ข้ามไปเนื้อหา

การออกแบบอย่างสากล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

การออกแบบอย่างสากล[1], การออกแบบเพื่อทุกคน[2], การออกแบบเพื่อคนทั้งมวล[3] หรือ อารยสถาปัตย์[4] (อังกฤษ: Universal Design) หมายถึง การออกแบบผลิตภัณฑ์ และสภาพแวดล้อม ที่ปราศจากการออกแบบหรือดัดแปลงเป็นพิเศษ เป็นการออกแบบที่ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้าง ขวางเท่าที่เป็นไปได้มากที่สุด โดยไม่มีข้อจำกัดทางด้านอายุและสภาพร่างกาย[5] ทั้งนี้แนวคิดดังกล่าว ถูกผลักดันจากกลุ่มผู้สูงอายุ และคนพิการ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของการออกแบบอย่างสากล การทำความเข้าใจเรื่องผู้สูงอายุและคนพิการ จึงเป็นเรื่องสำคัญ

พัฒนาการการออกแบบอย่างสากลนี้ เริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ. 1950 ซึ่งเป็นแนวคิดการออกแบบใหม่สำหรับคนพิการในยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา จากแนวคิดเรื่องการออกแบบที่ปราศจากสิ่งกีดขวาง (Barrier-free design) มีการพัฒนาขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรคในการสร้างสภาพแวดล้อมสำหรับคนที่มีความพิการทางร่างกาย ตามแนวทางของเครือข่ายทางสังคมในการดูแลคนพิการ โดยพัฒนาจากการดูแลแบบสถาบัน (Institutional care) เช่น โรงพยาบาล สถานสงเคราะห์ เป็นต้น ไปสู่การดูแลแบบชุมชน (Community care) การออกแบบนี้จะแยกการออกแบบพิเศษเป็นการเฉพาะ โดยเฉพาะกับผู้มีข้อจำกัดทางร่างกายที่รุนแรง

ในปี ค.ศ. 1970 บางส่วนของยุโรปและสหรัฐอเมริกา เริ่มเปลี่ยนแนวคิดจากการออกแบบเฉพาะ เจาะจง (Exclusive design) มาเป็นแนวคิดการออกแบบที่ครอบคลุม (Inclusive design) เป็นการทำให้ง่ายขึ้น และเริ่มใช้คำว่าการออกแบบที่สามารถเข้าถึงได้ (Accessible design) ในประเทศสหรัฐอเมริกา การเคลื่อนไหวสิทธิของคนพิการเป็นรูปเป็นร่างในช่วงกลางยุคปี 70 บนวิสัยทัศน์ของสิทธิมนุษยชน โดยพระราชบัญญัติสำหรับชนกลุ่มน้อย ปี ค.ศ. 1964 ที่มีเป้าหมายเพื่อความเท่าเทียมกันของโอกาสและการดูแล เป็นครั้งแรกที่การออกแบบนี้ได้รับการยอมรับเป็นเงื่อนไขเพื่อให้บรรลุถึงสิทธิมนุษยชน[6] พัฒนาการของการออกแบบอย่างสากลในแต่ละประเทศจึงมีรายละเอียดที่แตกต่างกันบ้างตามสภาพสังคม เศรษฐกิจ และการผลักดันของกลุ่มคนพิการและผู้สูงอายุ

ประวัติ

[แก้]

ในช่วงต้นของการออกแบบสถาปัตยกรรมที่ปราศจากสิ่งกีดขวาง ซึ่งได้รับการยอมรับทั้งทางกฎหมาย ทางเศรษฐกิจและสังคม เป็นแนวคิดที่ต้องการความร่วมมือกันของคนทั่วไปและคนพิการ แต่กลายเป็นว่ามีการออกแบบแยกส่วนที่สามารถเข้าถึงได้เป็น “พิเศษ” ทำให้มีราคาแพงขึ้นและมักจะดูไม่สวยงาม การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมที่จำเป็นเพื่อรองรับคนพิการนี้ คนทั่วไปก็ได้รับประโยชน์เช่นกัน จนกระทั่งการออกแบบดังกล่าวเป็นที่รับรู้และยอมรับกันโดยทั่วไป จนทำให้ค่าก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านั้นถูกลง ไม่ต้องติดป้ายเป็นการเฉพาะ มีความสวยงามและเป็นที่ยอมรับในตลาด ถือเป็นการเคลื่อนไหวและเป็นรากฐานสำคัญสำหรับการออกแบบอย่างสากลในเวลาต่อมา

ในปี ค.ศ. 1987 กลุ่มของนักออกแบบชาวไอริชประสบความสำเร็จในการเรียกร้องต่อที่ประชุมการออกแบบโลก (The World Design Congress) จนได้รับมติให้นักออกแบบทุกควรคำนึงถึงปัจจัยความพิการและความชราในผลงานการออกแบบของพวกเขา

ในสหรัฐอเมริกา โรเนล แอล เมซ (Ronald L. Mace: 1941 – 1998) ผู้ก่อตั้งศูนย์การออกแบบสากลในมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนาสเตต (North Carolina State University) สถาปนิกที่เป็นโรคโปลิโอตั้งแต่เด็ก ผู้ซึ่งใช้รถเก้าอี้ล้อเลื่อนและเครื่องช่วยหายใจ เริ่มใช้คำว่า “การออกแบบอย่างสากล” (Universal Design) และหาวิธีการที่จะกำหนดให้ “การออกแบบอย่างสากล” สัมพันธ์กับ “การออกแบบที่สามารถเข้าถึงได้” เขากล่าวว่าการออกแบบอย่างสากลไม่ได้เป็นศาสตร์ใหม่ ไม่ได้เป็นสไตล์ใหม่ หรือไม่ซ้ำกับแนวทางใดแนวทางหนึ่ง มันเป็นการรับรู้ของความต้องการและวิธีการที่จะใช้สามัญสำนึกในการออกแบบ ทุกอย่างที่เราออกแบบและผลิตใช้งานสามารถใช้งานได้กับทุกคน มีขอบเขตการใช้งานที่กว้างขวางที่สุดเท่าที่เป็นไปได้[7] และศูนย์การออกแบบอย่างสากลมหาวิทยาลัยนอร์ทคาโรไลนาสเตต (The Center for Universal Design, North Carolina State University) ได้ตีพิมพ์หลัก 7 ประการของการออกแบบอย่างสากล[8] ที่ทุกคนยอมรับและอ้างอิงมาจนถึปัจจุบัน

แนวคิด

[แก้]

การออกแบบอย่างสากล (Universal Design) นี้ เริ่มต้นจาก การออกแบบที่ปราศจากสิ่งกีดขวาง (The "Barrier-Free" concept) หรือ การออกแบบที่สามารถเข้าถึงได้ (Accessibility Design) ซึ่งเป็นการออกแบบสำหรับคนพิการหรือผู้มีความบกพร่องทางร่างกายเข้าใช้ประโยชน์ได้ และต่อมาได้ถูกขยายขอบเขตมาถึงการออกแบบสภาพแวดล้อมที่สร้างขึ้น บริการ วัฒนธรรม และข้อมูล หรือที่เรียกว่า การออกแบบสำหรับคนทั้งมวล (Design for All: DFA) การออกแบบที่ครอบคลุม (Inclusive Design) และนำมาสู่แนวคิด การออกแบบอย่างสากล (Universal Design) ซึ่งเป็นการออกแบบที่ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์ได้ครอบคลุมแนวคิดทั้งหมดดังกล่าว

การออกแบบที่ปราศจากสิ่งกีดขวาง (The "Barrier-Free" Design)

[แก้]

เป็นแนวคิดการออกแบบหรือการดัดแปลงอาคารเพื่อให้คนพิการหรือผู้มีความบกพร่องทางร่างกายเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ โดยเริ่มตั้งแต่ช่วงการออกแบบที่ต้องวิเคราะห์ผู้ใช้อาคารทุกกลุ่มความพิการ พื้นที่ที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึง ทั้งที่เป็นโครงสร้างและรายละเอียดการออกแบบ การออกแบบที่ปราศจากสิ่งกีดขวาง (The "Barrier-Free" Design) นี้ใช้สำหรับประเทศที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาทางการ เช่น ญี่ปุ่น เยอรมัน สำหรับประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาทางการ เช่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา มักใช้คำว่า การออกแบบที่สามารถเข้าถึงได้ (Accessibility Design) การออกแบบที่ปราศจากสิ่งกีดขวางได้ถูกนำมาใช้กับการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่นพระราชบัญญัติความพิการของชาวอเมริกัน (Americans with Disabilities Act of 1990) อย่างไรก็ตามการออกแบบที่ปราศจากสิ่งกีดขวางนี้ ได้ถูกแทนที่โดยแนวคิดของการออกแบบอย่างสากล (Universal design)

การออกแบบสำหรับคนทั้งมวล (Design for All: DFA)

[แก้]

คือการออกแบบเพื่อความหลากหลายของมนุษย์ในสังคม แสดงถึงความเท่าเทียมกัน เป็นการออกแบบที่เป็นองค์รวม ถือเป็นสิ่งที่ท้าทายความคิดสร้างสรรค์และจริยธรรมสำหรับนักออกแบบ ผู้ประกอบการ และผู้นำทางการเมือง การออกแบบสำหรับคนทั้งมวลนี้เป็นการออกแบบที่มีเป้าหมายให้คนจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ สามารถใช้ประโยชน์ได้ และเพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ สภาพแวดล้อมที่สร้างขึ้นในชีวิตประจำวันและบริการข้อมูลต่างๆ ทุกอย่างที่ได้รับการออกแบบ ต้องสามารถเข้าถึงได้สะดวกสำหรับทุกคนในสังคมและตอบสนองต่อการพัฒนามนุษย์ การออกแบบนี้ต้องมีการวิเคราะห์ความต้องการของมนุษย์และต้องมีส่วนร่วมของผู้ใช้ในทุกขั้นตอนของกระบวนการออกแบบ ทั้งนี้สหภาพยุโรปเป็นผู้กระตุ้นและสนับสนุนให้ผู้ผลิตและผู้ให้บริการผลิตเทคโนโลยีสำหรับทุกคน เทคโนโลยีนี้มีความเหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุและคนพิการ อาจจะกล่าวได้ว่า จุดเริ่มต้นของการออกแบบสำหรับคนทั้งมวลนี้ คือ การคำนึงถึงการออกแบบที่ปราศจากสิ่งกีดขวาง[9]นั้นเอง

การออกแบบที่ครอบคลุม(Inclusive Design)

[แก้]

ในปี ค.ศ. 2000 รัฐบาลสหราชอาณาจักรกำหนดให้ “การออกแบบที่ครอบคลุม” (Inclusive Design) หมายถึง “สินค้า บริการ และสภาพแวดล้อมที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคจำนวนที่มากที่สุด รวมถึงการดูแลสุขภาพและที่อยู่อาศัยสำหรับทุกคน” Inclusive Design ถูกนำมาใช้ในยุโรป ซึ่งนอกเหนือไปจากกลุ่มผู้สูงอายุและคนพิการแล้ว ยังมุ่งเน้นไปที่กลุ่มอื่นๆ ที่ไม่อยู่ในกระแสหลักของการบริโภคเช่น กลุ่มเด็ก อีกด้วย

หลัก 7 ประการ

[แก้]

การออกแบบอย่างสากล (Universal Design) เป็นแนวความคิดสากลที่องค์การสหประชาชาติได้พยายามเผยแพร่และส่งเสริม จากแนวความคิดดั้งเดิมที่ให้คนพิการได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิตในอาคารและสิ่งแวดล้อมตามโครงการ Promotion of Non-Handicapping Physical Environment for Disabled Persons และได้มีการพัฒนามาเป็นลำดับเป็น Accessible Design, Adaptable Design, Barrier Free Design ซึ่งในที่สุดก็เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปในหลักการของ Universal Design ซึ่งประกอบด้วย หลัก 7 ประการ[10] ดังรายละเอียด

ทุกคนใช้ได้อย่างเท่าเทียมกัน (Equitable Use)

[แก้]

เป็นการออกแบบที่เป็นประโยชน์และตรงความต้องการของกับคนทุกกลุ่มโดยมีรายละเอียดดังนี้

การออกแบบที่สามารถสร้างความเท่าเทียมกันในการใช้สอยของผู้ใช้ที่ต่างวัยและต่างความสามารถ เช่น ประตูบานเลื่อนแบบเซ็นเซอร์ ที่ผู้ใช้ทุกสภาพร่างกายสามารถใช้งานอย่างเท่าเทียมกัน

ภาพแสดงประตูบานเลื่อนแบบเซ็นเซอร์ผู้ใช้ทุกสภาพร่างกายสามารถใช้ได้อย่าสะดวกสบาย

ภาพแสดงประตูบานเลื่อนแบบเซ็นเซอร์ผู้ใช้ทุกสภาพร่างกายสามารถใช้ได้อย่าสะดวกสบาย

มีความยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนการใช้ได้ (Flexible Use)

[แก้]

เป็นการออกแบบที่รองรับความสามารถที่หลากหลายของแต่ละบุคคลทุกคนสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวางเท่าที่เป็นไปได้มากที่สุด ทำให้งานออกแบบต้องมีความยืดหยุ่น โดยมีรายละเอียดดังนี้

การออกแบบสามารถรองรับการใช้สอยจากผู้ใช้ที่หลากหลาย โดยอาจมีหลายทางเลือกที่สามารถใช้งานได้

ภาพแสดงป้ายให้ข้อมูลอาคารมีทั้งแผนผังตามสัมผัส


สามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานได้ตามความต้องการของผู้ใช้

ภาพแสดงเก้าอี้ผู้โดยสารบนรถไฟฟ้าที่สามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานได้เป็นที่สำหรับรถเก้าอี้ล้อเลื่อนคนพิการได้

ใช้งานง่าย (Simple and Intuitive Use)

[แก้]

เป็นการออกแบบที่ง่ายต่อความเข้าใจ โดยไม่คำนึงถึงประสบการณ์ระดับความรู้หรือทักษะการใช้ภาษาของผู้ใช้  การควรง่ายต่อการเข้าใจ โดยไม่คำนึงถึงประสบการณ์ความรู้ภาษาหรือระดับความชำนาญของผู้ใช้ เป็นการออกแบบที่เรียบง่าย

ผู้ใช้งานสามารถใช้งานได้โดยง่ายจากสามัญสำนึก

ภาพแสดงการออกแบบแป้นตัวเลขและสัญลักษณ์ที่ใหญ่ ชัดเจน ง่ายต่อการเข้าใจ

การสื่อความหมายเป็นที่เข้าใจง่าย (Perceptible Information)

[แก้]

เป็นการสื่อสารข้อมูลที่จำเป็นในการออกแบบได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่คำนึงถึงสภาพแวดล้อมหรือความสามารถทางประสาทสัมผัสของผู้ใช้ มีรายละเอียดดังนี้

1 งานออกแบบสามารถสื่อสารข้อมูลที่จำเป็นกับผู้ใช้งานได้ โดยปราศจากข้อจำกัดของผู้มีความบกพร่องทางประสาทสัมผัส เช่น การใช้พื้นผิวต่างสัมผัสหรือสีสันที่ตัดกัน

การออกแบบที่เผื่อการใช้งานที่ผิดพลาดได้ (Tolerance for Error)

[แก้]

เป็นการออกแบบที่สามารถลดอันตรายจากอุบัติเหตุและผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ หรือการกระทำที่ไม่ได้ตั้งใจ การออกแบบควรลดอันตรายหรืออุบัติเหตุต่างๆ อันอาจจะเกิดขึ้นได้โดยไม่ตั้งใจ  

ภาพแสดงทางลาดที่มีขอบกันตกและมีพื้นผิวต่างสัมผัสชนิดเตือนก่อนถึงทางลาดป้องกันอุบัติเหตุเผื่อการใช้งานที่ผิดพลาดได้

ใช้แรงน้อย (Low Physical Effort)

[แก้]

เป็นการออกแบบที่สามารถนำมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ สะดวกสบาย และไม่เกิดความเมื่อยล้า

การออกแบบที่มีความสะดวกต่อการใช้งานง่ายด้วยท่าทางปรกติ โดยใช้กำลังตามปรกติ ไม่ต้องออกแรงมาก หรือต้องพยายามใช้งานหลายครั้ง

ภาพแสดงขอสับสำหรับล็อคประตูห้อง ที่ใช้แรงน้อย เบาแรง
ภาพแสดงมือจับล็อคประตูห้อง ที่ใช้แรงน้อย เบาแรง ไม่ว่าสภาพแรงกายอย่างไรก็สามารถเปิดได้

มีขนาดและพื้นที่ที่เหมาะสมกับการเข้าถึงและใช้งาน (Size and Space for Approach and Use)

[แก้]

เป็นการออกแบบที่มีขนาดที่เหมาะสมและมีพื้นที่ให้สำหรับการเข้าถึงและการใช้งานที่เพียงพอ โดยคำนึงถึงขนาดร่างกายท่าทางหรือการเคลื่อนไหวของผู้ใช้ที่หลากหลาย ขนาดและพื้นที่ใช้งานที่เหมาะสม สามารถใช้งานได้อย่างสะดวก ทั้งการเอื้อม การหยิบจับ โดยปราศจากเงื่อนไขของข้อจำกัดทางร่างกายหรือการเคลื่อนไหว

ภาพแสดงห้องน้ำที่ต้องมีพื้นที่โล่งเป็นวงกลมเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.50 เมตร เพื่อการหมุนของรถเก้าอี้ล้อเลื่อนคนพิการ รถเก้าอี้ล้อเลื่อนเด็ก ผู้สูงอายุที่ใช้อุปกรณ์พยุงตัว

ระดับของหลักการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวก

[แก้]

จากหลักการออกแบบอย่างสากล 7 ประการ ดังกล่าว เมื่อนำไปประยุกต์กับงานออกแบบในพื้นที่จริง กับกลุ่มเป้าหมายจริง จะพบว่ามีข้อจำกัด ไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์เต็มที่ เช่น มีข้อจำกัดเรื่องโครงสร้างอาคารเดิม ข้อจำกัดเรื่องทำเลที่ตั้ง ไม่สามารถออกแบบเพื่อทุกคนครบทั้ง 7 ประการ ซึ่งเป็นระดับที่ 1 ได้ ในทางปฏิบัติสามารถใช้การออกแบบระดับที่ 2 คือ เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก (Assistive Technology) และ/หรือ เป็น การให้ความช่วยเหลืออย่างสมเหตุสมผล (Reasonable Accommodation) ซึ่งเป็นระดับที่ 3 ได้ โดยมีรายละเอียดดังนี้

ระดับที่ 1 การออกแบบอย่างสากล (Universal Design)

[แก้]

คือการปรับสภาพแวดล้อมทางกายภาพ อาคารสถานที่ รวมถึงการคมนาคมขนส่ง สารสนเทศและการสื่อสาร และบริการต่างๆ ให้คนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างเท่าเทียมกับคนทั่วไป โดยการออกแบบที่เป็นสากลและเป็นธรรมต่อคนทุกกลุ่ม เช่น การออกแบบและก่อสร้างห้องน้ำให้คนทุกกลุ่ม รวมถึงคนพิการที่ใช้รถเก้าอี้ล้อเลื่อนคนพิการสามารถใช้ได้อย่างเท่าเทียม การออกแบบบริการข้อมูลผ่านเว็บไซต์หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่นใดให้อยู่ในรูปแบบที่ทุกคนรวมถึงคนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ เป็นต้น

ระดับที่ 2 การจัดให้มีเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก (Assistive Technology)

[แก้]

ในบางกรณีการออกแบบอย่างสากล (Universal Design) ก็ไม่สามารถอำนวยความสะดวกให้คนพิการและผู้สูงอายุได้ โดยเฉพาะคนพิการบางประเภท จำเป็นต้องมีเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น เครื่องช่วยฟังสำหรับคนหูหนวก โปรแกรมอ่านจอภาพคอมพิวเตอร์สำหรับคนตาบอด หรือป้ายบอกทางซึ่งใช้ภาษาที่ง่ายต่อความเข้าใจ เป็นต้น การจัดให้มีเทคโนโลยีอำนวยความสะดวกที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งจำเป็นในลำดับถัดมา

วิศวกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพ (Rehabilitation Engineering) และเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก (Assistive Technology) เริ่มในกลางศตวรรษที่ 20 ด้วยความพยายามที่จะปรับปรุงขาเทียมและกายอุปกรณ์ให้มีมากขึ้น พร้อมกับการกลับมาของทหารผ่านศึกพิการจากสงครามโลกครั้งที่สองในปี ค.ศ. 1940 ในช่วงปี ค.ศ. 1950 ศูนย์การวิจัยทางวิศวกรรมได้รับการสนับสนุนจากทหารผ่านศึกและรัฐบาลกลาง และองค์กรถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาทางเทคโนโลยีอื่น ๆ เพื่อการฟื้นฟู รวมทั้งการสื่อสารและการขนส่ง ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพด้านวิศวกรรมขยายตัวในช่วงปี ค.ศ. 1960 และ ปี ค.ศ. 1970 “เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก (Assistive technology)” ถูกนำไปใช้กับอุปกรณ์สำหรับการใช้งานส่วนบุคคลที่สร้างขึ้นโดยเฉพาะ เพื่อเพิ่มความสามารถทางกายภาพ ทางประสาทสัมผัส และความรู้ความเข้าใจของคนพิการ และช่วยให้พวกเขาทำงานได้อย่างอิสระในข้อจำกัดของสภาพแวดล้อม

ระดับที่ 3 การให้ความช่วยเหลืออย่างสมเหตุสมผล (Reasonable Accommodation)

[แก้]

สำหรับบางพื้นที่ที่มีข้อจำกัดมากๆ เป็นอาคารเก่าหรือสภาพแวดล้อมไม่เอื้อในการออกแบบ เช่น สถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ท่าเทียบเรือ ทะเล เกาะ แก่งภูเขา น้ำตกต่างๆ และเพื่อลดความเสียเปรียบทางสังคมของคนพิการแต่ละประเภทและผู้สูงอายุ การจัดให้มีบริการให้ความช่วยเหลือบางอย่าง เช่น การจัดบริการล่ามภาษามือให้แก่คนหูหนวก การให้มีผู้ช่วยคนพิการสำหรับคนพิการที่มีความต้องการพิเศษ (อันที่ไม่อาจตอบสนองได้โดยวิธีการทั่วไป) รวมถึงความช่วยเหลือเพื่อให้สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม เป็นต้น

การนำหลักการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวก 3 ระดับนี้ไปประยุกต์ใช้กับการออกแบบนั้น จะเริ่มต้นจากความพยายามออกแบบเพื่อทุกคน (Universal Design) ก่อน หลังจากการพยายามอย่างเต็มความสามารถแล้ว ยังไม่สามารถออกแบบเพื่อทุกคนได้ครบถ้วน จึงใช้เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก (Assistive Technology) ช่วย และสุดท้ายหากจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลืออย่างสมเหตุสมผล )Reasonable Accommodation) ก็สามารถทำได้ เพียงแต่ต้องบอกคนพิการและผู้สูงอายุก่อนการใช้พื้นที่ การเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวก 3 ระดับนี้ จึงมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน และเป็นลำดับ ขั้นตอนของการนำไปใช้งาน

ภาพแสดงการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวก 3 ระดับ

อ้างอิง

[แก้]
  1. สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. "ศัพท์บัญญัติ ๔๐ สาขาวิชา สำนักงานราชบัณฑิตยสภา (สืบค้นคำว่า universal design)". สืบค้นเมื่อ 4 ตุลาคม 2024.
  2. อภิชัย ไพรสินธุ์; อัษฎา วรรณกายนต์; ลลิลทิพย์ รุ่งเรือง (2020). "การออกแบบที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ และคนพิการด้านการเคลื่อนไหว ตามแนวคิดการออกแบบเพื่อทุกคน". วารสารมหาจุฬานาครทรรศน์. 7 (11): 298–313. สืบค้นเมื่อ 4 ตุลาคม 2024.
  3. จันทร์แจ่มใส มณฑล (2022). "การปรับปรุงที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในชุมชนริมคลองลาดพร้าวตามแนวทางการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล". วารสารวิชาการคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล. 35 (2): 37–53. สืบค้นเมื่อ 4 ตุลาคม 2024.
  4. พรศิริ กองนวล; สุชาดา ธโนภานุวัฒน์; วิไล ตั้งจิตสมคิด (2020). "การพัฒนาอารยสถาปัตย์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ในชุมชนเขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร". วารสารมหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี. 14 (1): 41–56. สืบค้นเมื่อ 4 ตุลาคม 2024.
  5. "Ronald L. Mace on NC State University, College of Design". Design.ncsu.edu. Retrieved 2013-07-26.
  6. The Institute for Human Centered Design (IHCD), Boston, 2015.
  7. Institute for Human Centered Design, 2008.
  8. Connell, et al, 1997; North Carolina State University, 1997.
  9. The EIDD (European Institute for Design and Disability). Stockholm Declaration©, 2004. The EIDD Stockholm Declaration© Adopted on 9 May 2004, at the Annual General Meeting of the European Institute for Design and Disability in Stockholm. “Good design enables, bad design disables”.
  10. ** ในปี 1997 ผู้เข้าร่วมประชุมการออกแบบอย่างสากล ได้แก่: Bettye Rose Connell, Mike Jones, Ron Mace, Jim Mueller, AbirMullick, Elaine Ostroff, Jon Sanford, Ed Steinfeld, Molly Story, Gregg Vanderheiden.  ได้สรุปหลัก 7 ประการ การออกแบบอย่างสากลขึ้น หลัก 7 ประการดังกล่าวเป็นลิขสิทธิ์ของ The Center for Universal Design, School of Design, State University of North Carolina at Raleigh [USA].