตัวย่อ OPM; อังกฤษ: Free Papua Movement) เป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2508 เพื่อเรียกร้องเอกราชให้กับปาปัวตะวันตกให้แยกตัวออกมาจากอินโดนีเซีย ดินแดนนี้ปัจจุบันอยู่ภายใต้การปกครองของอินโดนีเซียในฐานะจังหวัดปาปัวและจังหวัดอิเรียน จายาตะวันตก แนวคิดในการเรียกร้องเอกราชมาจากการที่ชาวพื้นเมืองในปาปัวถือว่าพวกตนมีความแตกต่างจากชาวอินโดนีเซียที่พูดภาษาตระกูลออสโตรนีเซียน การปกครองปาปัวตะวันตกของอินโดนีเซียถือว่าเป็นการรุกรานด้วยกำลังทหาร

ประวัติศาสตร์

[แก้]

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 หมู่เกาะอินดีสตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ (ปัจจุบันคืออินโดนีเซีย) อยู่ภายใต้การยึดครองของญี่ปุ่น และมีการเรียกร้องเอกราชภายในอาณานิคมในช่วง พ.ศ. 2488 – 2493 ในขณะที่นิวกินีของเนเธอร์แลนด์ (ปัจจุบันคือนิวกินีตะวันตก) ถูกยึดครองโดยญี่ปุ่นเป็นบางส่วน เฉพาะทางชายฝั่งตอนเหนือ และไม่อยู่ในข้อตกลงดัตช์ – อินโดนีเซียเกี่ยวกับเอกราชของอินโดนีเซียในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2492 เนเธอร์แลนด์ยังคงปกครองนิวกินีตะวันตกในฐานะอาณานิคมต่อไปและจัดให้มีการเลือกตั้งในนิวกินีเมื่อ พ.ศ. 2504 ในปีเดียวกันสหรัฐได้ออกมาสนับสนุนให้อินโดนีเซียเข้าครอบครองนิวกินีตะวันตก [1] และมีการลงนามในข้อตกลงระหว่างสหรัฐ อินโดนีเซียและเนเธอร์แลนด์ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2505 แม้ว่าเนเธอร์แลนด์ต้องการให้นิวกินีตะวันตกอยู่ภายใต้การอารักขาของสหประชาชาติและจัดให้มีการลงประชามติเกี่ยวกับอนาคตของตน แต่ข้อตกลงที่ทำขึ้นทำให้สหประชาชาติไม่มีบทบาท [2]การโอนย้ายอำนาจการปกครองในทางกฎหมายไม่ได้รับการยอมรับจากชาวปาปัวและการลงประชามติต้องล่าช้าออกไป เริ่มมีการใช้ธงชาติปาปัวในวันที่ 1 ธันวาคมของทุกปี ซึ่งการกระทำเช่นนี้ถือว่าผิดกฎหมายของอินโดนีเซีย และมีโทษจำคุก 7 -20 ปีถ้าถูกจับได้ [3]


การลงประชามติมีขึ้นเมื่อ 14 กรกฎาคม – 2 สิงหาคม พ.ศ. 2512 โดยผู้แทนสหประชาชาติมาถึงเมื่อ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2511 เพื่อดูแลการลงประชามติ ผลของการลงมติทำให้ปาปัวกลายเป็นส่วนหนึ่งของอินโดนีเซีย แต่ชาวปาปัวส่วนใหญ่กล่าวว่าการลงประชามตินี้อยู่ภายใต้อิทธิพลของรัฐบาลอินโดนีเซีย

ผลจากความไม่พอใจผลจากการลงประชามติทำให้มีการวางแผนประกาศเอกราชของปาปัว ใน พ.ศ. 2514 Seth Jafeth Roemkorem และ Jacob Hendrik Prai ได้ประกาศตั้งสาธารณรัฐปาปัวตะวันตกเมื่อ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2514 แต่ความขัดแย้งระหว่าง Roemkorem และ Prai ทำให้ขบวนการปาปัวเสรีต้องแยกเป็นสองกลุ่ม ทำให้การต่อสู้ทางทหารอ่อนแอลง

พ.ศ. 2515 มีการตั้งสภาปฏิวัติขบวนการปาปัวอิสระภายใต้การนำของ Moses Werror ขบวนการนี้ได้มีการกล่าวอ้างถึงความเป็นเอกราชของปาปัวในระดับนานาชาติ พ.ศ. 2517 ขบวนการปาปัวเสรีโจมตีชยาปุระ เมืองหลวงของจังหวัดและเป็นเมืองที่ชนส่วนใหญ่ไม่ใช่ชาวเมลานีเซีย การโจมตีนี้ถูกตอบโต้จากทางกองทัพอินโดนีเซียอย่างรุนแรง ทำให้มีผู้ลี้ภัยชาวปาปัวจำนวนมากหนีเข้าไปในปาปัวนิวกินี

ในราว พ.ศ. 2538 ทางองค์กรได้รับการสนับสนุนจากชาวปาปัวอีกครั้งซึ่งเป็นผลมาจากความไม่พอใจรัฐบาลอินโดนีเซียในการทำลายสิ่งแวดล้อมที่เป็นผลมาจากการทำเหมืองทองและการละเมิดสิทธิมนุษยชน พ.ศ. 2539 ขบวนการปาปัวเสรีได้จับตัวประกันชาวยุโรปและอินโดนีเซีย ตัวประกันสองคนถูกฆ่า ที่เหลือถูกปล่อยตัวไป เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2541 ขบวนการได้ชักธงชาติของปาปัวที่หอคอยที่โกตา เบียก ที่เกาะบีตักและถูกทางการอินโดนีเซียปราบปรามในอีกไม่กี่วันต่อมา

การจัดองค์กร

[แก้]

การจัดการภายในองค์กรของขบวนการปาปัวเสรีไม่เป็นที่เปิดเผยมากนัก เมื่อราว พ.ศ. 2539 ผู้นำสูงสุดของกลุ่มคือ Mathias Wenda [4] โฆษกของกลุ่มในออสเตรเลียคือ John Otto Ondawame

อ้างอิง

[แก้]
  1. U.S. Dept. of State Foreign Relations, 1961-63, Vol XXIII, Southeast Asia http://wpik.org/Src/950306_FRUS_XXIII_1961-63.html#Indonesia
  2. Text of New York Agreement
  3. [http://www.hrw.org/reports/2007/papua0207/ Protest and Punishment Political Prisoners in Papua], Report by Human Rights Watch
  4. van Klinken, Gerry (1996). "OPM information". Inside Indonesia. 02. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-06-07. สืบค้นเมื่อ 2007-12-25.
  • Bell, Ian; Herb Feith; and Ron Hatley (1986). The West Papuan challenge to Indonesian authority in Irian Jaya: old problems, new possibilities. Asian Survey 26(5):539-556.
  • Bertrand, Jaques (1997). "Business as Usual" in Suharto's Indonesia. Asian Survey 37(6):441-452.
  • Evans, Julian (1996). Last stand of the stone age. The Guardian Weekend. August 24:p. T20.
  • Monbiot, George. Poisoned Arrows: An Investigative Journey to the Forbidden Territories of West Papua
  • van der Kroef, Justus M (1968). West New Guinea: the uncertain future. Asian Survey 8(8):691-707.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]