การกระจายอย่างเป็นธรรม
การกระจายอย่างเป็นธรรม (Distributive Justice) เป็นหลักการพื้นฐานที่สุดที่ใช้กำกับหรือกำหนดโครงสร้างความสัมพันธ์ของคนและสถาบันในสังคม อันเกี่ยวข้องกับการกระจายประโยชน์ และสิ่งที่มีคุณค่าในสังคม การเข้าถึงทรัพยากร รวมถึงโอกาสที่จะได้รับสิทธิบางอย่าง และการกำหนดภาระหน้าที่ให้แก่สมาชิกในสังคม (Kurian, 2011: 446; Rawls, 1971: 4)[1][2] การกระจายอย่างเป็นธรรมมีหลายแนวคิดแตกต่างกันออกไป เช่น หลักการกระจายที่เน้นความเท่าเทียมกันอย่างเด็ดขาด (Strict Egalitarianism) หลักการกระจายแบบประโยชน์นิยม (Utilitarianism–Based Principle) หลักที่มีฐานจากความแตกต่าง (Difference-Based Principle) หลักการกระจายแบบเสรีภาพนิยม ที่ขึ้นอยู่กับความสามารถของคนบุคคล (Libertarian Principle) และหลักการกระจายตามความเหมาะสม (Desert-based Principle) เป็นต้น
อรรถาธิบาย
[แก้]สำหรับที่มาของแนวคิดการกระจายอย่างเป็นธรรม พบว่ามีการถกเถียงในประเด็นนี้ตั้งแต่สมัยโบราณ ถ้านับย้อนไปก็จะเห็นได้ชัดเจนในงานของอริสโตเติลเรื่อง “Politics” และแนวคิดดังกล่าวได้กลายมาเป็นข้อถกเถียงที่สำคัญและเผยแพร่ไปตามที่ต่างๆ อย่างกว้างขวางในช่วงทศวรรษ 1970s เมื่อนักปรัชญาอเมริกัน จอห์น รอลส์ (John Rawls) ได้เขียนงานชิ้นสำคัญเรื่อง “ทฤษฎีความเป็นธรรม” (A Theory of Justice, ค.ศ. 1971) งานชิ้นนี้ได้เสนอหลักการกระจายผลประโยชน์ในสังคมว่า ความไม่เท่าเทียมใดๆ ในสังคมนั้น จะยอมให้เกิดขึ้นได้ก็เพียงเพื่อให้คนที่ด้อยโอกาสที่สุดในสังคมได้รับโอกาสยกระดับฐานะของตัวเองให้เท่าเทียมขึ้น หลักการดังกล่าวของรอลส์นี้เรียกว่า หลักที่มีฐานจากความแตกต่าง (Difference-Based Principle) หลักการดังกล่าวได้กลายมาเป็นหลักการกระจายอย่างเป็นธรรมที่มีอิทธิพลที่สุดแบบหนึ่งในปัจจุบัน
หลังจากงานของรอลส์ ที่ได้นำเสนอแนวคิดความเป็นธรรมออกมาสู่สังคม ก็เกิดการถกเถียงอย่างกว้างขวาง โดยผู้ที่ไม่เห็นด้วยท่านหนึ่งที่ถือได้ว่าโจมตีงานของรอลส์ มากที่สุดก็คือ โรเบิร์ต โนซิค (Robert Nozick) โนซิคได้เขียนงานเพื่อโจมตีรอลส์โดยตรงพร้อมกับเสนอความเป็นธรรมอีกรูปแบบหนึ่งที่เรียกว่า ความเป็นธรรมแบบเสรีนิยม (Liberalism) งานของโนซิคชื่อว่า “State, Anarchy and Utopia” ความเป็นธรรมแบบเสรีนิยมของโนซิค ตั้งอยู่บนฐานคิดในเรื่องกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินส่วนบุคคล (Rights of Private Property) กล่าวคือรัฐควรปล่อยให้ทุกๆคนทำมาหากินตามความสามารถของตน และเมื่อใดก็ตามที่เอกชนหาทรัพย์สินมาได้ด้วยวิธีการตามกฎหมาย รัฐก็ไม่สามารถไปยึดเอาทรัพย์สินของเอกชนมาจัดสรรใหม่ให้กับคนด้อยโอกาสในสังคม โนซิคมีมุมมองว่าการที่รัฐไปยึดเอาทรัพย์สินบุคคลไม่ว่าจะเป็นไปในรูปของการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า หรือด้วยวิธีการอื่นใด เป็นเรื่องที่ไม่ชอบธรรม เพราะบุคคลเป็นคนลงมือลงแรงจนได้ทรัพย์สินมา แต่กระนั้นคนรวยหรือเอกชนอาจจะแบ่งปันผลประโยชน์ให้กับคนด้อยโอกาสในรูปของการสงเคราะห์ด้วยความสมัครใจได้ แต่จะไม่ใช่ด้วยการใช้อำนาจรัฐเข้าไปยึดมาเพื่อกระจายแบ่งสรร (Nozick, 2001)[3]
นอกจากนี้ ยังมีหลักการกระจายอย่างเป็นธรรมในแบบอื่นๆ อีก ยกตัวอย่างเช่น แบบดั้งเดิมที่สุดก็คือ การกระจายผลประโยชน์แบบเท่าเทียมกันอย่างเข้มงวด กล่าวคือทุกคนได้รับผลประโยชน์อย่างเท่าเทียมกันโดยที่จะไม่นำความด้อยโอกาส ความต้องการ หรือความสามารถมาพิจารณาร่วม เช่น แม่อยากแบ่งเค้กให้กับลูกสามคน คนโตตัวผอมกินได้น้อย คนกลางมีกระเพาะใหญ่ต้องกินมากถึงจะอิ่ม ส่วนคนเล็กไม่ชอบกินเค้ก เมื่อถึงเวลาแบ่งเค้กแม่แบ่งโดยให้ทั้งสามคนเท่าๆ กัน วิธีการแบ่งแบบนี้คือการแบ่งโดยยึดหลักการเท่าเทียมกันอย่างเข้มงวด
หลักการกระจายอย่างเป็นธรรมในแบบสุดท้ายที่จะกล่าวถึงในที่นี้ก็คือ การกระจายแบบประโยชน์นิยม ซึ่งหลักประโยชน์นิยมนั้นมีวิธีคิดสำคัญคือ จะก่อให้เกิดประโยชน์ หรือความสุขที่มากที่สุดต่อคนจำนวนมากที่สุด ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามีการกระจายผลประโยชน์แก่คนจนแล้วจะทำให้เกิดความสุขมากที่สุดต่อคนจำนวนมากที่สุด นโยบายดังกล่าวก็ถือว่าเป็นการกระจายตามหลักการนี้ แต่กระนั้นถ้าสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปจนมีเหตุให้ความสุขของคนจำนวนมากลดน้อยลง นโยบายนั้นก็จำเป็นจะต้องเปลี่ยนแปลงไป กล่าวง่ายๆ ก็คือหลักการของพวกประโยชน์นิยมไม่มีวิธีการที่ตายตัวเหมือนอย่างหลักการกระจายอย่างเป็นธรรมแบบอื่น เพราะสิ่งเดียวที่นักคิดแบบประโยชน์นิยมคำนึงก็คือ การทำให้เกิดความสุขมากที่สุดแก่คนจำนวนมากที่สุด[4]
ประเด็นเรื่องการกระจายและจัดสรรผลประโยชน์ ในหลายกรณีสัมพันธ์กับแนวคิดอนุรักษ์นิยม และแนวคิดเสรีนิยม โดยแนวคิดอนุรักษ์นิยมจะมองว่าการแบ่งสรรที่เป็นธรรม คือทุกคนต่างขวนขวายแย่งชิงทรัพยากรและสิ่งที่มีค่าในสังคมบนความสามารถและคุณสมบัติของตัวเอง ไม่ว่าจะแข็งแรงกว่า สูงกว่า รวยกว่า หรือมีคุณสมบัติอื่นๆ ที่เอื้อต่อการต่อสู้แย่งชิง แต่หากมองในมุมของแนวคิดเสรีนิยมแล้ว สังคมควรปรับให้การขวนขวายเข้าถึงทรัพยากรมีความเป็นธรรมโดยเอื้อให้คนที่แข็งแรงน้อยกว่า หรือด้อยโอกาสกว่าสามารถเข้าถึงทรัพยากรได้เท่าๆ กับคนที่แข็งแรงกว่า
ตัวอย่างการนำไปใช้ในประเทศไทย
[แก้]ในประเทศไทยนั้น แนวคิดเกี่ยวกับการกระจายอย่างเป็นธรรมปรากฏในหลักข้อที่สามของหลักหกประการของคณะราษฎรอันได้แก่ “เอกราช ปลอดภัย เศรษฐกิจ เสมอภาค เสรีภาพ การศึกษา" หลักเศรษฐกิจที่คณะราษฎรต้องการจัดการทางเศรษฐกิจโดยไม่ปล่อยให้ประชาชนอดอยาก ถือว่าตั้งอยู่บนหลักการกระจายอย่างเป็นธรรม มากไปกว่านั้น ในสมุดปกเหลือง หรือ เค้าโครงเศรษฐกิจของนายปรีดี พนมยงค์ ก็มีการจัดวางรูปแบบทางเศรษฐกิจที่ผสมผสานหลักการกระจายอย่างเป็นธรรมในหลายๆ แบบ ด้วยเหตุนี้ จึงกล่าวได้ว่าแนวคิดในเรื่องการกระจายประโยชน์ในสังคมได้เริ่มก่อรูปก่อร่างตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ต่อมาในช่วงที่เกิดวิกฤติการณ์เดือนตุลาคม พ.ศ. 2516 สังคมไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่มากขึ้น ความคิดของคนมีลักษณะก้าวหน้าซึ่งนำไปสู่การตั้งคำถามในหลายๆ เรื่องเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันและเรื่องหนึ่งที่ไม่สามารถหลีกหนีพ้นได้นั่นก็คือ การกระจายรายได้หรือทรัพยากรในสังคม ซึ่งประเด็นหลักที่ผู้คนในสมัยนั้นโดยเฉพาะนิสิตนักศึกษาตั้งคำถาม คือทำไมประเทศไทยมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงเมื่อเทียบกับอดีต แต่ยิ่งมีความเจริญมากขึ้นเท่าไรความเหลื่อมล้ำของประชาชนยิ่งทวีมากขึ้นตามไปด้วย ความไม่พอใจในการกระจายที่ไม่เป็นธรรม ได้กลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่นำไปสู่การโค่นล้มเผด็จการทหารและสถาปนาระบอบประชาธิปไตยขึ้นมาในช่วงสั้นๆ (กุลภา วจนสาร, 2554, 32)[5]
ในปัจจุบัน การตั้งคำถามถึงความเป็นธรรมในการกระจายประโยชน์ยิ่งพบเห็นได้มากขึ้น ท่ามกลางการชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมือง ประเด็นหนึ่งที่กลุ่มคนเสื้อแดงพยายามที่จะชูขึ้นก็คือการเรียกร้องให้มีการกระจายรายได้ (ซึ่งรวมถึงสิทธิต่างๆ ของพลเมือง) ให้เท่าเทียมมากขึ้น (นิธิ เอียวศรีวงศ์, 2554)[6] หากพิจารณาจากค่าสัมประสิทธิ์จีนี (Gini coefficient) ซึ่งเป็นดัชนีบ่งชี้ความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้หรือการกระจายความร่ำรวยของคนในสังคมแล้ว จะพบว่าประเทศไทย มีค่าสัมประสิทธิ์จีนี ที่สะท้อนระดับของการกระจายรายได้ต่ำ และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในโลก
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Kurian, George Thomas (2011). The encyclopedia of political science. Washington: CQ Press.
- ↑ Rawls, John (1971). A theory of justice. Cambridge : The Belknap Press of Harvard University Press.
- ↑ Nozick, Robert (2001). Anarchy, state, and utopia. Oxford: Blackwell.
- ↑ Barry, Brian (1989). Theories of Justice. London: Harvester Wheatsheaf.
- ↑ กุลภา วจนสาระ (2554). มองหาความเป็นธรรมในสังคมไทยผ่านคนชายขอบ. เข้าถึงวันที่ 30 กันยายน 2555 ใน http://www2.ipsr.mahidol.ac.th/ConferenceVIII/Download/Article_Files/1-SocialJustice-Kulapa.pdf.
- ↑ นิธิ เอียวศรีวงศ์ (2554). ปฏิรูปสังคมไทยหลังการเลือกตั้ง: บทบาทชนชั้นนำและการเมืองภาคประชาชน. เข้าถึงวันที่ 30 กันยายน 2555 ใน http://www.prachatham.com/detail.htm?code=i1_14072011_01 เก็บถาวร 2012-03-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.