การล้อมซีราคิวส์ (214-212 ปีก่อนคริสตกาล)
การล้อมซีราคิวส์ | |||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
ส่วนหนึ่งของ สงครามพิวนิกครั้งที่สอง | |||||||
อาร์คิมิดีสกำกับการป้องกันเมืองซีราคิวส์โดยโธมัส ราล์ฟ สเปนซ์ (1895). | |||||||
| |||||||
คู่สงคราม | |||||||
สาธารณรัฐโรมัน | ราชอาณาจักรซีราคิวส์ | ||||||
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ | |||||||
มาร์คัส เคลาดิอัส มาร์เซลลัส | อาร์คิมิดีส † | ||||||
กำลัง | |||||||
ทหารราบ 18,000 นาย ทหารม้า 2,000 นาย | 21,000 นาย | ||||||
ความสูญเสีย | |||||||
2,000 | 10,000 |
การล้อมซีราคิวส์โดยสาธารณรัฐโรมันเกิดขึ้นระหว่าง 214-212 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งส่งผลทำให้เมืองซีราคิวส์ (ส่วนหนึ่งของมันยากราเซียซึ่งรับเอาอารยธรรมเฮเลนนิสติค) ที่ตั้งอยู่ทางชายฝั่งตะวันออกของซิซิลี ล่มสลายลง โรมันได้บุกโจมตีเมืองอย่างรุนแรงหลังจากการปิดล้อมอันยืดเยื้อขณะที่ซิซิลีทั้งหมดอยู่ภายใต้การควบคุมของโรมันแล้ว ระหว่างการล้อม เมืองได้ถูกป้องกันโดยอาวุธซึ่งพัฒนาโดยอาร์คิมิดีส อาร์คิมิดีส นักประดิษฐ์และผู้รู้รอบด้านผู้ยิ่งใหญ่ ถูกสังหารในช่วงปลายการล้อมโดยทหารโรมันนายหนึ่ง ซึ่งขัดคำสั่งของนายพลโรมัน มาร์เซลลัส ที่ให้ไว้ชีวิตเขา[1]
เบื้องหลัง
[แก้]ซิซิลี ซึ่งถูกแย่งชิงมาจากคาร์ธาจิเนียนระหว่างสงครามพิวนิกครั้งที่หนึ่ง เป็นจังหวัดแรกของสาธารณรัฐโรมัน ราชอาณาจักรซีราคิวส์เป็นดินแดนพันธมิตรอิสระซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะและเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับโรมระหว่างการครองราชย์อันยาวนานของพระเจ้าเฮียโรที่ 2[2] เมื่อ 215 ปีก่อนคริสตกาล พระนัดดา (หลาน) ของพระเจ้าเฮียโร เฮียโรนีมัส ทรงสืบราชบัลลังก์ภายหลังการสวรรคต และซีราคิวส์ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของกลุ่มต่อต้านโรมัน รวมทั้งพระปิตุลา (ลุง) ทั้งสอง ท่ามกลางกลุ่มชนชั้นสูงของซีราคิวส์ ถึงแม้ว่าจะมีการลอบปลงพระชนม์พระเจ้าเฮียโรนีมัสและการปลดผู้นำนิยมคาร์ธาจิเนียนออกไปแล้ว ปฏิกิริยาคุกคามของโรมต่ออันตรายจากการเป็นพันธมิตรระหว่างซีราคิวส์กับคาร์เธจทำให้ผู้นำสาธารณรัฐคนใหม่ของซีราคิวส์เตรียมพร้อมทำสงคราม
แม้ว่าจะมีความพยายามทางการทูต แต่สงครามได้ปะทุขึ้นระหว่างสาธารณรัฐโรมันกับราชอาณาจักรซีราคิวส์เมื่อ 214 ปีก่อนคริสตกาล ขณะที่โรมันกำลังยุ่งอยู่กับการทำสงครามกับคาร์เธจระหว่างสงครามพิวนิกครั้งที่สอง
ต่อมา กองทัพโรมันภายใต้การนำของนายพลมาร์คัส เคลาดิอัส มาร์เซลลัส ได้ล้อมซีราคิวส์ทั้งทางบกและทางทะเล เมืองซีราคิวส์ซึ่งตั้งอยู่ทางชายฝั่งตะวันออกของซิซิลีเป็นที่รู้จักกันว่ามีป้อมปราการที่แข็งแกร่ง มีกำแพงสูงตระหง่านที่คอยป้องกันเมืองจากการโจมตี ซึ่งในหมู่ผู้ที่ป้องกันเมืองนั้นได้แก่ นักคณิตศาสตร์และนักวิทยาศาสตร์นามอาร์คิมิดีสด้วย
การล้อม
[แก้]ซีราคิวส์ถูกป้องกันอย่างบ้าระห่ำเป็นเวลานานหลายเดือนต่อยุทธวิธีทั้งหมดที่ฝ่ายโรมันงัดออกมาใช้ เมื่อตระหนักได้ว่าการล้อมนี้เป็นไปอย่างยากลำบากเพียงใด ฝ่ายโรมันจึงนำอุปกรณ์และนวัตกรรมที่ตนประดิษฐ์ขึ้นออกมาสนับสนุนการโจมตีด้วย ซึ่งรวมไปถึงแซมบูกา หอล้อมลอยน้ำซึ่งมีตะขอเหล็ก เช่นเดียวกับบันไดกำแพงที่ยึดติดกับเรือซึ่งจะถูกลดระดับลงมาด้วยรอกสู่กำแพงเมือง
แม้ว่าจะมีนวัตกรรมใหม่เหล่านี้แล้วก็ตาม อาร์คิมิดีสได้ออกแบบอุปกรณ์ป้องกันเพื่อรับมือกับความพยายามโจมตีของฝ่ายโรมัน รวมทั้งปั้นจั่นขนาดใหญ่ (ดู กรงเล็บอาร์คิมิดีส) ซึ่งใช้ควบคุมตะขอสำหรับยกเรือข้าศึกขึ้นจากทะเลก่อนจะโยนลงไป นอกจากนี้ยังมีตำนานกล่าวอีกว่าเขาได้สร้างกระจกเงาขนาดใหญ่ซึ่งใช้สะท้อนแสงอาทิตย์ที่ร้อนแรงของเมดิเตอร์เรเนียนไปยังใบเรือข้าศึก ซึ่งทำให้ใบเรือเหล่านี้ติดไฟ แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานร่วมสมัยว่าอาวุธดังกล่าวมีอยู่จริงเลยก็ตาม มาตรการเหล่านี้ เช่นเดียวกับการยิงจากบัลลิสตาและเครื่องดีดหินซึ่งตั้งอยู่บนกำแพงเมือง ได้สร้างความท้อแท้ให้แก่ฝ่ายโรมันและบังคับให้พวกเขาพยายามโจมตีโดยตรงซึ่งทำให้เสียทหารไปเป็นจำนวนมาก
การคุมเชิง
[แก้]การล้อมของฝ่ายโรมันประสบปัญหาติดขัดจนกระทั่งกลายเป็นการคุมเชิงกันระหว่างสองฝ่าย โดยฝ่ายโรมันไม่สามารถบุกเข้าไปในเมืองหรือควบคุมการปิดล้อมทางทะเลให้แน่นหนาพอที่จะหยุดไม่ให้เสบียงสามารถส่งถึงฝ่ายตั้งรับได้ ขณะที่ซีราคิวส์เองก็ไม่สามารถบังคับให้ฝ่ายโรมันถอยทัพกลับไปได้เช่นกัน ฝ่ายคาร์ธาจิเนียนตระหนักว่าความสามารถในการป้องกันของซีราคิวส์จะทำให้ศักยภาพสงครามของโรมันชะงักไป แต่ความพยายามที่จะช่วยเหลือซีราคิวส์กลับถูกตีกลับไป ถึงแม้ว่าพวกเขาจะวางแผนจะส่งกำลังไปช่วยอีกรอบหนึ่ง แต่พวกเขาไม่สามารถจัดหากำลังพลและเรือที่จำเป็นขณะที่สงครามกับโรมันในสเปนยังคงดำเนินต่อไป ซีราคิวส์จึงถูกปล่อยให้โดดเดี่ยว
ชัยชนะของฝ่ายโรมัน
[แก้]การที่ซีราคิวส์สามารถผลักดันการล้อมของโรมันได้สำเร็จหลายครั้งทำให้พวกเขาหลงระเริง เมื่อ 212 ปีก่อนคริสตกาล ฝ่ายโรมันได้รับข้อมูลมาว่าชาวเมืองกำลังเข้าร่วมเทศกาลประจำปีซึ่งเป็นการบูชาเทพีอาร์ทีมิส ทหารโรมันกลุ่มเล็กได้ลอบแทรกซึมเข้าสู่เมืองในเวลากลางคืนและสามารถปีนกำแพงเข้าไปในตัวเมืองชั้นนอกได้ หลังจากที่สังหารยามจำนวนน้อยที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่แล้ว ทหารโรมันได้รับการเสริมกำลังเพิ่มเติมและบุกโจมตีชาวซีราคิวส์ที่กำลังผ่อนคลายขณะกำลังงีบหลับและเปิดประตูเมืองให้แก่กองทัพส่วนที่เหลือ
มาร์คัส เคลาดิอัส มาร์เซลลัส ออกคำสั่งว่าอาร์คิมิดีส นักคณิตศาสตร์ที่เป็นที่รู้จักกันดี และอาจเป็นที่รู้จักมากพอ ๆ กับมาร์เซลลัส ในฐานะเป็นผู้ประดิษฐ์เครื่องกลไกที่มีอิทธิพลต่อการล้อมอย่างมาก ไม่ควรจะถูกสังหาร อาร์คิมิดีส ซึ่งขณะนั้นมีอายุได้ 78 ปี ยังคงศึกษาค้นคว้าต่อไปหลังจากฝ่ายโรมันสามารถบุกเข้าเมืองได้แล้ว และขณะที่อยู่ที่บ้าน งานของเขาถูกรบกวนโดยทหารโรมัน อาร์คิมิดีสประท้วงการรบกวนนี้และกล่าวอย่างหยาบคายให้ทหารนายนั้นออกไปเสีย ทหารนายนั้นไม่ทราบว่าเขาเป็นใคร จึงสังหารอาร์คิมิดีส ณ จุดนั้นเอง
ฝ่ายโรมันซึ่งสามารถควบคุมเมืองชั้นนอกได้ทั้งหมดแล้ว แต่ส่วนที่เหลือของชาวเมืองซีราคิวส์ได้ถอยกลับเข้าไปในที่มั่นภายในตัวเมือง และทำการรบต้านทานต่อไป ฝ่ายโรมันซึ่งบีบวงล้อมเข้าไปยังที่มั่นนั้น และประสบความสำเร็จในการตัดเสบียงจากพื้นที่ที่จำกัดนี้ หลังจากการล้อมนานแปดเดือน ซึ่งทำให้ฝ่ายป้องกันประสบความยากลำบากอย่างยิ่งจากความหิว ก็มีผู้ทรยศชาวซีราคิวส์เปิดประตูให้กับฝ่ายโรมัน ฝ่ายโรมันซึ่งโกรธจากการล้อมที่กินระยะเวลานานและเสียกำลังพลไปมาก ได้อาละวาดในที่มั่นแห่งนั้นและสังหารชาวซีราคิวส์ไปเป็นจำนวนมากและจับคนที่เหลือเป็นทาส เมืองนั้นถูกปล้นสะดม
หลังจากการรบ
[แก้]เมืองซีราคิวส์กลับไปอยู่ภายใต้อิทธิพลของโรมอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งตอนนี้ได้รวมเกาะซิซิลีทั้งหมดเข้าเป็นจังหวัดหนึ่งของโรมัน การยึดรองซีราคิวส์ทำให้มั่นใจว่าฝ่ายคาร์ธาจิเนียนจะไม่สามารถสร้างรากฐานที่มั่นคงบนซิซิลีได้ ซึ่งอาจช่วยสนับสนุนฮันนิบาลระหว่างการทัพในอิตาลี และนี่ทำให้ฝ่ายโรมันสามารถมุ่งความสนใจไปยังการทำสงครามในสเปนและอิตาลี เกาะซิซิลีจะกลายมาเป็นจุดรวมพลที่สำคัญสำหรับการทัพครั้งสุดท้ายในแอฟริกาอีกสิบปีให้หลัง และจะได้รับการพิสูน์ว่าเป็นขั้นสำคัญในการรุกรานแอฟริกาและกรีซในอนาคต
ในภายหลัง ซีราคิวส์ได้ถูกสร้างขึ้นใหม่อย่างกว้างขวางและมีการนำประชากรเข้ามาอยู่อาศัยใหม่ โดยจะเป็นเมืองที่สำคัญในจักรวรรดิโรมันจนกระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ 5 โดยเป็นทั้งส่วนสำคัญในการสร้างสรรค์จักรวรรดิทั้งทางการทหารและเศรษฐกิจ
อ้างอิง
[แก้]แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- Livius, Syracuse: History [1] เก็บถาวร 2012-10-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Roman-empire.net, Capture of Syracuse [2] เก็บถาวร 2012-09-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Plutarch's Life of Marcellus เก็บถาวร 2005-02-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน