การเขียนโปรแกรมเชิงตรรกะแบบอุปนัย
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
การเขียนโปรแกรมเชิงตรรกะแบบอุปนัย (อังกฤษ: inductive logic programming) เป็นการนำวิธีการเรียนรู้ของเครื่องมาใช้ร่วมกับวิธีการเขียนโปรแกรมเชิงตรรกะ ในการเรียนรู้ประเภทการเรียนรู้แบบมีผู้สอน การเขียนโปรแกรมตรรกะแบบอุปนัยมีแนวคิดหลักคือ พยายามสร้างทฤษฎีที่ครอบคลุมตัวอย่างบวกแต่ไม่ครอบคลุมตัวอย่างลบ
การเขียนโปรแกรมตรรกะแบบอุปนัยมีความแตกต่างจากการเรียนรู้ของเครื่องแบบอื่นในส่วนที่ได้มีการนำเอาโปรแกรมเชิงตรรกะมาใช้ในการอธิบายตัวอย่างและสามารถสร้างความรู้ภูมิหลังในรูปของตรรกะอันดับที่หนึ่งได้ ระบบจะทำการเรียนรู้เพื่อสร้างทฤษฎีในรูปแบบของโปรแกรมเชิงตรรกะจากตัวอย่างและความรู้ภูมิหลังที่ได้รับ โดยทฤษฎีที่ได้นี้สามารถนำไปใช้ในการจำแนกตัวอย่างใหม่ที่ระบบยังไม่เคยเห็นหรือไม่ได้ใช้ในการสอนได้ ซึ่งการใช้โปรแกรมตรรกะแบบอุปนัยในการอธิบายสมมติฐานและตัวอย่าง ทำให้มีข้อดีที่เหนือกว่าวิธีอื่นๆ คือ
- ความรู้ส่วนใหญ่ของมนุษย์สามารถอธิบายได้ในรูปของตรรกะอันดับที่หนึ่ง ในขณะที่วิธีการเรียนรู้ของเครื่องส่วนใหญ่จะอธิบายในรูปของตรรกศาสตร์ประพจน์ ทำให้อธิบายความรู้ของมนุษย์ได้ไม่ดีเท่าที่ควร และการใช้โปรแกรมตรรกะในการอธิบายแนวคิดที่ได้จากการเรียนรู้ยังสามารถอธิบายแนวคิดได้ซับซ้อนมากกว่าการอธิบายด้วยตรรกศาสตร์ประพจน์
- การเขียนโปรแกรมตรรกะแบบอุปนัยสามารถใช้ความรู้ภูมิหลังในการเรียนรู้ได้ง่ายกว่าวิธีการเรียนรู้ของเครื่องแบบอื่น ที่ไม่ได้ใช้การเขียนโปรแกรมเชิงตรรกะ